xs
xsm
sm
md
lg

TDRIวิเคราะห์ทางเลือกขึ้นค่าจ้างปี 5

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อีกไม่ถึง 6 เดือน จะครบกำหนดของการใช้ฐานค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ตามที่ รัฐบาลยิ่งลักษณ์โดยกระทรวงแรงงานได้มีประกาศจากคณะกรรมการค่าจ้างเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ(ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 ข้อ 2 ว่า“ให้กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ 300 บาท ไปพื้นที่ 77 จังหวัด โดยมีผลใช้บังคับเมื่อ 1 มกราคม พ.ศ.2556 และในปี 2557 และ 2558 ให้คงไว้ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ หากภาวะเศรษฐกิจของประเทศมีความผันผวนมากและส่งผลรุนแรงต่อค่าครองชีพของลูกจ้าง คณะกรรมการค่าจ้างสามารถพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี2557 และ 2558 ได้ตามความเหมาะสม” การจะพิจารณาปรับขึ้นหรือไม่ขึ้นนั้น มีทางเลือกและข้อพึงพิจารณาในการตัดสินใจอย่างไร ให้เกิดการยอมรับร่วมกันของทั้งฝ่ายลูกจ้าง ผู้ประกอบการ และต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจ โดยระบุว่า ในช่วง 2 ปีเศษที่ผ่านซึ่งประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีค่าจ้าง(ขั้นต่ำ)สูงในชั้นแนวหน้าของประเทศในกลุ่มอาเซียน เป็นรองเพียงสิงคโปร์และบรูไน ดารุซาราม ซึ่งล้วนแต่มีระดับการพัฒนาและรายได้ต่อหัวสูงกว่าประเทศไทยทั้งสิ้น และเป็นการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

แต่ที่ผ่านมาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมิได้พิจารณาอะไรเพิ่มเติมถึงแม้จะมีแรงกระเพื่อมอยู่บ้างทุกครั้งที่ถึงวันแรงงาน แต่ฝ่ายลูกจ้างก็ทราบดีว่า ค่าจ้างที่ได้รับไปนั้นส่งผลต่อต้นทุนและผลกำไรมากน้อยแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่าเป็นสถานประกอบการประเภทใดและขนาดของธุรกิจแตกต่างกันเพียงใด โดยรัฐมีนโยบายค่อนข้างจำกัดในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ แต่ในที่สุดเพื่อให้สถานประกอบการอยู่รอดหรือเดินหน้าต่อไปได้ในธุรกิจ จำเป็นต้องทำให้ธุรกิจของตัวเองสามารถรักษาระดับการแข่งขันเอาไว้ให้ได้ มิฉะนั้นก็จะต้องปิดตัวเองลง ผู้ประกอบการได้ใช้เวลา 2 ปีที่ผ่านมาพยายามปรับปรุงธุรกิจของตัวเองให้อยู่ได้มาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้เศรษฐกิจยังขยายตัวต่อเนื่องและการว่างงานมิได้เป็นปัญหาต่อสังคมไทยมากนัก

ปัจจุบันการเรียกร้องการปรับขึ้นค่าจ้างในปี 2559 ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะการอ้างถึงการเผชิญกับปัญหาค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้นมากจนแรงงานที่เคยได้รับค่าจ้างขั้นต่ำที่ 300 บาทแทบจะไม่สามารถอยู่ได้ ทำให้ทางรัฐบาลกลับมาสนใจว่าในช่วงต้นปี 2559 นั้น จำเป็นต้องมีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่ ถ้าต้องขึ้นจะขึ้นอย่างไรและเป็นจำนวนเงินเท่าไรจึงจะเหมาะสมกับสถานการณ์

จากผลการประชุมของคณะกรรมการค่าจ้างแห่งชาติเมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้เสนอแนะแนวทางในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำไว้ 5 แนวทาง คือ 1)ให้กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำแบบเดิมกล่าวคืออนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด เสนอการปรับค่าจ้างต่อคณะกรรมการค่าจ้างแห่งชาติ พิจารณาเพื่อประกาศขึ้นค่าจ้างไปตามปกติเหมือนก่อนการขึ้นค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศเมื่อกลางปี 2556 และตอนต้นปี 2557 2)ให้กำหนดค่าจ้างแบบลอยตัว 3)ให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามการพัฒนาเศรษฐกิจ 4) การปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามกลุ่มอุตสาหกรรม 5.การปรับค่าจ้างขั้นต่ำโดยวิธีผสมผสานหลายรูปแบบ(ดูรายละเอียดการวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสียของทั้ง 5 ทางเลือกได้ที่ http://tdri.or.th/tdri-insight/minimum-wage/)

ผอ.วิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า อาจจะเป็นความพลั้งเผลอของคณะกรรมการค่าจ้างแห่งชาติซึ่งปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมานานจนเหลือเวลาอีกเพียง 3-4 เดือนก่อนเดือนตุลาคม 2558 ซึ่งปกติควรจะเริ่มดำเนินการพิจารณาหารูปแบบของการจ่ายค่าจ้างเอาไว้แต่แรกแล้วโดยใช้หลักวิชาการเข้ามาช่วย แต่กระนั้นเมื่อ พ.ร.บ.ค่าจ้างขั้นต่ำก็ยังไม่ได้ถูกยกเลิกไปพร้อมกับการมี ค.ส.ช. (เมื่อพฤษภาคม 2557)
ดังนั้น การพิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจึงยังต้องเป็นไปตามมาตรา 87 ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นปัจจัยที่จำเป็นต้องนำมาพิจารณาคือ 1.การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ 2.การขยายตัวของภาคการส่งออกของประเทศ 3.การขยายตัวของการค้าการลงทุนในประเทศ 4.ดัชนีผลิตภาพแรงงาน 5.ต้นทุนและองค์ประกอบของค่าจ้างในต้นทุน 6.ดัชนีค่าครองชีพ (CPI) 7.อัตราเงินเฟ้อ และ8.ดัชนีราคาสินค้าอุปโภค บริโภค เป็นต้น

การพิจารณา 4 แนวทางแรก ไม่มีทางเลือกใดที่มีความสมบูรณ์และสามารถที่จะเลือกมาอย่างหนึ่งหรือผสมผสานหลายๆทางเลือกเป็นตัวแทนได้ทั้งประเทศ ที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุดคือทางเลือกที่ 1 การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำแบบเดิม ซึ่งสามารถดำเนินการได้โดยปรับแก้เพิ่มเติมการบริหารจัดการบางประการ โดยความเป็นไปได้เนื่องจาก 1) เป็นรูปแบบที่คุ้นเคย และสอดคล้องกับการบริหารจัดการแรงงานในรูปของไตรภาคีซึ่งคณะกรรมการเกี่ยวกับแรงงานของไทยส่วนมากบริหารในรูปแบบนี้ ไม่เพียงแต่คณะกรรมการค่าจ้างเท่านั้น

2) ผลงานในอดีตก่อนที่จะมีการปรับใช้ค่าจ้างขั้นต่ำที่ 300 บาทในทุกจังหวัด ถึงแม้ว่าจะเป็นการปรับเพื่อชดเชย“ความไม่มีประสิทธิภาพ”ของคณะกรรมการค่าจ้างในอดีตที่ไม่สามารถขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้ทันกับผลิตภาพและค่าครองชีพของแรงงานเกือบ 20% แต่การขึ้นค่าจ้าง 300 บาทได้ชดเชยในส่วนของค่าจ้างขั้นต่ำที่ต่ำเกินไปในอดีตไปแล้ว และยังมีส่วนที่เพิ่มรายได้ให้กับแรงงานที่เพียงพอที่จะทำให้แรงงานทุกคนหลุดพ้นจาก”เส้นยากจน”ทั่วประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานที่ดีเพียงพอในการหาวิธีการกำหนดค่าจ้างที่เหมาะสมในปี 2559 ต่อไปได้

และ 3) การกำหนดค่าจ้างในปี 2559 น่าจะสามารถนำเอารูปแบบอื่นๆ ที่ปกติส่วนใหญ่ก็เป็นหลักเกณฑ์ของการพิจารณาประกอบการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้วเป็นข้อดีมาประกอบด้วย เช่น ฐานะทางเศรษฐกิจ และระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน ประเภทและขนาดของสถานประกอบการ ความจำเป็นในการใช้แรงงานที่มีมาตรฐานสมรรถนะมากน้อยแตกต่างกัน เป็นต้น

ดังนั้น รูปแบบผสมผสานที่เหมาะสมเพื่อนำมาพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำปี 2559 คือ หนึ่ง - ยังใช้รูปแบบของอนุกรรมการไตรภาคีอยู่เหมือนเดิม แต่เนื่องจากกิจกรรมของการผลิตและบริการมีความเข้มข้นไม่เท่ากัน อีกทั้งตัวแทนของฝ่ายลูกจ้างอาจไม่ได้เป็นตัวแทนที่แท้จริง และอาจจะมีอำนาจต่อรองสู้นายจ้างไม่ได้ การผนวกจังหวัดที่ลักษณะการผลิตคล้ายกันเข้ามาด้วยกัน ทำให้สามารถเลือกตัวแทนของนายจ้างและลูกจ้างที่แท้จริงได้มากขึ้น

แต่ถ้ามีปัญหาในการบริหารจัดการคัดเลือกตัวแทนก็ใช้รูปแบบของการเอาตัวแทน 3 ฝ่ายจากคณะกรรมการค่าจ้างที่แต่งตั้งไปแล้ว มารวมกันพิจารณาเป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น เช่น 5 จังหวัดในภาคอีสาน ก็จะมีตัวแทนนายจ้าง 25 คน ตัวแทนลูกจ้าง 25 คน และฝ่ายรัฐบาล 25 คน รวมเป็น 75 คน โดยฝ่ายรัฐบาลทำหน้าที่ในการจัดหาข้อมูลตามตัวแปรที่ใช้ในการพิจารณาให้ครบถ้วนเป็นกลางให้ฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างได้พิจารณาและนำส่งผลต่อคณะกรรมการค่าจ้างกลาง

สอง - ยังใช้รูปแบบของอนุกรรมการโดยภาคีในระดับพื้นที่เสนอค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมไปให้คณะกรรมการค่าจ้างแต่แตกต่างกันตรงที่เพิ่มขึ้นตอนให้ส่งผลการพิจารณาไปที่คณะกรรมการค่าจ้าง”ภาค” (ซึ่งจะต้องแต่งตั้งขึ้นมาใหม่) ระดับภาคเพื่อที่จะได้ผู้แทนที่มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นเพื่อมาเป็นตัวแทน 2 ฝ่าย(นายจ้างกับลูกจ้าง) ขณะเดียวกันก็สามารถสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ(ราชการ) ทั้ง 5 คนที่มีตัวเลือกมากขึ้น เมื่อคณะกรรมการค่าจ้างจังหวัดมีผลการพิจารณามาที่คณะกรรมการค่าจ้างภาคแล้ว ผ่านผลไปยังคณะกรรมการค่าจ้างระดับประเทศก็อาจจะช่วยให้ตัดสินใจในการปรับค่าจ้างจากส่วนกลางมีประสิทธิภาพมากขึ้นเนื่องจากได้มีการกลั่นกรองมาถึง 2 ชั้น

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของการพิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อมูลความจำเป็นของฝ่ายลูกจ้างในเรื่องของภาระค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันก็อยู่ที่นายจ้างว่ามีขีดความสามารถในการแบกรับต้นทุนได้มากน้อยเพียงใด ถ้านายจ้างมีความสามารถในการแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้พร้อมๆ กับการที่แรงงาน (ที่ทำงานใหม่ไร้ฝีมือ) ได้ค่าจ้างที่คุ้มกับค่าครองชีพ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมไม่มาก

รายได้ 300 บาทอาจจะเลี้ยงครอบครัว 3 คน ให้สูงกว่าเส้นยากจนไม่ได้

ในช่วงนี้มีคนสนใจว่าประเทศไทยควรจะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในตอนต้นปี 2559 หรือไม่ แต่เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลที่จะประเมินค่าจ้างที่คนๆ เดียวหามาได้ 300 บาท เลี้ยงคนในครอบครัวให้พออยู่ได้ (วัดด้วยเส้นยากจน) มากน้อยเพียงใด ผลการศึกษาของทีมวิจัยของ รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พบว่า ในปัจจุบันถ้าครอบครัวมีสมาชิกอยู่ร่วมกันไม่เกิน 2 คน ไม่ว่าจะอยู่ในเขตเทศบาลหรืออยู่นอกเขตเทศบาลหรืออยู่ในจังหวัดใดในแต่ละภูมิภาคของประเทศก็ตาม สามารถอยู่ได้โดยไม่ยากจนแน่นอน

แต่ถ้าเรานำเอาคำจำกัดความของค่าจ้างขั้นต่ำในอดีตของ ILO มาใช้ กล่าวคือ รายได้ของคนงาน 1 คน จะต้องสามารถเลี้ยงสมาชิกครอบครัวได้อีก 2 คน ก็จะพบว่ารายได้ 300 บาท (ที่ไม่ได้ทำ OT ) เลี้ยงคนในครอบครัวโดยเฉลี่ยไม่เพียงพอ จากการวิเคราะห์เส้นยากจนใน 77 จังหวัด พบว่าครอบครัวที่มีคนอยู่ด้วยกัน 3 คนมากถึง 61 จังหวัด (ร้อยละ79) ในเขตเทศบาลที่รายได้ต่อวัน 300 บาท ติดลบต่ำกว่าเส้นยากจนมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัด

อย่างไรก็ตาม ถ้าครัวเรือนเหล่านั้นอาศัยอยู่นอกเขตเทศบาล พบว่า สามารถเลี้ยงดูครอบครัว (อยู่ด้วยกัน 3 คน) ได้ดีกว่าผู้ที่อาศัยในเมือง กล่าวคือ ยังมีครอบครัวใน 38 จังหวัด (ร้อยละ 49) ที่รายได้ 300 บาทต่ำกว่าเส้นยากจน ซึ่งแน่นอนครอบครัวเหล่านี้ถ้ามีเพียง 1 คน ที่หารายได้เลี้ยงภรรยาและบุตร 1 คน ที่ยังไม่มีรายได้ ต้องเผชิญปัญหาค่าใช้จ่ายชักหน้าไม่ถึงหลังแน่นอน

ในสภาพเป็นจริง ถ้ามีเพียง 1 คน ที่หารายได้ก็ต้องทำงานเพิ่มเติม เช่น ทำงานล่วงเวลา หรือหารายได้เสริมในวันหยุด หรืออาจจะให้ภรรยาหรือสามีคนใดคนหนึ่งช่วยทำงานหารายได้เสริมให้กับครอบครัว และที่จริงก็คงมีครอบครัวไม่มากนักที่แต่งงานมีบุตรแล้วและจะยังเป็นลูกจ้าง “แรกเข้า” ทำงานและให้สามีหรือภรรยาทำงานแต่ฝ่ายเดียว

ปัญหาที่น่าห่วงมากก็คงเป็นเรื่องของคนงานที่เป็นลูกจ้างชั่วคราว หรือลูกจ้างรายวันที่ทำงานในสถานประกอบการขนาดจิ๋วและขนาดย่อม ซึ่งไม่มีโครงสร้างเงินเดือน ผู้ประกอบการก็จะอาศัยอ้างอิงค่าจ้างขั้นต่ำเป็นพื้นฐานในการจ่ายค่าจ้าง และที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติคือ ลูกจ้างในภาคเกษตรมีค่าจ้างต่ำมากไม่ถึง 250 บาทต่อวัน และถ้าต้องเลี้ยงดูคนอีก 2 คนในครอบครัวก็จะตกอยู่ในฐานะ“ครอบครัวยากจน”แน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น