ศาสตราจารย์ ดร นายแพทย์ อภิวัฒน์ มุทิรางกูร
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติด้านการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทย
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติด้านการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทย
หลังจากทีดีอาร์ไอได้ประกาศให้สังคมรู้ว่า ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทองตายเป็นจำนวนมากกว่าและตายเร็วกว่าสิทธิข้าราชการ “ทีดีอาร์ไอแจงสิทธิสุขภาพเหลื่อมล้ำสูง ข้าราชการอายุยืนเพราะมีหลายปัจจัยเหนือบัตรทอง” tdri.or.th/tdri-insight/20150617/ ผู้เขียนร่วมกับ อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ได้ออกมาเตือนให้ผู้เกี่ยวข้องรีบหาสาเหตุโดยด่วน เพราะสังคมไทยควรจะช่วยกันทำทุกวิถีทางเพื่อหยุดยั้งการตายนี้ ที่สำคัญถ้าปัญหานี้ได้รับการแก้ไขจะส่งผลดีต่อสุขภาพและรักษาชีวิตของผู้ใช้สิทธิบัตรทองถึง 48 ล้านคน ปัญหานี้จึงเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่ง “ผู้ถือบัตรทอง ตายด้วยโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดในสมอง โรคมะเร็งมากกว่าปกติถึง ร้อยละ 70 เพราะเหตุใด? ผู้เกี่ยวข้องโปรดเร่งหาคำตอบ!” manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000066299
อย่างไรก็ดีเนื่องจากไม่มีวี่แววว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสามารถมีวิธีการหาสาเหตุการตายและวิเคราะห์สถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ผู้เขียนจึงได้สืบสวนด้วยการสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในกลุ่มโรคที่ตายมากหลายท่าน และ เภสัชกรอาวุโส ทุกท่านให้ความเห็นตรงกันว่า การรักษาโรคตามสิทธิน่าจะเป็นสาเหตุที่ต้องพิจารณา เพราะแนวทางการบริหารของ สปสช. ทำให้มาตรฐานการรักษาโรคไม่เหมือนกัน กล่าวคือ สปสช. ได้จำกัดสิทธิได้ยาและเวชภัณฑ์ของคนไข้ จำกัดเสรีภาพในการตัดสินใจจ่ายยาและเวชภัณฑ์ของแพทย์ และยาและเวชภัณฑ์ที่ผู้ป่วยใช้สิทธิบัตรทองก็มาจากการซื้อแบบเหมาโหลจากแหล่งเดียวซึ่งเป็นคนละแหล่งจากยาที่ใช้ในผู้ป่วยรายอื่น นอกจากนี้การกำหนดแนวทางการรักษาขึ้นมาเองของ สปสช.ก็ไม่ได้ทำการวิจัย ทดลองทดสอบเพื่อดูประสิทธิภาพและข้อเสียที่จะเกิดจากการรักษาด้วยแนวทางนั้นๆเลย ผู้เขียนเข้าใจหลักการทางสถิติและกลไกการตายจากโรคต่างๆดีว่ามีปัจจัยอื่นๆมีส่วนในการตายที่สูงผิดปกติของผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทองได้ อย่างไรก็ดี ผู้เขียน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเภสัชกรอาวุโส มีความเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่าถึงแม้ปัจจัยอื่นๆจะมีผลต่ออัตราการตาย การที่คนไข้ถูกจำกัดสิทธิได้ยาและเวชภัณฑ์ การที่แพทย์ถูกลดทอนศิลปในการรักษาโรคโดยจำกัดเสรีภาพในการให้ยาและเวชภัณฑ์ และ การซื้อยาและเวชภัณฑ์แบบเหมาโหลเป็นเหตุให้การรักษาไม่ได้ผลและส่งผลถึงแก่ชีวิตได้แน่นอน รูป 1-3
ดูรายละเอียดใน “การดูแลผู้ป่วยแบบเหมาโหลถูกกว่าของ สปสช. เป็นเหตุของปัญหาที่ต้องรีบแก้ไข ก่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะเสียหายและผู้คนจะเดือดร้อนไปมากกว่านี้” www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000063808
ปัญหาสำคัญคือผู้เขียนมีความยากลำบากในการสื่อให้ สปสช. รับทราบและเข้าใจถึงปัญหานี้ บทความที่กล่าวถึงเหตุของปัญหานี้ผู้เขียนได้เสนอแล้วหลายครั้ง แต่ สปสช. กลับตอบว่าอัตราการตายของผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจขาดเลือดดีขึ้นตามลำดับ ได้แก่ “สปสช.ยัน “สายสวนหัวใจ” แบบเหมาโหลมีคุณภาพ”
manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000070518
และ “IHPP ชี้การรักษาไม่ทำผู้ป่วยบัตรทองตายมากกว่า ขรก.เผยอยู่ที่ครัวเรือน-การดูแล” manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000069943
จนต้องมีอาจารย์แพทย์ ครรชิต ช่อหิรัญกุล อายุรแพทย์โรคหัวใจออกมาอธิบายว่า อัตราการตายของผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจขาดเลือดดีขึ้นเป็นเพราะ สปสช. ทำดีในแง่ที่ให้ผู้ป่วยเข้าถึงได้เร็วโดยยอมให้ผู้ป่วยได้รับการฉีดสีตรวจหลอดเลือดหัวใจใน โรงพยาบาลเอกชน อย่างไรก็ดี ปัญหาการจำกัดสิทธิได้ยาและเวชภัณฑ์ของคนไข้ และ การซื้อยาและเวชภัณฑ์แบบเหมาโหลยังคงอยู่และส่งผลเสียต่อการรักษาแน่นอน www.hfocus.org/content/2015/06/10235
ปัญหาสำคัญคือผู้เขียนมีความยากลำบากในการสื่อให้ สปสช. รับทราบและเข้าใจว่าการแก้ไขปัญหาที่ดีมีประสิทธิภาพต้องแก้ที่เหตุของปัญหา ต้องยอมรับว่าเมื่อมีแพทย์เตือนในเรื่องเฉพาะ สปสช. ก็แก้ปัญหานั้นๆ อย่างลับๆ เช่น กรณี stent หรือขดลวดถ่างหลอดเลือดหัวใจ แพทย์อายุรกรรมหัวใจได้เล่าว่า ในระยะแรก สปสช. ได้จัดซื้อแบบเหมาโหลstent ที่มีคุณภาพต่ำ ทำให้มักจะไม่สามารถใช้รักษาผู้ป่วยได้ต่อมาเมื่อแพทย์ได้ตำหนิ สปสช. สปสช.จึงได้จัดซื้อ stent จาก 2 บริษัท และ stent ในช่วงหลังอยู่ในคุณภาพพอใช้ แต่ก็ไม่ได้มีคุณภาพดีนัก เป็นที่น่าสังเกตว่า สปสช. ได้ให้ข่าวเรื่อง stent โดยไม่กล่าวอ้างถึงการถูกตำหนิเรื่อง stent คุณภาพต่ำที่ สปสช. จัดซื้อโดยกลุ่มแพทย์อายุรกรรมหัวใจเลย นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าประหลาดใจว่าทำไม สปสช.ถึงได้ยึดมั่นกับการตรวจสอบคุณภาพของ อย. ในเรื่อง stent ทั้งๆที่ แพทย์อายุรกรรมหัวใจทั่วประเทศซึ่งเป็นผู้ใช้ได้กล่าวตำหนิในด้านคุณภาพมาโดยตลอด รูปที่ 4 www.isranews.org/component/content/article/10704--3-.html
สปสช. จำกัดสิทธิการได้รับการรักษาหลายวิธี เช่น การตั้งเพดานรายจ่ายต่อโรค การสร้างบัญชียาหลัก และ การกำหนดสูตรยา ชนิดและแหล่งที่มาของยาและเวชภัณฑ์ที่ใช้ การซื้อยาและเวชภัณฑ์แบบเหมาโหลก็เป็นอีกกลไกหนึ่งในการจำกัดการเลือกใช้ยี่ห้อของยาและเวชภัณฑ์ของแพทย์ ผู้เขียนทราบว่า สปสช. จำกัดสิทธิและเสรีภาพการรักษาเพราะต้องการควบคุมไม่ให้แพทย์หาประโยชน์จากบริษัทยาโดยใช้ยาราคาแพง ที่เรียกว่า “ยิงยา” อย่างไรก็ดีผู้เขียนเห็นว่าเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่นอกจากจะขี่ช้างจับตั๊กแตนแล้วยังเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุดอีกด้วย มีผู้บอกผู้เขียนว่าก่อนหน้านี้มีแพทย์ที่ยิงยาเพียงแค่ ร้อยละ 2 วิธีแก้ปัญหาที่ตรงไปตรงมาที่สุดคือพัฒนาระบบ ไอทีเก็บข้อมูลการใช้ยาและลงโทษแพทย์ส่วนน้อยที่ “ยิงยา” เหล่านี้ การแก้ไขด้วยวิธีนี้จะไม่กระทบสิทธิการรักษาและเสรีภาพในการใช้ศิลปในการรักษาโรคของแพทย์อีกด้วย อีกเหตุผลหนึ่งของ สปสช. ที่จำกัดสิทธิการรักษาคือเพื่อประหยัดงบประมาณ ในกรณีนี้อยากจะบอกว่า มีวิธีอื่นๆ อีกมากมายที่จะทำให้การรักษาโรคได้ผลดีมีประสิทธิภาพ และไม่สิ้นเปลืองงบประมาณ ผู้เขียนและ อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ได้ยกตัวอย่างวิธีแก้ไขปัญหาในบทความหลายๆ บทความก่อนหน้านี้ เช่น แก้ปัญหาโครงการประชานิยม 30 บาทก่อนประเทศจะล่ม ด้วยแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำโรงพยาบาลให้เป็นของชุมชน ปฏิรูปสังคมไทยให้เข้มแข็ง www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000048860 สนับสนุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ คัดค้านหลักประกันสุขภาพแบบประชานิยมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000050911 โค้งแห่งคุณค่าเพื่อการพัฒนาโรงพยาบาลของรัฐ : แก้ไขปัญหาโรงพยาบาลเอกชนราคาแพงและแก้ปัญหาโรงพยาบาลของรัฐขาดทุน www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000069892
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุรเดช หงส์อิง ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งในเด็กให้ความเห็นว่า การแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องที่เห็นว่าเป็นปัญหาแต่ไม่แก้ที่เหตุของปัญหาเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่ไม่ดีและอาจไม่ได้แก้ปัญหาใดๆเลย เช่น ในการรักษาโรคมะเร็ง สปสช. ได้กำหนดสูตรยามะเร็งขึ้นมาโดยเป็นสูตรราคาถูก เมื่อแพทย์ผู้รักษาตำหนิ สปสช. ก็ปรับสูตรยามะเร็งให้ดีขึ้น แต่ไม่ได้อนุญาติให้แพทย์ใช้ยาอื่นๆ โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ ผลก็คือผู้ป่วยยังสูญเสียชีวิตจากการติดเชื้อซึ่งเป็นโรคแทรกซ้อนจากการรักษามะเร็งอยู่ดี ที่สำคัญแพทย์ไม่สามารถตรวจจับผลร้ายที่เกิดจากการรักษาแบบจำกัดสิทธิและลดทอนศิลปะในการรักษาของแพทย์ได้ทุกๆ กรณี และถ้า สปสช. ไม่ยินยอมแก้ไขที่เหตุของปัญหาซึ่งก็คือการบริหารจัดการๆแพทย์ของ สปสช. ที่เน้นการประหยัดงบประมาณมากกว่าผลการรักษา ความพิการและความตายที่ไม่จำเป็นนี้ก็จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ รูปที่ 5
การที่สังคมจะเข้าใจถีงปัญหาและต้นเหตุของปัญหาเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ในปัจจุบันเพราะการขาดความรู้ของสังคมไทย ลักษณะการจำกัดสิทธิการรักษาของ สปสช. ได้ลุกลามไปที่สิทธิอื่นอย่างรู้เท่าไม่ถึง ผู้เขียนจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า นอกจาก สปสช. จะแก้ไขปัญหาจำกัดกัดสิทธิและเสรีภาพการรักษาโรคนี้แล้ว บทความนี้ยังจะช่วยป้องกันไม่ให้ความผิดพลาดในลักษณะนี้ลามไปสู่สิทธิอื่นๆ อีกด้วย