xs
xsm
sm
md
lg

ทีดีอาร์ไอแนะใช้วิธีผสมผสานขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 59

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ทีดีอาร์ไอเสนอใช้แนวทางผสมผสานขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 59 เหตุยังคงรูปแบบอนุกรรมการไตรภาคี และพื้นที่เสนอค่าจ้างให้บอร์ดค่าจ้าง แต่เพิ่มในส่วนระดับภาคช่วยคัดกรอง ย้ำเพิ่มค่าจ้างสำเร็จอยู่ที่ข้อมูลภาระค่าใช้จ่ายลูกจ้าง และความสามารถในการแบกรับต้นทุนนายจ้าง

นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวถึงกรณีการคงค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ตั้งแต่ปี 2556 - 2558 ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง ว่า ที่ผ่านมา ยังมีการเรียกร้องปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2559 โดยอ้างปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นมากจนแรงงานไม่สามารถอยู่ได้ด้วยค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ทำให้รัฐบาลกลับมาสนใจว่าช่วงต้นปี 2559 จำเป็นต้องมีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่ ถ้าต้องขึ้นจะขึ้นอย่างไร และขึ้นเท่าไรจึงเหมาะสม ซึ่งการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างแห่งชาติ (บอร์ดค่าจ้าง) เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา ได้เสนอแนวทางการปรับค่าจ้างขั้นต่ำไว้ 5 แนวทาง คือ 1. ให้กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำแบบเดิม คือ อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด เสนอการปรับค่าจ้างต่อบอร์ดค่าจ้าง พิจารณาเพื่อประกาศขึ้นค่าจ้างไปตามปกติ 2. ให้กำหนดค่าจ้างแบบลอยตัว 3. ให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามการพัฒนาเศรษฐกิจ 4. การปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามกลุ่มอุตสาหกรรม และ 5. การปรับค่าจ้างขั้นต่ำโดยวิธีผสมผสานหลายรูปแบบ

การปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมานานจนเหลือเวลาเพียง 3 - 4 เดือนก่อน ต.ค. 2558 โดยยังไม่ชัดเจนว่าจะใช้แนวทางไหนอาจจะเป็นความพลั้งเผลอของบอร์ดค่าจ้าง ซึ่งปกติควรจะเริ่มดำเนินการพิจารณาหารูปแบบของการจ่ายค่าจ้างเอาไว้แต่แรกแล้ว โดยใช้หลักวิชาการเข้ามาช่วย อย่างไรก็ตาม ในเมื่อ พ.ร.บ.ค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ถูกยกเลิกไปพร้อมกับการมี คสช. การพิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจึงยังต้องเป็นไปตามมาตรา 87 ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นปัจจัยที่จำเป็นต้องนำมาพิจารณาคือ 1. การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ 2. การขยายตัวของภาคการส่งออกของประเทศ 3. การขยายตัวของการค้าการลงทุนในประเทศ 4. ดัชนีผลิตภาพแรงงาน 5. ต้นทุนและองค์ประกอบของค่าจ้างในต้นทุน 6. ดัชนีค่าครองชีพ (CPI) 7. อัตราเงินเฟ้อ 8. ดัชนีราคาสินค้าอุปโภค บริโภค เป็นต้น” นายยงยุทธ กล่าว

นายยงยุทธ กล่าวว่า หากพิจารณาทั้ง 5 แนวทาง มองว่า รูปแบบที่ 5 คือ ผสมผสานนั้นมีความเหมาะสม เพราะ 1. ยังใช้รูปแบบของอนุกรรมการไตรภาคี โดยสามารถผนวกจังหวัดที่ลักษณะการผลิตที่คล้ายกันเข้ามาด้วยกัน ทำให้สามารถเลือกตัวแทนของนายจ้างและลูกจ้างที่แท้จริงได้มากขึ้น หรือหากมีปัญหาก็พิจารณาเป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น เช่น 5 จังหวัดในภาคอีสาน และ 2. ยังใช้รูปแบบของอนุกรรมการโดยภาคีในระดับพื้นที่เสนอค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมไปให้บอร์ดค่าจ้าง แต่เพิ่มการพิจารณาในระดับบอร์ดค่าจ้างภาค ซึ่งจะต้องแต่งตั้งขึ้นมาใหม่ ก็จะช่วยให้ตัดสินใจในการปรับค่าจ้างจากส่วนกลางมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของการพิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นอยู่กับข้อมูลความจำเป็นของฝ่ายลูกจ้างในเรื่องภาระค่าใช้จ่าย และนายจ้างว่ามีขีดความสามารถในการแบกรับต้นทุนได้มากน้อยเพียงใด ถ้าแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้พร้อมกับการที่แรงงานได้ค่าจ้างที่คุ้มค่าครองชีพ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมไม่มาก

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น