xs
xsm
sm
md
lg

มองการเมืองไทย คิดถึง วอร์เร็น เบนนิส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาสตราจารย์วอร์เร็น เบนนิส (Warren Bennis)
โดย - ดร.สมบัติ กุสุมาวลี คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นิด้า

ใครก็ตามที่ทำงานอยู่ในแวดวงวิชาการด้านภาวะผู้นำ การพัฒนาภาวะผู้นำ ถ้าเอ่ยชื่อ ศาสตราจารย์วอร์เร็น เบนนิส (Warren Bennis) แล้ว คนผู้นั้นทำท่าเหวอ อ้าปากหวอ ส่ายหัวบอกไม่รู้จัก ถือได้ว่า “เชยสนิทศิษย์ส่ายหน้า” ถึงขั้น “สอบไม่ผ่าน” ควรไปเรียนหนังสือใหม่ เนื่องเพราะท่านวอร์เร็น เบนนิสผู้นี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งใน “ผู้บุกเบิก” (A pioneer) พัฒนาวิชาการด้าน “การศึกษาภาวะผู้นำ” (Leadership studies)

แม้ผู้เขียนจะไม่รู้จักอะไรเป็นการส่วนตัวกับศาสตราจารย์วอร์เร็นท่านนี้ แต่ก็ปวารณาตัวเป็น “ลูกศิษย์ทางตัวหนังสือ” ติดตามงานเขียนของท่านผู้นี้มาโดยตลอด จนกระทั่งล่าสุดได้รับ “ข่าวสาร” จากบทบรรณาธิการ (From the Editor) ของ Harvard Business Review (HBR) ฉบับเดือนตุลาคม 2014 จั่วหัวว่า

“Remembering Warren Bennis”

เป็นการส่งสัญญาณให้ทราบว่าท่านศาสตราจารย์ผู้นี้ได้ลาจากโลกนี้ไปแล้ว

วอร์เร็น เบนนิสกำเนิดเมื่อปี คศ.1925 (พศ. 2468) ในครอบครัวชนชั้นแรงงานเชื้อสายยิวในย่านเวสต์วู๊ด มลรัฐนิวเจอร์ซี่ เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก Antioch College ในปี คศ.1951 ณ ที่นั่น เขาได้พบกับผู้อำนวยการวิทยาลัยที่ชื่อ ดักลาส แม๊กเกรเกอร์ (Douglas McGregor) ผู้บุกเบิกวางรากฐานปรัชญาการบริหารจัดการแบบประชาธิปไตยมนุษย์นิยมสมัยใหม่ ซึ่งนักศึกษาไทยที่เรียนด้านการบริหารจัดการมักจะรู้จักท่านผู้นี้ในนามผู้คิดค้นทฤษฎี x ทฤษฎี Y

ต่อมาภายหลังจากที่ เบนนิสได้รับปริญญาเอกด้านสังคมศาสตร์และเศรษฐศาสตร์จากสำนัก MIT ในปี คศ.1955 แล้ว ต่อมาในภายหลัง เขาจึงได้มีโอกาสกลับมาทำงานร่วมกับพระอาจารย์ดักลาส แม๊คเกรเกอร์ ในตำแหน่งศาสตราจารย์ที่สำนักตักศิลา MIT Sloan School of Management และได้สร้างผลงานที่เกี่ยวข้องกับภาวะผู้นำและการบริหารจัดการองค์การไว้มากมาย

บทบรรณาธิการของ HBR ตั้งคำถามถึงการจากไปของท่านเบนนิสไว้น่าสนใจว่า “เราจะวัดผลกระทบของมนุษย์ผู้หนึ่งด้วยวิธีการอย่างไร?” (How do you measure the impact of a man?)

ท่านผู้อ่านเคยตั้งคำถามกับตัวเองไหมว่า “เกิดมาทำไม?” บางคนตั้งแต่เกิดมาจนถึงตาย สร้างสรรค์สิ่งดีงามทิ้งไว้เป็นอนุสรณ์แก่คนรุ่นหลังไว้อย่างมากมาย บางคนเกิดมาจนถึงตาย สร้างแต่ความเลวร้ายเหลือทิ้งไว้แต่ซากปรักหักพังแห่งความเลวระยำที่ตนก่อไว้ให้กับคนรุ่นต่อไป หรือบางคนเกิดมาแล้วตายไปอย่างว่างเปล่าโดยไม่มีอะไรที่มีคุณค่าพอที่จะจดจำ ท่านอยากเป็นมนุษย์แบบไหน? ท่านอยากให้ผู้อื่นวัดและจดจำท่านแบบไหน?

เบนนิส เป็นมนุษย์ผู้หนึ่งที่ได้สร้างผลกระทบที่ดีงามเหลือทิ้งไว้ให้เราได้จดจำ เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นนักคิดที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดท่านหนึ่งในด้านการพัฒนาภาวะผู้นำ เมื่อปี ค.ศ. 1996 นิตยสาร Forbes กล่าวถึงเบนนิสว่าเป็นเสมือน “คณบดีแห่งกูรูด้านภาวะผู้นำ” (Dean of leadership gurus) นิตยสาร Business Week ฉบับเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2007 จัดอันดับให้เขาเป็นหนึ่งใน 10 สุดยอดผู้นำทางความคิดในด้านการบริหารจัดการธุรกิจ

ศาสตราจารย์วอร์เร็น เบนนิสมีผลงานออกสู่บรรณพิภพด้านการบริหารจัดการและภาวะผู้นำออกมากกว่าสิบๆเล่ม ผลงานของท่านมิได้กระจุกตัวอยู่แต่ในแวดวงงานเขียนทางวิชาการเท่านั้น แต่ท่านเบนนิสได้นำพาเอาแนวคิดด้านภาวะผู้นำออกสู่โลกของนักบริหารและนักปฏิบัติทั้งในองค์กรภาครัฐและเอกชน แนวคิดที่สำคัญของท่านคือการนำเสนอแนวคิดภาวะผู้นำที่ ก้าวข้ามจากสไตล์ผู้นำแบบ “อัตตาธิปไตย” (Autocracy) และ การบริหารแบบ “สำนักงานธิปไตย” (Bureaucracy) ซึ่งเหมาะสมกับโลกยุคสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อคริสศตวรรษที่ 19 สู่ภาวะผู้นำในโลกยุคสมัยใหม่ที่ควรต้องมีภาวะผู้นำแบบ “ประชาธิปไตย-มนุษย์นิยม” (Humanistic and democratic styles)

บทความชิ้นสำคัญที่ผมเคยอ่านด้วยความประทับใจเป็นอย่างยิ่ง และถือเป็นบทความชิ้นที่ช่วย “จุดเทียนทางปัญญา” (Intellectual candle) ให้เกิดแสงสว่างทางปัญญาและสร้างความสั่นสะเทือนทางความคิดในวงกว้างเป็นอย่างยิ่งนั่นคือ “The Coming Death of Bureaucracy” (“ระบอบสำนักงานธิปไตยกำลังจะอวสาน” ตีพิมพ์เมื่อปี 1966) และ “Beyond Bureaucracy” (“พ้นไปจากระบอบสำนักงานธิปไตย” ตีพิมพ์เมื่อปี 1993) และ “Is Democracy Inevitable?” (“ประชาธิปไตยคือสิ่งที่ไม่อาจเลี่ยงได้ใช่หรือไม่?” ตีพิมพ์เมื่อปี 1990)

สำคัญประการหนึ่งที่เบนนิสนำเสนอก็คือ แม้ประชาธิปไตยคือเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดในยุคสมัยของเรา แต่คำว่า “ประชาธิปไตย” มิใช่แค่เรื่องของการจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างอิสรเสรี แล้วคล้อยจำนนไปตามเสียงส่วนใหญ่เท่านั้น แต่ ระบอบประชาธิปไตยคือการสร้างและยึดมั่นตาม “ระบบค่านิยมใหม่” (A system of values) ที่แตกต่างไปจากอารยธรรมแบบเดิม มิฉะนั้นแล้ว เราก็จะเป็นสังคมที่ปกครองด้วยรูปแบบเครื่องทรงประชาธิปไตย แต่เนื้อหาและจิตวิญญาณแบบเดิม

สำหรับผมเองแล้ว หนังสือของเบนนิสที่ผมชื่นชอบเป็นพิเศษ คือหนังสือรวมบทความชิ้นสำคัญของเบนนิสที่ชื่อ Managing the Dream (“การบริหารความใฝ่ฝัน” ตีพิมพ์เมื่อปี 2000) เนื่องจากผมเห็นด้วยกับแนวความคิดของเบนนิสว่า ผู้นำที่ดีควรมีลักษณะพื้นฐานสำคัญคือเป็น “ผู้นำที่มีความใฝ่ฝัน” (Dreamer)

ความฝันคือพลังพื้นฐานที่ทรงพลังที่จะทำให้ผู้นำมีแรงจูงใจในการนำพาองค์กร สังคม ชุมชนและประเทศชาติไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าในอนาคต และผู้นำที่ยอดเยี่ยมจะต้องเป็นผู้ที่บริหารจัดการความฝันไปสู่ความสำเร็จได้ ดังนั้น การบริหารจัดการความใฝ่ฝันจึงเป็นกุญแจสำคัญของการเป็นผู้นำที่ดี

ในบทบรรณาธิการของ HBR กล่าวถึงเบนนิสว่าเป็นผู้มีพรสวรรค์ที่สำคัญคือ มี “Generosity of spirit” ผมขอแปลแบบไทยๆว่า “ผู้ใหญ่ใจดี” งานเขียนชิ้นสุดท้ายของเขาคือหนังสือชื่อ “Still Surprised” (ตีพิมพ์เมื่อปี 2010) Adi Ignatius บรรณาธิการ HBR กล่าวในช่วงท้ายว่าได้เคยสัมภาษณ์เบนนิสถึงโครงการต่อไป เบนนิสกล่าวถึงแผนการหนังสือเล่มต่อไปของเขาว่าจะใช้ชื่อว่า Grace (“ความสง่างาม”) ซึ่งในหนังสือเล่มนั้นจะมีหัวข้อซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องภาวะผู้นำในประเด็นต่างๆได้แก่ Generosity, Respect, Redemption และ Sacrifice เป็นที่น่าเสียดาย ที่หนังสือเล่มนี้มิได้สำเร็จเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

เมื่อมองย้อนกลับมาที่บ้านเรา ได้เห็นข่าวกระแสการแต่งตั้ง สนช. สปช. และล่าสุดคือ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้อยากให้กำลังใจทุกท่านเหล่านี้ที่กำลังทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง อย่างน้อยที่สุดขอให้ทุกท่านแสดงภาวะผู้นำ ดังที่นักคิดผู้ยิ่งใหญ่ด้านภาวะผู้นำ วอร์เร็น เบนนิส นำเสนอทิ้งไว้ก่อนจากโลกนี้ไปว่า ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ควรเป็น

• เป็น “นักฝันผู้ยิ่งใหญ่” (Dreamer)
• เป็น “ผู้ที่มีจิตใจยิ่งใหญ่” (Generosity)
• เป็น “ผู้นำที่น่าเคารพนับถือ” (Respect)
• เป็น “ผู้กู้สังคมไทยจากวิกฤต” (Redemption) และ
• เป็น “ผู้ยอมเสียสละ” (Sacrifice)

ศาสตราจารย์วอร์เร็น เบนนิส จากโลกนี้ไปเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 ด้วยวัย 89 ปี ได้ทิ้งแนวคิดที่ดีงามเหลือไว้ให้กับนักคิดนักบริหารรุ่นหลังๆ ได้ระลึกถึง ผมจึงขอให้กำลังใจแก่ทุกท่านที่กำลังมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยครั้งนี้ ให้ตระหนักและแสดงภาวะผู้นำที่ยิ่งใหญ่และร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีงามทิ้งไว้เพื่อคนรุ่นหลังของสังคมไทย นักการเมืองไทยหลายท่านจำนวนไม่น้อย จากไปด้วยวัย 70 - 80 ปี เหลือทิ้งไว้แต่ผลงานอันเลวทรามให้อนุชนรุ่นหลังด่าทอสาปแช่งตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น