หลังจากผ่านพ้นการเจรจาต่อรองกันอย่างยืดเยื้อยาวนานกว่า 4 ขวบปี ในที่สุดการประชุมสุดยอดขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกในกรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส ก็สามารถบรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ที่ถือได้ว่าเป็นหลักหมุดสำคัญยิ่งเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยว่ากันว่า ข้อตกลงที่ปารีสคราวนี้ จะถือเป็นยุทธศาสตร์แม่บทสำหรับกำหนด Roadmap ว่าด้วยการใช้พลังงานของโลกตลอดหลายทศวรรษนับจากนี้ในการแปรเปลี่ยนจากโลกในยุคปัจจุบัน ที่มีระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก ไปสู่โลกในยุคใหม่ หรือ ยุคหลัง “พลังงานฟอสซิล”
การเจรจาดังกล่าวที่เปิดฉากขึ้นตั้งแต่เมื่อช่วงปี 2011 และมีองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เป็นสปอนเซอร์รายใหญ่มีอันต้องเผชิญกับ “ลมมรสุมแห่งอุปสรรค” ลูกแล้วลูกเล่าที่ซัดถาโถมเข้าใส่ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปีที่ผ่านมา จนการประชุมนี้แทบล้มคว่ำแบบไม่เป็นท่าหลายหน โดยเฉพาะจากปัญหาข้อขัดแย้งทางด้านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการพัฒนาระหว่างบรรดาชาติร่ำรวยกับชาติยากจน หรือระหว่างประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว กับบรรดาประเทศกำลังพัฒนา
บรรดากลุ่มเคลื่อนไหวด้านการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมหลายต่อหลายกลุ่ม ตลอดจนผู้คนทั่วโลกที่ตระหนักถึงพิษภัยของภาวะโลกร้อนและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก ต่างพากันถอนหายใจเฮือกใหญ่ด้วยความโล่งอก ภายหลังจากที่ โลร็องต์ ฟาบิอูส์ รัฐมนตรีต่างประเทศของฝรั่งเศสในฐานะเจ้าภาพการประชุม ออกมาประกาศว่า ข้อตกลงประวัติศาสตร์ได้รับการยอมรับแล้ว หลังบรรดาผู้แทนของกว่า 200 ประเทศทั่วโลกร่วมใจดันข้อตกลงนี้จนประสบผล ในการประชุมซัมมิต ซึ่งจัดขึ้นที่ชานกรุงปารีส
ข้อตกลงใหม่ถอดด้ามนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นข้อตกลง เพื่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกอย่างแท้จริงที่เกิดขึ้นเป็น ฉบับแรก โดยผูกพันทั้งชาติร่ำรวยและชาติยากจนเข้าด้วยกัน ให้ต้องร่วมดำเนินการควบคุมการปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” ซึ่งเป็นสาเหตุหลักในการทำให้อุณหภูมิของโลกพุ่งสูงขึ้น โดยข้อตกลงใหม่นี้มีการกำหนดเป้าหมายในระยะยาวเพื่อการกำจัดปริมาณไอเสียสุทธิในรอบร้อยปี และยังมุ่งสนับสนุนประเทศต่างๆ ให้ยกระดับความพยายามด้วย “ความสมัครใจ” ภายในแต่ละประเทศเองในเรื่องการลดการปล่อยไอเสีย รวมทั้งจัดหางบอีกนับแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยประเทศยากจนทั้งหลายสำหรับการใช้จ่ายเพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจตนเอง สู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานหมุนเวียนที่มีความเป็นมิตรกับสภาพแวดล้อมมากกว่า พลังงานจากฟอสซิลอย่างน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหิน ซึ่งไม่มีความยั่งยืน
เนื้อหาของข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นที่ปารีส ระบุถึงวัตถุประสงค์ของนานาชาติ ในการยับยั้งการเพิ่มขึ้นของระดับอุณหภูมิโลก ให้อยู่ในระดับต่ำลงไปกว่า 2 องศาเซลเซียสเหนือระดับอุณหภูมิของโลก ช่วงก่อนยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม สวนทางกับช่วงก่อนหน้าการประชุมที่นานาชาติ ยังคงกำหนดหลักหมุดในเรื่องนี้เอาไว้ที่ 2 องศาเซลเซียสเท่านั้น
ถึงแม้ข้อตกลงล่าสุดจากเวทีซัมมิตที่นอกเมืองหลวงของฝรั่งเศส จะเปิดช่องด้วยการปล่อยให้แต่ละประเทศ ได้แสดงบทบาทเป็นผู้ดำเนินมาตรการต่างๆ ที่เห็นว่าจำเป็นต่อการลดก๊าซเรือนกระจกด้วยตนเอง แต่ทว่าข้อตกลงนี้ได้กำหนดวิสัยทัศน์ร่วมและเส้นทางแห่งการปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่น่าพอใจหลังการเจรจาต่อรอง และการขัดแย้งกันเรื่องผลประโยชน์มานานหลายปีดีดัก ตลอดจนมุมมองที่ต่างกันแบบสุดขั้วของประเทศต่างๆ ในการหยุดภาวะโลกร้อนในช่วงก่อนหน้านี้
นอกเหนือจากการกำหนดให้มีการรักษาระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ต่ำลงไปกว่า 2 องศาเซลเซียส และดำเนินความพยายามเพื่อจำกัดการเพิ่มของระดับอุณหภูมิโลกอีกจนถึง 1.5 องศาเซลเซียสแล้ว ที่ประชุมซัมมิตในปารีสยังเห็นพ้องให้มีการพิจารณาทบทวนความก้าวหน้าในเรื่องนี้ในทุก 5 ปี และให้มีการจัดหาแหล่งเงินช่วยเหลือ แก่บรรดาประเทศกำลังพัฒนา เป็นจำนวน 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีให้ได้ภายในปี 2020 หรือ 5 ปีข้างหน้า พร้อมทั้งคำมั่นสัญญาที่จะให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มเติมอีกในอนาคต โดยจะต้องมีการปรับเพิ่มตัวเลขนี้ภายในปี 2025
ข้อตกลงนี้ได้โยกเนื้อหาส่วนที่ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน จากที่ในร่างฉบับก่อนหน้า เคยบรรจุเอาไว้ในส่วนแกนกลางซึ่งจะมีผลผูกพันตามกฎหมาย ไปอยู่ใน “ภาคการตัดสินใจ” ที่แยกออกมาต่างหาก และไม่ได้มีผลผูกพันในทางกฎหมายแต่อย่างใด ทำให้ผู้แทนรัฐบาลต่าง ๆ หันมาสนับสนุนกันอย่างพร้อมเพรียง
ถึงแม้บรรดานักเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศจำนวนไม่น้อย ตลอดจนพวกสมาชิกสภาคองเกรสส์สหรัฐฯ สังกัดพรรครีพับลิกันยังคงพยายามสอดส่ายสายตาหาความบกพร่องของข้อตกลงจากซัมมิตที่ปารีสคราวนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้คนอีกจำนวนมากมายทั้งที่เป็นประชาชนเดินดินธรรมดา รวมถึงพวกนักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวด้านโลกร้อน ซึ่งตั้งแคมป์ชุมนุมกันอยู่ใกล้ๆ ที่ประชุมคราวนี้ ต่างลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขามองว่าข้อตกลงนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ที่ควรจะบังเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้นานแล้ว
รายงานข่าวจากสื่อสำนักต่างๆทั่วโลกระบุตรงกันว่า นักเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่มีปฏิกิริยาในเชิงบวก จากผลของการประชุมครั้งนี้ที่ว่ากันว่า มีความทะเยอทะยานและความมุ่งหวังในการสร้างโลกที่ดีหลังยุคพลังงานฟอสซิลสูงกว่าที่พวกเขาเคยคาดหมายหรือตั้งเป้าไว้ ถึงแม้ว่านี่จะถือเป็นเพียง “ก้าวแรก” ก็ตาม
ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ ระบุในการแถลงข่าวที่ทำเนียบขาวว่า ข้อตกลงจากเวทีซัมมิตที่ปารีสนี้ เป็น โอกาสดีที่สุดที่มนุษยชาติมีอยู่ เพื่อการปกป้องรักษาโลกใบนี้ ซึ่งเป็นบ้านเพียงแห่งเดียวของมนุษย์ ขณะที่เซีย เจิ้นหวา หัวหน้าคณะผู้แทนเจรจาของรัฐบาลจีน ระบุว่า ประเทศต่างๆ กำลังขับเคลื่อนก้าวย่างแห่งประวัติศาสตร์ซึ่งตระหนักถึงทั้งประโยชน์แก่ประชากรโลกในปัจจุบัน และยังถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อ “คนรุ่นหลัง” และมุ่งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
ดังนั้นจึงไม่ผิดนักหากจะสรุปว่าข้อตกลงฉบับประวัติศาสตร์จากเวทีปารีสซัมมิตคราวนี้นั้น ไม่มีผู้ชนะหรือผู้พ่ายแพ้ แต่เพียงฝ่ายเดียวไม่ว่าจะเป็นประเทศร่ำรวยหรือประเทศยากจน ประเทศพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา แต่ผลการประชุมที่ออกมาเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างถือเป็น “ผู้ชนะร่วมกัน” และเป็นการสร้างความหวังใหม่ให้กับพลเมืองโลกถึงอนาคตที่สดใสในยุคที่ระบบเศรษฐกิจโลกกำลังเคลื่อนออกจากพลังงานฟอสซิล ไปสู่พลังงานรูปแบบใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน