xs
xsm
sm
md
lg

น้ำยาของมาตรา 44

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

สังคมไทยในปัจจุบันมีกฎหมายพิเศษอย่าง มาตรา 44 ที่รัฐสามารถใช้อำนาจเด็ดขาดในการแก้ปัญหาสังคม เรื่องกฎหมายและการใช้อำนาจตามกฎหมายเป็นประเด็นสาธารณะ จึงเป็นเรื่องที่มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในการใช้อำนาจเด็ดขาดตามมาตรา 44 แต่นั่นก็เป็นประเด็นหนึ่ง

แต่ประเด็นที่น่าสนใจอีกอย่างคือ มาตรา 44 มีน้ำยา มากน้อยเพียงใดในการแก้ปัญหาประเทศ ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ที่สร้างมาตรานี้ขึ้นมาในรัฐธรรมพ.ศ.2557

สังคมที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยบริหารปกครองประเทศมีความปรารถนาและอุดมการณ์ที่สำคัญคือ การให้ปัจเจกบุคคลมีสิทธิ เสรีภาพ และเสมอภาคกันทั่วหน้า รัฐธรรมนูญจะถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างหลักประกันในการบรรลุอุดมการณ์เหล่านั้น สำหรับกฎหมายอื่นๆจะถูกใช้เป็นเครื่องมือที่เฉพาะเจาะจงในการจัดระเบียบสังคม ป้องกันและแก้ไขปัญหา ปฏิรูป ทำนุบำรุง และพัฒนาประเทศ

อย่างไรก็ตามทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างมีข้อจำกัด เพราะว่าส่วนมากถูกเขียนขึ้นภายใต้ “อภิอุดมการณ์” ชุดหนึ่งหรือหลายชุดที่ครอบงำสังคมมาอย่างยาวนาน ในสังคมหนึ่งๆอาจมีอภิอุดมการณ์ที่สอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าประวัติศาสตร์ของสังคมนั้นมีรากฐานปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ทุน และประชาสังคมอย่างไร และยังขึ้นอยู่กับตรรกะเชิงสถาบัน หรือแบบแผนความคิดที่ได้รับการยอมรับและยึดถือปฏิบัติในสังคม ซึ่งมีอิทธิพลต่อการเขียนรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆด้วย

ระบอบประชาธิปไตยนั้นมีตรรกะเชิงสถาบันในระดับสากลอยู่หลายประการ ที่สำคัญประการหนึ่งคือ การรวมศูนย์อำนาจในสถาบันหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่ปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุล ทำให้การใช้อำนาจรัฐมีแนวโน้มถูกใช้ไปในทางที่มิชอบได้ง่าย ดังนั้นการใช้อำนาจในระบอบประชาธิปไตยจึงจำเป็นต้องมีการแบ่งแยกอำนาจระหว่างสถาบันในสังคม โดยแต่ละสถาบันมีความเป็นอิสระในการใช้อำนาจ ในขณะเดียวกันแต่ละสถาบันก็จะต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลย์ซึ่งกันและกัน เพื่อป้องกันมิให้มีการใช้อำนาจไปในทางที่ผิด

หากสังคมใดที่กลไกการตรวจสอบถ่วงดุลย์อำนาจไร้ประสิทธิภาพ และขาดความคงเส้นคงวา ย่อมหมายถึงว่า ตรรกะเชิงสถาบันของระบอบประชาธิปไตยสากล ไม่อาจก่อตัวและผนึกแน่นให้กลายเป็นตรรกะเชิงสถาบันภายในสังคมนั้นได้

ระบอบประชาธิปไตยที่มีตรรกะเชิงสถาบันของประชาธิปไตยอ่อนแอ อย่างดีที่สุดเป็นได้แต่เพียงโครงสร้างรูปแบบที่กลวงเปล่า แต่อย่างแย่คือจะสร้างปัญหาให้แก่สังคมนั้น โดยถูกทำให้เป็นเครื่องมือในการอ้างเหตุผลสำหรับการกระทำเรื่องที่สร้างผลกระทบทางลบและสร้างวิกฤติขึ้นมาในสังคมได้

เมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งยกเลิกการใช้ระบอบประชาธิปไตย ก็เป็นเรื่องปกติที่รัฐบาลจะไม่ใช้ตรรกะเชิงสถาบันของระบอบประชาธิปไตยในการบริหารประเทศ แต่จะใช้ตรรกะเชิงสถาบันของระบอบเผด็จการ ซึ่งจะเน้นการรวมศูนย์อำนาจในตัวบุคคลหรือกลุ่มบุคคลแทน และการใช้อำนาจก็เป็นไปโดยอิงกฎเกณฑ์ที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นสร้างขึ้นมา โดยปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุลใดๆทั้งสิ้น

หากบุคคลหรือกลุ่มนั้นเป็นคณะบริหารปกครองประเทศที่มีคุณธรรมและยึดหลักธรรมาภิบาล ก็ย่อมทำให้การใช้อำนาจเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และเกิดผลลัพธ์ที่ดีแก่สังคมได้ แต่หากกลุ่มคนเหล่านั้นไร้คุณธรรมและขาดธรรมาภิบาล การใช้อำนาจก็ย่อมไปไปในทางทำลายล้าง ขาดความยุติธรรม ผลลัพธ์ก็ย่อมสร้างความทุกข์ยาก และความหวาดกลัวขึ้นมาในหมู่ประชาชน และนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคมในที่สุด

อำนาจนั้นมีทั้งด้านที่สร้างสรรค์และทำลาย อำนาจเป็นได้ทั้งพลังในการแก้ปัญหา หรือพลังในการสร้างปัญหา ขึ้นอยู่กับว่าใช้อำนาจเพื่ออะไรและใช้อย่างไร คนจำนวนไม่น้อยมีความเชื่อว่าอำนาจเด็ดขาดที่ไร้เงื่อนไขจำกัดมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูง ในการแก้ปัญหาสังคมบางอย่างและพัฒนาเศรษฐกิจในบางด้าน โดยเฉพาะปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้อำนาจแบบปกติที่มีเงื่อนไขจำกัดมาก ประเทศจีนดูเหมือนเป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จของการใช้อำนาจเด็ดขาดในลักษณะนี้

แต่ปัญหาสังคมบางอย่างหรือหลายอย่าง เป็นสิ่งที่ยากสำหรับการใช้อำนาจเด็ดขาดที่อิงกฎหมายเข้าไปแก้ไขได้อย่างแท้จริง อำนาจเด็ดขาดทำได้เพียงขจัดอาการปัญหาเท่านั้น แต่หาได้มีประสิทธิภาพในการขจัดสาเหตุ เงื่อนไขและบริบท ที่ทำให้ปัญหานั้นเกิดขึ้นและดำรงอยู่แต่อย่างใด อย่างเช่น ในการจัดการกับปัญหาการทุจริต อำนาจเด็ดขาดอย่างมาตรา 44 ทำได้เพียงแต่ย้ายบุคคลบางคน หรือ ให้บุคคลบางคนที่พัวพันกับเรื่องทุจริตพ้นออกจากตำแหน่งเท่านั้น แต่ไม่อาจทำให้คนมีความซื่อสัตย์สุจริตได้ รวมทั้งไม่อาจหยุดยั้งการทุจริตที่กำลังเกิดขึ้นได้

หรือ กรณีการบุกรุกที่ดินสาธารณะ ป่าสงวน ก็ทำได้แต่เพียงเข้าไปรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบางแห่งที่มีเรื่องร้องเรียน หรือตามการเลือกสรรของผู้ปฏิบัติเท่านั้น โดยไม่อาจจัดการกับคนบุกรุกทั้งประเทศได้ และไม่อาจหยุดยั้งการบุกรุกใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกด้วย

หรืออย่างกรณีธรรมกายการใช้มาตรา 44 ก็ทำได้เพียงการส่งคณะบุคคลเข้าไปตรวจค้นภายในวัดธรรมกายและจับกุมธรรมมชโย กระนั้นก็ยังทำได้ด้วยความยากลำบาก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องเลื่อนลอยที่คาดหวังว่ามาตรา44 จะแก้ปัญหาเรื้อรังอื่นๆในวงการสงฆ์ได้

ข้อจำกัดของการใช้อำนาจเด็ดขาดในยุคปัจจุบันมีมาก เพราะว่าปัญหาสังคมหลายเรื่องเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องอย่างซับซ้อนกับอภิอุดมการณ์ของสังคมไทยเอง พลังอำนาจของอภิอุดมการณ์ที่เป็นเงื่อนไขและหล่อเลี้ยงปัญหาสังคมให้ดำรงอยู่นั้นมีมากกว่าพลังอำนาจเด็ดขาดทางกฎหมายของมาตรา 44 อย่างเทียบกันไม่ได้ เรียกว่าเมื่อมาตรา 44 เจอพลังของอภิอุดมการณ์เมื่อไร เมื่อนั้นก็ต้องอ่อนแรงลงไป เหมือนคลื่นที่กระทบฝั่งนั่นเอง

อภิอุดมการณ์ที่เป็นกระแสหลักของสังคมไทยคือ ลัทธิทุนนิยมแบบดิบๆของยุคเริ่มแรกในการปฏิวัติอุตสาหกรรม อันได้แก่ อภิอุดมการณ์ที่มุ่งการแสวงหากำไรสูงสุด ความมั่งคั่ง และความสะดวกสบาย โดยไม่คำนึงถึงวิธีการในการได้มา สิ่งที่แสดงออกในเชิงปฏิบัติถึงอภิอุดมการณ์นี้ในภาคธุรกิจคือ การที่นายทุนเอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงาน ผู้ค้ารายย่อย ผู้ใช้บริการ และผู้บริโภค การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และการสร้างมลพิษแก่สังคม ในภาครัฐคือ การรีดทรัพย์สินประชาชนที่ไปใช้บริการ การเรียกรับสินบน เรียกรับเงินทอน และการทุจริตคดโกงสารพัดรูปแบบ ในวงการสงฆ์คือ การขายความเชื่อ ขายสวรรค์ ขายของขลัง เป็นต้น

นอกจากลัทธิทุนนิยมแบบดิบๆ แล้วสังคมไทยยังอุดมไปด้วยอภิอุดมการณ์ของ “ลัทธิพวกพ้องพี่น้องนิยม” ที่เชื่อว่า “การช่วยเหลือเกื้อกูลพวกพ้อง พี่น้อง เครือญาติ คือสิ่งที่ควรทำ ถึงแม้ว่าบุคคลเหล่านั้นจะทำสิ่งไม่ถูกต้อง ทำผิดกฎหมาย และจริยธรรม ก็ยังต้องช่วยเหลือ” อภิอุดมการณ์แบบนี้ทำให้คนจำนวนไม่น้อยพร้อมละเว้นหรือละเมิดระเบียบ ข้อบังคับ กฎเกณฑ์ และกฎหมาย เพื่อช่วยเหลือพรรคพวกพี่น้องของตนเองที่กระทำผิด โดยไม่รู้สึกสำนึกละอายใจแต่อย่างใด

ภายใต้บริบทที่อุดมไปด้วยอภิอุดมการณ์แบบทุนนิยมแบบดิบๆ และลัทธิพวกพ้องนิยมของสังคมไทย เมื่อมีการนำระบอบประชาธิปไตยมาใช้ อุดมการณ์ของระบอบประชาธิปไตยจึงถูกดูดกลืนด้วยอภิอุดมการณ์เหล่านี้ จนจำเนื้อหาเดิมไม่ได้ ในด้านกฎหมาย ทั้งกฎหมายปกติและกฎหมายพิเศษที่มีอำนาจเด็ดขาดอย่างมาตรา 44 เมื่อเผชิญกับอภิอุดมการณ์เหล่านี้ก็จะอ่อนปวกเปียก แทบจะไม่มีน้ำยาใดๆที่จะเข้าไปจัดการหรือแก้ปัญหาที่เกี่ยวพันกับอภิอุดมการณ์เหล่านี้ได้เลย

มาตรา 44 จึงมีน้ำยาน้อย มีข้อจำกัด และไม่สามารถแก้ปัญหาสังคมที่ยากและซับซ้อนได้ ที่พอทำได้คือการแก้ปัญหาง่ายๆ เฉพาะหน้า และแก้ได้อย่างผิวเผินเท่านั้น แต่เพียงแค่นี้ก็พอจะสร้างคะแนนนิยมแก่ผู้ใช้ได้ครับ



กำลังโหลดความคิดเห็น