เอเจนซีส์ - ผู้นำทั่วโลกเรียกร้องมาตรการต่อสู้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ “ปัญหาโลกร้อน” โดยเร่งด่วน ในการประชุมซัมมิตของสหประชาชาติเมื่อวันอังคาร (23 ก.ย.) ทว่า คำมั่นที่ให้ยังห่างไกลจากเป้าหมาย อย่างไรก็ดี จีนประกาศเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนครั้งแรก ขณะที่โอบามาให้สัญญาเพียงแค่จะเปิดเผยเป้าหมายดังกล่าวของสหรัฐฯ ต้นปีหน้า
ในระหว่างการประชุมสุดยอดของสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่นครนิวยอร์กคราวนี้ ฝรั่งเศสประกาศสมทบเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์เข้ากองทุน “กรีน ไคลเมต ฟันด์” ถือเป็นประเทศเดียวนอกเหนือจากเยอรมนีที่อัดฉีดเงินเข้าสู่สถาบันแห่งใหม่นี้ ซึ่งล่าสุดมียอดเงินสมทบทั้งสิ้น 2,300 ล้านดอลลาร์ ยังคงต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้สำหรับปลายปีนี้ที่ 10,000 ล้านดอลลาร์ และยิ่งห่างไกลจากเป้าหมาย 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี เริ่มจากปี 2020 เพื่อช่วยประเทศยากจนรับมืออุณหภูมิที่สูงขึ้นและภัยพิบัติธรรมชาติ
กระนั้น บัน คีมูน เลขาธิการใหญ่ยูเอ็นออกตัวว่า การประชุมครั้งนี้ต้องการสร้างแรงผลักดันมากกว่าบรรลุข้อตกลงที่เป็นรูปธรรม
การประชุมครั้งนี้ถือเป็นงานใหญ่ครั้งแรกภายหลังซัมมิตที่โคเปนเฮเกนปี 2009 ที่ปิดฉากลงอย่างอลหม่านวุ่นวาย โดยในคราวนี้มีเป้าหมายเพื่อกำหนดแนวทางสำหรับการประชุมซัมมิตในปีหน้าที่กรุงปารีส ซึ่งวางกรอบกันเอาไว้ว่าจะมีการลงนามข้อตกลงระดับโลกฉบับใหม่
ประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์แห่งฝรั่งเศส เตือนว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงของโลก
ส่วนประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐฯ ขานรับว่า ภัยคุกคามเร่งด่วนที่กำลังลุกลามจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ จะมีอิทธิพลในการกำหนดแนวโน้มของศตวรรษนี้มากยิ่งกว่าประเด็นอื่นใด และว่าทุกประเทศต่างรู้ว่าต้องลดมลพิษจากคาร์บอนเพื่อป้องกันผลกระทบเลวร้ายที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
ผู้นำแดนอินทรีเรียกร้องข้อตกลงที่ “ทะเยอทะยาน” แต่ “ยืดหยุ่น” คำพูดเช่นนนี้สะท้อนให้เห็นถึงอุปสรรคใหญ่หลวงทางการเมืองที่ตัวเขาต้องเผชิญ หากต้องการผลักดันรัฐสภาสหรัฐฯ ให้สัตยาบันรับรองสนธิสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่
ทั้งนี้ บรรดาประเทศกำลังพัฒนาต่างปฏิเสธที่จะลงนามข้อตกลงฉบับใหม่ที่มีผลผูกพันจริงจัง หากยังไม่ได้รับคำมั่นจากวอชิงตันก่อน เนื่องจากมองว่า ประเทศร่ำรวยมีความรับผิดชอบสำคัญต่อปัญหานี้ เพราะเป็นพวกที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมก่อนชาติอื่นๆ เป็นหลายสิบปี ดังนั้นจึงเป็นพวกที่ปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศมากกว่าเพื่อน
โอบามาเสริมว่า ระหว่างที่เขาพบปะกับรองนายกรัฐมนตรีจาง เกาลี่ ของจีน ซึ่งเป็นตัวแทนแดนมังกรในการประชุมคราวนี้ เขาย้ำว่า ในฐานะประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก 2 อันดับแรก อเมริกาและจีนมีความรับผิดชอบพิเศษในการเป็นผู้นำแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจางตอบกลับว่า จีนต้องการให้ปริมาณการปล่อยคาร์บอนขึ้นถึงขีดสูงสุดโดยเร็วที่สุด
จางสำทับว่า จีนซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุดในโลกขณะนี้ จะลดการปล่อยคาร์บอนต่อจีดีพีลง 45% ในปี 2020 โดยที่ใช้ระดับในปี 2005 เป็นฐาน นับเป็นครั้งแรกที่แดนมังกรแสดงความเต็มใจที่จะดำเนินมาตรการเพื่อรับมือปัญหาระดับโลกนี้อย่างจริงจัง ขณะที่ทางโอบามาให้สัญญาเพียงแค่จะเปิดเผยแผนการลดการปล่อยคาร์บอนต้นปีหน้า
ทางด้านกลุ่มเคลื่อนไหว “แอ็กชันเอด” วิจารณ์ว่า ซัมมิตครั้งนี้ยังคงให้ “คำมั่นที่เลื่อนลอย” แม้เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (21) มีการเดินขบวนครั้งใหญ่ทั่วโลกแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเพื่อเรียกร้องมาตรการเร่งด่วนก็ตาม
ทั้งนี้ ประเทศที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ต่างกำลังหวาดกลัวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้ตนจมหายไปในทะเล
“อนาคตของตูวาลูอยู่ในมือพวกคุณ หมดเวลาที่จะปฏิเสธหรือลังเล หรือหลงใหลไปกับผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลแล้ว” นายกรัฐมนตรีเอเนเล โซโปอากา ของประเทศเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกแห่งนี้ เรียกร้อง
อย่างไรก็ดี เวทีนี้ยังมีข่าวที่น่ายินดีเมื่อ บิลล์ เดอ บลาซิโอ นายกเทศมนตรีนิวยอร์ก ซึ่งเป็นสถานที่จัดประชุม ประกาศว่า มหานครแห่งนี้จะลดการปล่อยมลพิษ 80% ในปี 2050 ซึ่งเป็นระดับที่นักเคลื่อนไหวระบุว่า ควรเป็นเป้าหมายในระดับประเทศ
นอกจากนี้หลายประเทศ อาทิ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เอธิโอเปีย กัวเตมาลา และยูกันดา ยังประกาศแผนฟื้นฟูป่าเขตร้อนในพื้นที่ 30 ล้านเฮกตาร์ มากกว่าแผนการริเริ่มทั่วโลกที่ประกาศก่อนหน้านี้ซึ่งอยู่ที่ 20 ล้านเฮกตาร์