เอเอฟพี - เบลเยียมซึ่งชอบเรียกตนเองว่า “ดินแดนแห่งช็อกโกแลต” ได้สรรค์สร้างพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ไว้ต้อนรับอาคันตุกะ ทันทีที่ผู้มาเยี่ยมชมก้าวเท้าเข้าสู่พิพิธภัณฑ์ ก็จะได้ยลโฉมป่าโกโก้ และช็อกโกแลตตำรับโรงงาน “วิลลี วองกา” ในภาพยนตร์ฮอลลีวูดชื่อดังอย่าง “ชาร์ลี กับโรงงานช็อกโกแลต” (Charlie and the Chocolate Factory)
สำหรับเบลเยียมแล้ว ช็อกโกแลตถือเป็นสมบัติของชาติ ประเทศนี้เป็นถิ่นกำเนิดของแบรนด์ดังอย่าง โกไดวา, นูเฮาส์ ,เลโอนิดาส และโกตดอร์ โดยพิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นจากโรงงานช็อกโกแลตเก่า ในกรุงบรัสเซลส์แห่งนี้เริ่มจัดแสดงของหวานสีน้ำตาลชวนลิ้มลองตั้งแต่เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (20)
อองรี ดูปุยส์ ผู้ออกแบบพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ระบุว่า “เบลเยียมไม่เคยปฏิเสธความหลงใหลในช็อกโกแลต จนเรากลายเป็น ‘ดินแดนแห่งช็อกโกแลต’ ”
ณ ใจกลางพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งชื่อว่า “หมู่บ้านช็อกโกแลต” แห่งนี้มีต้นโกโก้และพืชเขตร้อนอื่นๆ ผลิใบเขียวชอุ่มอยู่ในเรือนกระจก
บรรดาผู้มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ในย่านเคอเคลแบร์ก (Koekelberg) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงบรัสเซลส์แห่งนี้จะได้เห็นขั้นตอนการเก็บเมล็ดโกโก้ในต่างแดน ซึ่งโดยปกติแล้วคือภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก จากนั้นผลผลิตที่ได้จะถูกส่งขึ้นไปยังประเทศทางตอนเหนือเพื่อผลิตเป็นช็อกโกแลต
พวกเขายังจะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของช็อกโกแลต โดยเริ่มตั้งแต่ถิ่นกำเนิดในภูมิภาคอเมริกากลาง ที่ซึ่งชาวอินเดียนแดงเผ่ามายา และแอซเทค ดื่มช็อกโกแลต ไปจนกระทั่งชาวสเปนนำช็อกโกแลตเข้าไปยังทวีปยุโรป ก่อนที่ของหวานชนิดนี้จะถูกผลิตออกมามากมายมหาศาล ในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังเล่าว่า ช็อกโกแลตเคยจุดประกายให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ทางศาสนา ในประเด็นที่ว่า ผู้ที่ถือศีลอดสามารถรับประทานช็อกโกแลตได้หรือไม่ ขณะที่พ่อแม่ชาวยุโรปก็จะห้ามปรามไม่ให้เด็กๆ กิน
นอกจากนี้ ผู้มาเยือนจะมีโอกาสได้เห็นว่า โรงงานต่างๆ มีวิธีผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตให้สามารถตอบโจทย์ รสนิยมที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศอย่างไร เป็นต้นว่า ชาวเนเธอร์แลนด์นิยมดื่มช็อกโกแลตร้อน ชาวเบลเยียมชื่นชอบถั่วเคลือบช็อกโกแลต และดาร์กช็อกโกแลตที่มีรสขม ขณะที่ชาวสวิสชอบช็อกโกแลตนม
ขณะเยี่ยมชมโรงงานช็อกโกแลตและบิสกิต “วิกตอเรีย” ซึ่งปิดตัวไปเมื่อปี 1969 ผู้มาเยือนไม่เพียงแต่จะได้เห็น วิธีการผลิตช็อกโกแลตที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละประเภท แต่ยังจะได้ลองลิ้มรสชาติอันหลากหลายอีกด้วย
สำนักงานการท่องเที่ยวเบลเยียมระบุว่า ช็อกโกแลตถือเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์บริโภคหลักของเบลเยียม โดยประเทศเล็กๆ ในสหภาพยุโรปแห่งนี้สามารถผลิตช็อกโกแลตได้ถึงราว 172,000 ตันต่อปี