เอเจนซีส์ - เลขาธิการใหญ่ยูเอ็น บัน คีมูน เตือนมหาอำนาจตะวันตกในวันอังคาร (2 ก.ย.) อย่าได้นำเอาการทหารมาใช้แก้ไขวิกฤตยูเครน ขณะที่องค์การนาโตผลักดันแผนการจัดตั้งกองทหารเคลื่อนที่เร็วเพื่อไว้รับมือกับการรุกของแดนหมีขาวในยุโรปตะวันออก ส่วนทางด้านรัสเซียก็ตอบโต้ว่า กำลังจะปรับปรุง “หลักนิยมทางการทหาร” ฉบับใหม่ เพื่อรับมือกับการคุกคามเช่นนี้ของฝ่ายตะวันตก
บัน คีมูน เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ กล่าวระหว่างไปเยือนนิวซีแลนด์ว่า รู้สึกกังวลอย่างมากต่อพัฒนาการในยูเครน และไม่ต้องการให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปกว่าเดิม
“ผมรู้ว่าสหภาพยุโรป (อียู) อเมริกา และชาติตะวันตกส่วนใหญ่กำลังหารือวิธีการจัดการสถานการณ์นี้ด้วยตนเอง แต่สิ่งสำคัญคือ พวกเขาควรรู้ว่า วิกฤตยูเครนไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการทางทหาร แต่ต้องเป็นการหารือทางการเมืองซึ่งยั่งยืนกว่า”
บันออกมาแสดงความคิดเห็นคราวนี้ หลังจากการเจรจาหาทางสงบศึกในยูเครน ซึ่งจัดขึ้นในกรุงมินสก์ เมืองหลวงของเบลารุส เริ่มต้นขึ้นในวันจันทร์ (1) โดยที่มียุโรปเป็นตัวกลาง และประกอบด้วยตัวแทนจากรัฐบาลและกบฏยูเครน รวมทั้งรัสเซีย
สำนักข่าวของรัสเซียรายงานโดยอ้างคำบอกเล่าของตัวแทนกบฏยูเครนในที่ประชุมว่า ฝ่ายกบฏเรียกร้องให้รัฐบาลยอมรับ “กระบวนการพิเศษ” เพื่อให้เขตโดเนตสก์และเชตลูกานสก์ผนึกรวมกับรัสเซียอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น ทั้งนี้การเจรจายังไม่มีความคืบหน้าอะไร นอกเหนือจากนัดพูดคุยกันใหม่ในวันศุกร์ (5) นี้
เป็นที่น่าสังเกตว่า ข้อเรียกร้องของฝ่ายกบฏนี้มีขึ้นหนึ่งวันหลังจากที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ประกาศเป็นครั้งแรกว่า กลุ่มกบฏในยูเครนตะวันออกควรมีส่วนร่วมในการเจรจาคลี่คลายวิกฤตในฐานะที่เป็นรัฐ
ในวันอังคาร (2) ยูรี อูชาคอฟ ที่ปรึกษาด้านนโยบายการต่างประเทศของทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซีย ยังได้ออกมายืนยันรายงานข่าวที่ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ระหว่างการพูดจากันเป็นการส่วนตัว ปูตินได้บอกกับโจเซ มานูเอล บาร์โรโซ ประธานของคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของอียูว่า รัสเซียนั้นมีความสามารถที่จะบุกเข้ายึดครองกรุงเคียฟได้ภายในเวลา 2 สัปดาห์ ถ้าหากปรารถนาที่จะทำเช่นนั้น
แต่อูชาคอฟบอกว่า ในข่าวต่างๆ ที่ออกมานั้นเป็นการนำเอาข้อความที่ปูตินกล่าวนี้ “ออกนอกบริบท และทำให้มีความหมายแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง”
ทางด้านวาเลรี เกเลเตย์ รัฐมนตรีกลาโหมยูเครน ประกาศเมื่อวันจันทร์ (1) ว่า จะยกระดับการต่อสู้กับรัสเซีย โดยที่มอสโกไม่เพียงพยายามรักษาฐานที่มั่นที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนนิยมเครมลินยึดครองเท่านั้น แต่ยังต้องการรุกคืบเข้าสู่ดินแดนของยูเครนเพิ่มเติมอีกด้วย
“มหาสงครามมาถึงหน้าประตูบ้านเราแล้ว นี่จะเป็นสงครามใหญ่ที่ยุโรปไม่เคยเห็นอีกเลยนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2” เกเลเตย์โพสต์บนเฟซบุ๊กและพร้อมกับระบุว่า ผู้คนเรือนหมื่นจะล้มตายจากการสู้รบใหญ่นี้
ในส่วนสถานการณ์การสู้รบนั้น เคียฟเผยว่าถูกบีบให้ถอนกำลังจากสนามบินในลูกานสก์และหมู่บ้านใกล้เคียง หลังจากยืนหยัดปะทะกับปืนใหญ่และกองพันรถถังของรัสเซียมาหลายวัน ซึ่งถือเป็นการล่าถอยครั้งแรกหลังจากปิดล้อมกบฏในโดเนตสก์และลูกานสก์เอาไว้ได้จนกระทั่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่กลุ่มกบฏเปิดแนวรบใหม่ทางใต้
ประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชนโกประกาศว่า มีการแสดงความก้าวร้าวอย่างเปิดเผยและโดยตรงต่อยูเครนจากประเทศเพื่อนบ้าน
สัปดาห์ที่แล้ว องค์การสนธิสัญญาปกป้องแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ระบุว่า รัสเซียส่งทหารเข้ายูเครนกว่า 1,000 คน และระดมพลราว 20,000 นายตามแนวชายแดน ขณะที่นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในมอสโกอ้างว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทหารรัสเซีย 15,000 นายถูกส่งข้ามชายแดนเข้าสู่ยูเครน
นาโตจัดตั้งกำลังเคลื่อนที่เร็วประชิดชายแดนรัสเซีย
แอนเดอร์ส ฟอกห์ เลขาธิการนาโต แถลงในวันจันทร์ (1) ก่อนที่จะมีการประชุมระดับผู้นำของรัฐสมาชิกนาโตเป็นเวลา 2 วันที่เวลส์ซึ่งจะเริ่มต้นในวันพฤหัสบดี (4) ว่า การคุกคามที่เพิ่มขึ้นของรัสเซียหมายถึงการปรากฏตัวที่ชัดเจนขึ้นของกสงครามเย็นในยุโรปตะวันออก
“เราต้องเผชิญหน้ากับความจริงที่ว่า ขณะนี้รัสเซียมองนาโตเป็นศัตรู”
นาโตยังประกาศแผนการที่จะจัดตั้งกองกำลังทหารเคลื่อนที่เร็วจำนวนหลายพันคน เพื่อเข้าปกป้องพวกชาติสมาชิกนาโตในยุโรปตะวันออก จากการรุกรานที่อาจจะเกิดขึ้นของรัสเซีย โดยที่กองกำลังนี้จะประกอบด้วยทหารซึ่งหมุนเวียนจากบรรดารัฐสมาชิก และนาโตจะสามารถเรียกระดมพลได้ภายในเวลา 48 ชั่วโมง ขณะที่จะมีการเตรียมสิ่งปลูกสร้างทางทหารและคลังอาวุธยุทโธปกรณ์เอาไว้ในดินแดนรัฐสมาชิกในยุโรปตะวันออกเอาไว้
หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า รัฐสมาชิกที่จะส่งกำลังหมุนเวียนเข้าอยู่ในกองกำลังเคลื่อนที่เร็วนี้ จะมาจากพวกชาติสมาชิกนาโตรายใหม่ๆ เป็นต้นว่าโปแลนด์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นบริวารของสหภาพโซเวียต แต่เวลานี้กำลังจับตามองประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียด้วยความหวาดกลัวและไม่ไว้วางใจ
อย่างไรก็ดี แผนการดังกล่าวนี้จะไม่ได้เป็นช่วยเหลือรัฐบาลยูเครนในทันทีเฉพาะหน้านี้ เนื่องจากยูเครนนั้นยังไม่ได้เป็นสมาชิกของนาโต
ขณะที่ โรบิน นิเบลตต์ นักวิเคราะห์แห่งราชสถาบันกิจการระหว่างประเทศในกรุงลอนดอนก็มีความเห็นว่า เป็นไปได้ยากมากที่นาโตจะเข้าแทรกแซงทางการทหารอย่างเปิดเผยในยูเครน เนื่องจากรัฐสมาชิกนาโตจำนวนมาก เป็นต้นว่า พวกชาติคู่ค้าสำคัญของรัสเซียอย่างเช่น อิตาลี และออสเตรีย ต่างยังไม่เห็นว่าแดนหมีขาวกำลังเป็นภัยคุกคามหนักถึงขั้นต้องเคลื่อนไหวทางการทหารเข้ารับมือ
รัสเซียคำรามจะปรับ “ยุทธศาสตร์การทหาร” รับมือนาโต
ทางด้านรัสเซีย ในวันอังคาร (2) มิคาอิล โปปอฟ รองประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติของแดนหมีขาว ระบุว่า การดำเนินการเช่นนี้ของนาโตซึ่งน่าจะมีการอนุมัติกันในระหว่างประชุมซัมมิตที่เวลส์ เป็นหลักฐานฟ้องว่า ผู้นำอเมริกาและนาโตต้องการสานต่อนโยบายเพื่อยั่วยุให้สถานการณ์กับรัสเซียตึงเครียดมากขึ้น และการที่โครงสร้างทางทหารของสมาชิกนาโต ขยับเข้าใกล้ชายแดนรัสเซียยิ่งขึ้น ตลอดจนการที่องค์การนาโตขยายตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ย่อมเป็นภัยคุกคามทางทหารซึ่งทำให้รัสเซียจะต้องนำมาพิจารณาประกอบร ะหว่างการปรับปรุง “หลักนิยมทางการทหาร” (military doctrine) หรือเอกสารยุทธศาสตร์การทหารของประเทศ ในช่วงปลายปีนี้
โปปอฟชี้ว่า ในหลักนิยมทางการทหารของรัสเซียฉบับปี 2010 ซึ่งเปิดทางให้แดนหมีขาวใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้ในกรณีที่เห็นว่าความมั่นคงแห่งชาติกำลังตกอยู่ในอันตรายร้ายแรง จะถูกนำมาปรับปรุงโฟกัสให้คมชัดขึ้นไปอีกในเรื่องเอาชนะนาโต ตลอดจนระบบป้องกันขีปนาวุธในยุโรประบบใหม่ของนาโต