xs
xsm
sm
md
lg

ลูกน้องโกหก เพราะทำความผิด จะเอาหูไปนา หรือเอาตาไปไล่ล่าดี โดย อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา กรรมการบริหาร บ.ออคิด สลิงชอท จำกัด
Q : พนักงานใหม่ทำงานผิดพลาด แต่เลือกที่จะโกหก เพื่อปกปิดความผิด เพราะกลัวจะมีผลต่อการพิจารณา ในช่วงทดลองงาน ความผิดพลาดไม่ได้มีผลเสียรุนแรง แต่อยากสร้างวัฒนธรรมที่กล้ารับผิดมากกว่าการโกหก ควรจะทำให้เขารู้ยังไงดี

A : ทราบไหมครับ ทำไมจึงเรียก ผู้ใต้บังคับบัญชาว่า "ลูกน้อง" โบราณท่านมีกุศโลบาย ที่เรียกว่า ”ลูกน้อง” ก็เพราะอยากให้หัวหน้า ปกครองดูแลพวกเขา เหมือนลูกเหมือนน้องไง

ดังนั้น หากลูกหรือ น้องทำผิดแล้วโกหก เราควรปล่อยไป หรือไล่ล่าดีละครับ ถ้าตอบคำถามเกี่ยวกับลูก กับน้องได้ก็ควรตอบคำถาม เกี่ยวกับลูกน้องได้เช่นเดียวกัน เป็นไปได้ไหมครับที่เด็กๆ ทำผิดแล้วไม่กล้าบอกพ่อแม่ อันที่จริงการที่ไม่บอก อาจไม่ใช่เพราะต้องการปกปิดความผิด แต่เป็นเพราะกลัวจะถูกทำโทษ จึงไม่กล้าพูด

ลูกน้องก็คงไม่ต่างกัน เป็นไปได้ไหม การที่ไม่ได้บอก เป็นเพราะกลัวจะถูกทำโทษมากกว่า จึงกล้าที่จะไม่พูดความจริง มันเป็นธรรมชาติของคนมิใช่หรือ

การแก้ปัญหาแบบนี้ มีหนทางเดียวครับ คือ เรียกมาพูดคุยและ บอกกันตรงๆ แต่ไม่ต้องดุ ไม่ต้องด่า ไม่ต้องขึ้นเสียง หรือตะคอก ใจเย็นๆ ค่อยๆ พูด แฟนๆ ประจำของคอลัมน์นี้ คงยังพอจำแนวทางการพูดให้ "ตรงแต่ไม่แรง" ได้ ถูกแล้วครับ ผมกำลังพูดถึงเทคนิค AEIOU

A (Assume Positive - คิดในแง่บวก)
โดยให้เริ่มต้นพูดทำนองว่า "พี่เข้าใจว่าน้องกลัวจะถูกทำโทษ"

E (Express Feeling - บอกความรู้สึกที่มีต่อเรื่องที่เกิดขึ้น)
"แต่พี่รู้สึกไม่ดี ที่น้องทำงานผิดพลาดแล้ว ไม่บอกตามความเป็นจริง"

I (Identify - บอกสิ่งที่ต้องการเห็น ให้ชัดเจน)
"พี่อยากให้น้องพูดความจริง แม้มันจะเป็น ข่าวร้ายก็ตาม"

O (Outcome - บอกประโยชน์ที่อีกฝ่ายจะได้รับ)
"การพูดความจริง แม้อาจถูกว่ากล่าวบ้าง ก็ไม่ได้เป็นเพราะโกรธเกลียดอะไร แต่เพื่อให้เกิดความระมัดระวัง
ไม่ทำผิดซ้ำอีก นอกจากนั้นการบอกความจริง จะทำให้พี่สามารถช่วยแก้ปัญหาให้ได้ทันเวลา"

U (Understanding - เปิดโอกาสให้อีกฝ่าย แสดงความคิดเห็น ต่อสิ่งที่ได้พูดไป)
"น้องคิดยังไงกับสิ่งที่พี่พูด"

ลองดูนะครับ ไม่ยาก คิดซะว่าพนักงานคนนี้เป็น "ลูก" เป็น "น้อง" เรากำลังทำหน้าที่ "ติเพื่อก่อ" หากปล่อยไปโดยไม่ทำอะไรเลย สุดท้ายจะกลายเป็นเหตุการณ์ "พ่อแม่รังแกฉัน" ไปซะฉิบ

อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
apiwut@riverorchid.com
กำลังโหลดความคิดเห็น