xs
xsm
sm
md
lg

อยากสร้างวัฒนธรรม การไม่ยืมเงินในที่ทำงาน โดย อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา กรรมการบริหาร สลิงชอทกรุ๊ป
Q : ดิฉันเป็นหัวหน้างาน ที่มีลูกน้องในทีมสามสี่คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงาน ที่มีรายได้เดือนละหมื่นกว่าบาท หลังสงกรานต์มานี้ พวกเขาใช้เงินเดินทาง กลับบ้านเกิดไปเที่ยวบ้าง จนเงินหมด ลูกน้องคนแรก เดินมายืมสองสามร้อย ด้วยเหตุผลว่า ไม่มีแบงค์ย่อย พอมีคนทราบว่าดิฉันยอมให้ยืมทีนี้เลยแอบผลัดกันมาเยี่ยมเยียน ที่โต๊ะเพื่อขอยืมเงิน พอไม่ให้ยืม ก็ปั้นปึ่งใส่หาว่าลำเอียง ทำยังไงดีคะ ถ้าอยากสร้างวัฒนธรรม การไม่ยืมเงินในที่ทำงาน

A : บางทีก็ต้องยอมรับว่า นิสัยที่ไม่ดีของลูกน้อง เกิดมาจากพฤติกรรมของหัวหน้า เคยอ่านนิทาน “พ่อแม่รังแกฉัน” ไหมครับ พ่อแม่ไม่ดุไม่ว่า เพราะกลัวลูกเสียใจ ทำอะไรไม่ถูก ก็ไม่ตักเตือนสั่งสอนเพราะกลัวลูกไม่รัก สุดท้ายกลายเป็นการทำร้ายลูกของตัวเอง

กรณีนี้ก็ไม่ต่างกัน เป็นเพราะความสงสารและ ความกังวล กลัวว่าลูกน้องจะไม่พอใจ เลยตัดสินใจลำบาก

หากอยากสร้างวัฒนธรรมแบบที่ว่านี้ ให้เกิดขึ้นจริง ต้องเริ่มต้นจากตัวคุณเองก่อน ทำใจให้เแข็ง เด็ดขาด คำไหนคำนั้น หากไม่เช่นนั้น ลูกน้องจะเรียนว่าคุณเป็นคนขี้สงสาร ออดอ้อนหน่อยก็ใจอ่อน

หลังจากนั้นเลือกทำบาง Option ดังต่อไปนี้

1. กำหนดกฎกติกาใหม่ ให้ชัดเจนว่า “คนที่ยังไม่คืน จะไม่ให้ยืมเพิ่ม และจะให้ยืมเท่าที่นำมาคืน” (เพื่อจำกัดความสูญเสีย ไม่ให้มากไปกว่าที่ให้ไปแล้ว)

2. ตั้งกองทุน (คล้ายกองทุนหมู่บ้าน ของทางราชการ) แล้วให้พนักงาน ช่วยดูแลกองทุนนี้กันเอง หากเงินกองทุนถูกยืมไปจนหมด ก็ต้องรอให้ผู้ที่ยืมเงินไป นำมาคืนเสียก่อน เพื่อนคนอื่นจะยืมต่อได้ (ใช้วิธีการสร้างความกดดัน ทางสังคม)

3. ประกาศให้ทราบโดยทั่วกันเลยว่า “ต่อไปนี้ จะไม่ให้พนักงานคนใด ยืมเงินอีก ไม่ว่าจะจำนวนเท่าไรและ เรื่องอะไร” (ตัดสินใจ Cut Loss เท่าที่เสียไปแล้ว)

4. จัดสัมมนา โดยเชิญวิทยากรที่มีความรู้ เกี่ยวกับการบริหารเงิน (ลองปรึกษาหน่วยงาน HR หรือฝ่ายการเงินดู หลายธนาคารมีบริการนี้สำหรับลูกค้า) มาสอนพนักงาน ถึงวิธีการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินอย่างมีประสิทธิภาพ (เพื่อหาทางป้องกันปัญหา ที่อาจเกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต)

5. ชักชวนให้พนักงาน มาแข่งขันกันออมเงิน โดยตั้งรางวัลเล็กๆ น้อยๆ สำหรับผู้ที่สามารถทำได้อย่างสม่ำเสมอ (เพื่อสร้างนิสัยใหม่ ที่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้น แทนที่นิสัยเดิม)

ลองดูครับ

อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
กรรมการบริหาร สลิงชอท กรุ๊ป
apiwut.p@slingshot.co.th
กำลังโหลดความคิดเห็น