ข่าวฆ่ายกครัว 3 ศพที่ จ.ปทุมธานี โดยฝีมือนายอัครวัฒน์ ศรพรหม ลูกชายคนโตของครอบครัว ที่ก่อเหตุฆาตกรรม พ่อแม่และน้องชายของตัวเอง สร้างความสะเทือนใจให้แก่สังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง หลายคนถึงกับตั้งคำถามว่าสังคมไทยวิปริตไปแล้วหรือ ทำไมลูกถึงฆ่าพ่อแม่ได้
แม้เราจะย้อนเวลาไปแก้ไขเคสที่เกิดขึ้นไม่ได้แล้ว แต่เราเชื่อว่าถ้าคุณได้เข้าใจและเรียนรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น กรณี “ปิตุฆาต-มาตุฆาต” รวมถึงการทำร้ายชีวิตคนอื่น ก็คงจะไม่เกิดขึ้นอีกแน่นอน
ปัญหาเด็กที่จากการเลี้ยงดู?
รศ.ดร.สุณีย์ กัลยะจิตร ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาอาชญาวิทยาการบริหารงานยุติธรรมและสังคม คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้วิพากษ์ถึงกรณีที่เกิดขึ้นของนายอัครวัฒน์ ศรพรหม ว่า
“ต้องดูพื้นฐานของครอบครัวเขา จากที่อ่านประวัติของนายอัครวัฒน์ จะเห็นว่าเขาเป็นลูกคนโต มีพี่น้อง 2 คน ส่วนพ่อแม่ถือว่าฐานะดี สามารถซัปพอร์ตลูกได้ จึงไม่น่าจะมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ พอย้อนมาดูพฤติกรรมของเด็ก ดูแล้วก็น่าจะสมบูรณ์แบบเหมือนครอบครัวอื่นๆ แต่เราไม่รู้ว่าตอนเขาอยู่กับครอบครัวเป็นอย่างไร เช่น พ่อแม่สอนลูกอย่างไร พ่อแม่ตั้งความคาดหวังอะไรกับลูกหรือเปล่า เพราะสิ่งที่เราพบว่าเป็นปัญหามากในครอบครัวปัจจุบันคือ คือ พ่อแม่อาจตั้งความหวังกับลูกมากไป
“ปกติหลักการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ไม่ว่าชาติไหนก็ตาม จะมีการเลี้ยงดูอยู่ 3 ประเภท คือ หนึ่ง เลี้ยงลูกแบบปล่อยปละละเลย สอง เลี้ยงลูกแบบประชาธิปไตย สาม เลี้ยงลูกแบบเข้มงวดกวดขัน ซึ่งเป็นระบบการคัดเกลาทางสังคม แต่เราไม่รู้ว่าพ่อแม่ครอบครัวนี้เลี้ยงลูกยังไง แต่ดูแล้วน่าจะมีแนวโน้มเข้มงวดกวดขันกับลูก เพราะพอลูกถูกแม่ต่อว่า พอลูกไม่ได้รถ เขาก็แสดงพฤติกรรมรุนแรงออกมา เพราะอาจรู้สึกทับถมอยู่ในใจมาก่อนแล้ว ซึ่งถ้าเขาสะสมมากๆ ก็เหมือนระเบิดเวลารอบึ้ม ดังนั้นเหตุผลแค่พ่อแม่ไม่ซื้อรถให้ ไม่น่าจะใช่เหตุผลที่แท้จริง คิดว่าน่าจะมีเหตุผลเชิงลึกมากกว่านั้น”
รศ.ดร.สุณีย์ยังบอกว่า พฤติกรรมปิตุฆาตพ่อแม่ของนายอัครวัฒน์นี้ ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นโรคจิตชนิดหนึ่งหรือไม่ เพราะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบและวินิจฉัยอย่างละเอียดก่อน แต่อย่างน้อยเชื่อว่านายอัควัฒน์น่าจะมีปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง
“คิดว่าถ้าเขาเป็นเด็กปกติ ก็คงไม่ทำอย่างนั้น เพราะเขาคงรักพ่อแม่ แต่เราไม่รู้ว่ากระบวนการขัดเกลาเลี้ยงดูของครอบครัวนี้เป็นแบบไหน ทุกอย่างเป็นเส้นตึงตลอดเวลาหรือเปล่า แล้วต้องเข้าใจวัยของเด็กด้วยว่าวัยนี้เป็นวัยที่อารมณ์รุนแรง เวลาที่ไม่ได้อะไรดังใจ อาจจะแสดงออกมารุนแรงได้” รศ.ดร.สุณีย์ กล่าว
ควรป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิด “ปิตุฆาต-มาตุฆาต”
รศ.ดร.สุณีย์ ระบุว่าสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ปิตุฆาต นอกจากครอบครัวจะมีบทบาทสำคัญแล้ว เพื่อน และคุณครูก็ควรมีส่วนหล่อหล่อมเด็กด้วยเช่นกัน
“นอกจากครอบครัวต้องขัดเกลาแล้ว โรงเรียนควรช่วยเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ถ้าครูสังเกตเห็นความผิดปกติ หรือเห็นอะไรแปลกๆ ก็ต้องคุยกับพ่อแม่ อีกอย่างคือ วัยเด็ก เพื่อนจะมีบทบาทมาก ดังนั้นผู้ใหญ่อาจใช้เพื่อนคอยสอดส่องพฤติกรรมของลูกก็ได้
“แล้วครอบครัวถือว่ามีบทบาทสำคัญที่สุด เราจึงควรสนับสนุนให้เด็กแสดงออกอย่างเหมาะสม แต่ปัญหาคือ พ่อแม่อาจเลี้ยงลูกแบบพ่อแม่รังแกฉัน ทำให้กลายเป็นปัญหาตามมา แล้วสังคมไทยปัจจุบันนี้กดดันมาก เด็กแข่งกันเรียน แข่งกันเรื่องวัตถุนิยม ผู้ใหญ่จึงควรสอนเด็กในเรื่องความพอเพียง สอนให้เขามองโลกตามความเป็นจริง ไม่เอาเปรียบคนอื่น สอนให้เด็กรู้จักหน้าที่ของตัวเอง โดยค่อยๆ สอน และมีเหตุผลกับลูกทุกครั้ง ถามว่าตีได้ไหม ตีได้ แต่ต้องอธิบายว่าทำไมถึงตี อย่าใช้อารมณ์ในการตัดสิน วัยเด็กเป็นวัยที่ไม่ค่อยใช้เหตุผล แต่เป็นวัยที่ใช้ความอยาก ความต้องการ ถ้าพ่อแม่ไม่สอนลูก มันจะสร้างความเครียด สร้างความสะสม พอวันหนึ่งเด็กรู้สึกระเบิดขึ้นมา เขาอาจจะไปทำร้ายชีวิตใครก็ได้”
“นอกจากนั้นพ่อแม่ควรสร้างช่องทางให้เด็กได้ระบายบ้าง เช่น ดูว่าลูกอยากเรียนหรืออยากทำอะไรเป็นงานอดิเรก แล้วคอยส่งเสริม ส่วนเด็กเองต้องหางานอดิเรกทำ หรือวิธีง่ายสุดคือคุยกับพี่น้อง เพราะถ้าวัยไม่ต่างกันมาก จะคุยกันได้ ถ้าเขาไปคุยกับเพื่อน ซึ่งเป็นวัยเดียวกัน อาจจะไม่สามารถให้คำปรึกษาที่ดีได้”
ปัญหาที่แท้จริงของเด็กที่กระทำความผิด
รศ.ดร.สุณีย์ ยังกล่าวว่าจากสถิติของเด็กเยาวชนที่กระทำผิด พบว่าปัญหาอันดับหนึ่งมาจากเรื่องยาเสพติด สอง คดีเกี่ยวกับลักทรัพย์ สาม คดีเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย
“เด็กและเยาวชนที่กระทำผิดมักบอกว่าเกิดจากคบเพื่อนไม่ดี เขาเลยไม่ดีตาม แต่จากที่ดิฉันศึกษากรณีของเด็กมานาน จึงสรุปได้ว่า สาเหตุจริงๆ แล้วเกิดจากตัวเด็กเองมากกว่า ไม่ใช่เพราะคนอื่นเลย บางรายรู้ก็ยังทำ
“นอกจากนั้นเรื่องน่าเศร้าที่พบคือ มีเคสเด็กผู้ชายวัยรุ่นคนหนึ่งที่ฆ่าแม่ หลังจากเขาผ่านกระบวนการฟื้นฟูจิตใจและโปรแกรมบำบัด เขาบอกกับเราว่า ถ้าวันนั้นเขาได้คิด และได้รู้จักพินิจพิจารณา เขาคงไม่ทำเหตุที่ทำให้เขาเสียใจที่สุดในชีวิต เพราะสุดท้ายเขาก็รู้ว่าคนที่รักเขามากที่สุดคือ คุณพ่อคุณแม่ ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ เขาก็ไม่อยากทำร้ายแม่อย่างนั้น ฟังแล้วสะเทือนใจมาก คิดว่าถ้าเขารู้จักพิจารณาไตร่ตรองก่อน เขาก็คงไม่เป็นทุกข์แบบนี้
“ดังนั้นอยากฝากบอกว่าครอบครัวเป็นสถาบันแรกที่จะดูแลลูก เมื่อคุณพ่อคุณแม่มีลูกมาแล้ว ก็ต้องรู้ว่าควรดูแลลูกยังไง การดูแลลูกไม่ใช่แค่ให้สุขสบาย แต่ดูแลอย่างไรเพื่อให้เขาอยู่ได้ด้วยความรักความอบอุ่น นี่เป็นสิ่งสำคัญ รัก เอ็นดู อบอุ่น จำไว้ว่าพ่อแม่คือโรลโมเดลของลูก ลูกที่ดีย่อมเกิดจากครอบครัวที่ดี” รศ.ดร.สุณีย์กล่าว
การสร้างความรักความอบอุ่นในครอบครัวอาจจะดูเป็นเรื่องยาก แต่เชื่อว่าถ้าพ่อแม่รู้จักใช้ “ความรัก” สื่อสาร ก็คงจะทำให้ลูกๆ ได้เข้าใจและเรียนรู้ที่จะมอบความรักให้ผู้อื่นเช่นกัน
เรื่องโดย ASTV ผู้จัดการ Live