xs
xsm
sm
md
lg

โจทย์ใหม่องค์กร เมื่อ ‘เงินเดือน-ตำแหน่ง’ ไม่ใช่คำตอบของทุกเจน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เตือนทุกองค์กรรับมือ “มนุษย์เงินเดือนยุคใหม่” เมื่อเงินเดือนและตำแหน่งไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของพนักงานทุกเจนเนอเรชั่นอีกต่อไป เอพีเอ็มกรุ๊ปเผยความแตกต่างแต่ละเจนฯ ที่องค์กรต้องรู้

โดย - อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอพีเอ็มกรุ๊ป จำกัด

หลายคนคงเคยชินกับคำว่า “มนุษย์เงินเดือน” หรือหมายถึงพนักงานที่ได้รับผลตอบแทน ค่าแรง เป็น “เงินรายเดือน” ซึ่งคนทั่วไปยังเข้าใจว่า ‘เงินเดือน’ คือคำตอบของพนักงานประจำ

แต่ทราบหรือไม่ว่าผลงานวิจัยที่ทยอยออกมาเรื่อยๆ ได้บ่งชี้ว่า การที่บริษัทตอบแทนค่าแรงพนักงานเป็นเงินเดือนเพียงอย่างเดียวเริ่มไม่ใช่คำตอบที่ตรงใจพนักงานยุคนี้อีกต่อไป
อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอพีเอ็มกรุ๊ป จำกัด
ปัจจุบันคนทั่วไปมีทางเลือกในการสรรหาแหล่งทำงานใหม่ๆ มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันภาวะเศรษฐกิจที่คลุมเครือและการเมืองที่ไม่แน่นอน ก็ทำให้มนุษย์เงินเดือนเกิดความเครียดและความกดดันในด้านการบริหารเวลาของตนเอง การทำงานให้มีประสิทธิภาพ และส่งมอบงานที่มีคุณภาพให้แก่บริษัทเช่นกัน

พนักงานจึงเริ่มหันมาให้ความสนใจในบรรยากาศของการทำงานที่มีผลต่อการสร้างความสมดุลให้กับจิตใจและร่างกายมากขึ้น (Work-Life Balance) โดยในส่วนของบริษัทเองก็ต้องมีการปรับตัวเพื่อสามารถดึงดูดใจให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท และพร้อมจะทุ่มเทเวลาในแต่ละวันที่จำกัดให้แก่การทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งแนวคิดนี้เรียกว่า Happy Workplace นั่นเอง

สื่งที่กำลังเกิดขึ้นคือ “เงินเดือน-ตำแหน่ง” ไม่ใช่คำตอบของทุกสิ่ง เห็นได้ว่าทุกวันนี้แต่ละองค์กรมีเจนเนอเรชั่นของพนักงานไม่ต่ำกว่า 3-4 รุ่น ซึ่งแต่ละรุ่นมีโจทย์ในการสร้างความผูกพันกับองค์กรแตกต่างกัน ก่อให้เกิดความต้องการที่ไม่ซ้ำแบบ เช่น ตำแหน่ง เงินเดือน แพคเกจท่องเที่ยวและสุขภาพ ประกันภัย เงินออมหลังเกษียน หรือแพคเกจที่ตอบโจทย์ในแง่ไลฟ์สไตล์

จึงไม่น่าแปลกใจหากเราจะเริ่มได้ยินพนักงานรุ่นใหม่พูดว่า “ไม่ขอเข้าบริษัท แต่จะทำงานส่งทางอีเมล” “ยอมเงินเดือนลดลงแต่มีเวลาได้ท่องเที่ยวมากขึ้น” หรือ พนักงานที่มีครอบครัวจะต้องการแพคเกจคุ้มครองสุขภาพเผื่อแผ่แก่ลูกและคู่สมรส และต้องการวันลาพักร้อนที่ตรงกับวันหยุดปิดเทอมของลูก หรือพนักงานที่อยู่ในวัย 50 ขึ้นไปจะเริ่มมองหาแพคเกจคุ้มครองสุขภาพและประกันรายได้หลังเกษียน เป็นต้น

ดังนั้น องค์กรจำเป็นจะต้องมองให้เห็นและเข้าใจในความแตกต่างของสมาชิกแต่ละคน อาทิ

Baby Boomers (พ.ศ. 2489-2507) ทุ่มเทให้งานอย่างเต็มที่ ให้ความสําคัญกับความสําเร็จ ต้องการความมั่นคง ต้องการชื่อเสียง

Gen X (พ.ศ. 2508-2522) เน้นผลลัพธ์ของงาน ทำงานโดยยึดตนเองเป็นหลัก ทํางานได้หลากหลาย ปรับตัวเข้ากับสภาวะต่างๆ ได้ง่าย

Gen Y (พ.ศ. 2523-2543) รักอิสระ ชอบงานท้าทาย อยากเห็นผลสำเร็จของงานทันที ทำงานเป็นทีม เก่งเรื่องเทคโนโลยี ปรับตัวได้เร็ว มีความคิดสร้างสรรค์ และมี network มาก

Gen Z (พ.ศ.2544 เป็นต้นไป) ยึดมั่นกับความโปร่งใส ยืดหยุ่นมีอิสระ และพึ่งตนเองในการทำงาน ต้องการทำงานที่ถูกใจตัวเอง ต้องการให้ความคิดเห็นของตัวเองถูกรับฟัง Social Networks ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องมีในที่ทำงาน

Cornell University มหาวิทยาลัยชื่อดังของอเมริกา จัดทำโครงการ Happy Workplace ในส่วนของช่วงเวลาและสถานที่ทำงานที่ตรงกับความต้องการของบุคลากรแต่ละคน เช่น การเริ่มงานในเวลาที่ต้องการ แต่ทั้งนี้ต้องทำงานให้ครบตามจำนวนชั่วโมงที่กำหนด การทำงานจากนอกสถานที่ อาทิ ที่บ้าน ร้านกาแฟ หรือ Coworking Space และการให้พนักงาน 2 คน “แบ่งงาน” 1 หน้าที่ ซึ่งรวมถึงการ”แบ่งเวลา”ในการทำงานและสวัสดิการอื่นๆ ด้วย

หากลองสังเกตให้ดีจะพบว่า หลายองค์กรที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจต่างให้ความสำคัญกับพนักงานในทุก Generations และเล็งเห็นถึงความสำเร็จที่ได้มาจากการทำงานร่วมกันอย่างราบรื่น แนวคิดการบริหารองค์กรแบบ “Happy Workplace“ หรือ “Work-Life Balance” จึงถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย เพื่อเป็นการสร้างความผูกพัน ระหว่างพนักงานกับองค์กร

ยกตัวอย่างในต่างประประเทศ ‘SAS Software’ บริษัทติดอันดับ 100 Best companies to work for มานานกว่า 13 ปี ได้มีการจัดทำ packageผลตอบแทนที่หลากหลายเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของพนักงานในแต่ละกลุ่ม เช่น พนักงานที่มีครอบครัว พนักงานที่เตรียมตัวเกษียณอายุ รวมถึง การดูแลหลังเกษียน พนักงานที่ใส่ใจในเรื่องของสุขภาพ

ในประเทศไทยก็เริ่มมีหลายบริษัทที่นำโครงการ Happy Workplace มาใช้ เช่น บริษัท เอพีเอ็ม กรุ๊ป ที่ปรึกษาเพื่อการพัฒนาองค์กรและบุคลากร มีการวิเคราะห์ความแตกต่างของแต่ละเจนเนอเรชั่น โดยอาศัยความร่วมมือจากพนักงานแต่ละเจนช่วยวางแผน และออกแบบแพคเกจ ใช้ระยะเวลานานกว่า 1 ปี จนได้ Package ที่หลากหลายและสามารถตอบสนองในสิ่งที่พนักงานแต่ละคนต้องการได้อย่างแท้จริง อาทิ

1. การปรับโครงสร้างค่าตอบแทนที่เป็นได้ทั้งตัวเงินและที่ไม่ใช่ตัวเงิน
2. ระบบการทำงานที่ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ
3. การปรับเปลี่ยนบรรยากาศภายในออฟฟิศให้น่าทำงานยิ่งขึ้น เช่น เพิ่มพื้นที่พักผ่อน ปรับห้องครัว เพิ่มมุมกาแฟ เป็นต้น
4. สร้างวัฒนธรรมที่ให้ความเคารพซึ่งกันและกัน (Honoring Culture)
5. การปรับเวลาการทำงานให้ตรงกับความต้องการของแต่ละคน อาทิ Full Time/Part Time/ Flexible Hour และอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งนี้ โดยให้พนักงานเลือกแพคเกจที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนมากที่สุด

แนวคิด Happy Workplace ถือเป็นแนวคิดที่น่าสนใจในการสร้างให้พนักงานรับรู้ถึงความรู้สึกที่องค์กรให้ความใส่ใจในตัวตนของพนักงาน ส่งผลให้พนักงานมีทัศนคติที่ดีต่อการปฏิบัติงาน พร้อมทุ่มเทให้กับองค์กรและส่งมอบงานที่มีคุณภาพ ช่วยพาองค์กรให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าร่วมกับองค์กรในทุกสถานการณ์

MnHrManagerOnline@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น