xs
xsm
sm
md
lg

ประเด็นปัญหาข้อกฎหมายของ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ 21 มกราคม 2557 และประกาศที่เกี่ยวข้อง

เผยแพร่:   โดย: ประมุท สูตะบุตร

ประมุท สูตะบุตร
อดีตผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย(อสมท)

I. พ.ร.ก.นี้ตราขึ้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2548 ตามมาตรา 218 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2548 อันเป็นวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ต่อมา พ.ร.ก.นี้ได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว ซึ่งโดยผลของรัฐธรรมนูญมาตรา 218 วรรคห้า บัญญัติว่า "ให้ พ.ร.ก.นั้นมีผลใช้บังคับเป็น พ.ร.บ.ต่อไป" อันเป็นถ้อยคำที่แตกต่างอย่างชัดเจนจากมาตรา 218 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ให้ใช้บังคับดังเช่น พ.ร.บ.ได้"

กรณีจึงมีประเด็นปัญหาในส่วนนี้ว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวยังคงใช้เป็น พ.ร.ก.อยู่ตลอดมา หาได้ใช้บังคับเป็น พ.ร.บ.ต่อไปตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 18 วรรคห้า บัญญัติแต่ประการใดไม่

II. ตามคำปรารภของ พ.ร.ก.นี้ วรรคสาม บัญญัติว่า "พระราชกำหนดนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 31 มาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 37 มาตรา 39 มาตรา 44 มาตรา 48 มาตรา 50 และมาตรา 51 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย"

อันเป็นกรณีที่เกี่ยวกับสิทธิพื้นฐานของบุคคลตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ในเรื่องต่างๆ ดังนี้

1. มาตรา 31 - สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย

2. มาตรา 35 - เสรีภาพในเคหสถาน

3. มาตรา 36 - เสรีภาพในการเดินทาง และเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร

4. มาตรา 37 - เสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางที่ชอบด้วยกฎหมาย

5. มาตรา 39 - เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น

6. มาตรา 44 - เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

7. มาตรา 48 - สิทธิในทรัพย์สิน

8. มาตรา 50 - เสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพ และการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม

9. มาตรา 51 - การเกณฑ์แรงงานจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาเป็นการฉุกเฉิน หรือโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งให้กระทำได้ในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะการสงครามหรือการรบ หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก

III. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ได้ถูกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ให้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และได้มีรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2549 ประกาศให้มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549

IV. เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 ได้มีการประกาศใช้บังคับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 สิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามมาตราต่างๆ ตาม II. ซึ่งได้ถูกประกาศให้สิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 ได้ถูกบัญญัติขึ้นใหม่ ดังนี้

1. มาตรา 31 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เปลี่ยนเป็น มาตรา 32 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

2. มาตรา 35 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เปลี่ยนเป็น มาตรา 33 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

3. มาตรา 36 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เปลี่ยนเป็น มาตรา 34 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

4. มาตรา 37 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เปลี่ยนเป็น มาตรา 36 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

5. มาตรา 39 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เปลี่ยนเป็น มาตรา 45 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

6. มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เปลี่ยนเป็น มาตรา 63 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

7. มาตรา 48 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เปลี่ยนเป็น มาตรา 41 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

8. มาตรา 50 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เปลี่ยนเป็น มาตรา 43 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

9. มาตรา 51 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เปลี่ยนเป็น มาตรา 38 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

โดยที่มาตรา 6 บัญญัติว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้”

มาตรา 29 บัญญัติว่า

“การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กาหนดไว้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสาคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้

กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป และไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ทั้งต้องระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อานาจในการตรากฎหมายนั้นด้วย

บทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสองให้นำมาใช้บังคับกับกฎที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายด้วยโดยอนุโลม”

และมาตรา 181 บัญญัติว่า

“คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ แต่ในกรณีพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 180 (2) คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็น ภายใต้เงื่อนไขที่กาหนด ดังต่อไปนี้

(1) ไม่กระทำการอันเป็นการใช้อำนาจแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

(2) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

(3) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป

(4) ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้งและไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด”

V. ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการแก้ไข พ.ร.ก.นี้ให้เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2550 แต่ประการใด

VI. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 184 วรรคห้า บัญญัติว่า "ถ้าสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอนุมัติพระราชกำหนดนั้น หรือถ้าวุฒิสภาไม่อนุมัติและสภาผู้แทนราษฎรยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ให้พระราชกำหนดนั้นมีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป" แต่ พ.ร.ก.นี้ยังคงถูกรัฐบาลนี้ใช้บังคับเป็นพรก.อยู่เช่นเดิม

VII. โดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 จึงต้องถือว่า พ.ร.ก.นี้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 29 มาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 38 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 45 มาตรา 63 มาตรา 181(2)และ(4) และมาตรา 184 วรรคห้า ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 26 มาตรา 27 มาตรา 28 วรรคสี่ มาตรา 68 มาตรา 78 มาตรา 81 และมาตรา 87 จึงใช้บังคับมิได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 6

VIII. ประกาศและคำสั่งต่างๆ อันเป็นกฎ ที่อ้างอาศัย พ.ร.ก.ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นอันใช้บังคับมิได้โดยนัยเดียวกัน และไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 15-18/2556

IX. หากศาลจะใช้บทบัญญัติแห่ง พ.ร.ก.นี้บังคับแก่คดีใด (รวมทั้งการขอให้ศาลมีคาสั่งอนุมัติหมายจับ) คู่ความอาจใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 211 โต้แย้งพร้อมเหตุผลว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดาเนินการพิจารณาต่อไปได้แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
กำลังโหลดความคิดเห็น