xs
xsm
sm
md
lg

นโยบาย “ปักหมุด” ในเอเชียของ “โอบามา” กำลัง “เสียหาย” เพราะ “พรรคเดโมแครต” ของเขาเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฮร์รี รีด ผู้นำเสียงข้างมากของวุฒิสภา ซึ่งเป็นสมาชิกคนสำคัญที่สุดของพรรคเดโมแครตในสภาสูง ดังเห็นใน “ภาพจากแฟ้ม” ที่ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมานี้ ประกาศคัดค้านร่างกฎหมายให้ “อำนาจฟาสแทร็ก” แก่รัฐบาล จนกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเจรจาทำข้อตกลง TPP ของคณะรัฐบาลโอบามา
เอพี/เอเจนซีส์ – นโยบายว่าด้วยเอเชียของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ถูกตีกระหน่ำอย่างหนักหน่วงในสัปดาห์นี้ โดยที่แรงโจมตีมาจากสมาชิกคนสำคัญในพรรคเดโมแครตของเขาเสียด้วย

แฮร์รี รีด ผู้นำของฝ่ายเดโมแครตในวุฒิสภาสหรัฐฯ ประกาศว่าเขาคัดค้านร่างกฎหมายฉบับหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ต่อการทำคลอดข้อตกลงการค้าระหว่างชาติต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งนี้ข้อตกลงดังกล่าวซึ่งมีชื่อว่า “ความตกลงหุ้นส่วนภูมิภาคแปซิฟิก” (Trans-Pacific Partnership หรือ TPP) นี้ ถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดทีเดียว ในนโยบายของโอบามาที่จะทำให้อเมริกามีปฏิสัมพันธ์กับเอเชีย อย่างแข็งแกร่งเหนียวแน่นมากขึ้น

ตั้งแต่ที่โอบามาเสนอนโยบายนี้ออกมา ความสนใจส่วนใหญ่ที่สุดแล้วเพ่งเล็งอยู่ที่แง่มุมทางด้านการทหาร เหตุผลสำคัญก็เนื่องจากนโยบายนี้มีการระบุถึงการปรับสมดุลในการจัดลำดับความสำคัญทางการทหารของอเมริกา ภายหลังที่สหรัฐฯได้เข้าไปพัวพันอยู่ในสงครามราคาแพงในอัฟกานิสถานและอิรักตลอดระยะเวลา 1 ทศวรรษที่ผ่านมา

แต่พวกเจ้าหน้าที่อเมริกันกำลังเน้นย้ำมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า นโยบายการต่างประเทศที่จะให้สหรัฐฯกลับมา “ปักหมุด” ในเอเชียของโอบามานี้ แท้จริงแล้วจุดสำคัญอยู่ที่การมุ่งเพิ่มเติมเสริมส่งฐานะความเป็นมหาอำนาจผู้ทรงความสำคัญที่สุดในย่านเอเชีย-แปซิฟิกของอเมริกาให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นไปอีก ในขณะที่จีนกำลังก้าวผงาดแสดงความแข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ พร้อมกันนั้นวอชิงตันก็จะมุ่งหาทางใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจที่กำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของภูมิภาคแถบนี้ด้วย

การเน้นย้ำเช่นนี้ของเจ้าหน้าที่อเมริกัน ย่อมหมายถึงการเชิดชูความสำคัญของข้อตกลง TPP นั่นเอง TPP นั้นเป็นข้อตกลงด้านการค้าเสรีที่ตั้งจุดมุ่งหมายเอาไว้อย่างสูงลิบ ซึ่ง 12 ประเทศที่มีทั้งสหรัฐฯและญี่ปุ่น ทว่าไม่มีจีนรวมอยู่ด้วย กำลังเจรจาจัดทำกันอยู่ ทั้งนี้ 12 ชาติดังกล่าวนี้เป็นผู้สร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) รวมเท่ากับประมาณ 40% ของโลกทีเดียว

วิกเตอร์ ชา ผู้อำนวยการด้านเอเชียศึกษา ของสถาบันกิจการการต่างประเทศ (School of Foreign Service) แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ในกรุงวอชิงตัน เป็นผู้หนึ่งที่มีความเห็นในแนวทางนี้ เมื่อเขากล่าวว่า “การปักหมุดในตอนนี้ก็คือ TPP” ทั้งนี้ เขาพูดเช่นนี้ระหว่างการประชุมในสัปดาห์นี้ขององค์การคลังสมองแห่งหนึ่ง ซึ่งกำลังถกเถียงแสดงทัศนะกันในเรื่องนโยบายของสหรัฐฯและทิศทางอนาคตสำหรับเอเชียในปี 2014

นโยบายว่าด้วยเอเชียของคณะรัฐบาลโอบามา กำลังได้รับความสนใจจากพวกประเทศเอเชียที่รู้สึกวิตกกังวลต่อการก้าวผงาดขึ้นมาของแดนมังกร ตลอดจนต่อการยืนกรานอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนต่างๆ อย่างแข็งกร้าวของจีน ทั้งนี้ตั้งแต่สมัยแรกแห่งการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของโอบามา สหรัฐฯก็ประสบความคืบหน้าไม่ใช่น้อยในการผลักดันนโยบายดังกล่าวนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเสริมสร้างเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ความเป็นพันธมิตรที่มีอยู่แต่เดิมแล้วกับชาติอย่างเช่นฟิลิปปินส์ , การสร้างความผูกพันอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นกับประเทศอย่างอินโดนีเซียและเวียดนาม, ตลอดจนการจับมือเป็นเพื่อนมิตรกับรัฐนอกคอกในอดีตเฉกเช่นพม่า

อย่างไรก็ดี พร้อมๆ กันนี้ก็มีความผิดพลาดบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นเช่นกัน การเมืองที่เต็มไปด้วยการเผชิญหน้าอย่างโกรธเกรี้ยวในสหรัฐฯเอง บังคับให้โอบามาต้องทอดทิ้งยกเลิกการเข้าร่วมการประชุมซัมมิตในเอเชียตะวันออกเมื่อปลายปีที่ผ่านมา อีกทั้งกำลังทำให้บางฝ่ายตั้งคำถามว่าเขามีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวแค่ไหนในการมีปฏิสัมพันธ์กับภูมิภาคแถบนี้ ขณะเดียวกันการที่สหรัฐฯส่งกำลังทหารใหม่ๆ เข้าประจำการเพิ่มเติมในเอเชีย-แปซิฟิก เป็นต้นว่า กำลังนาวิกโยธินไม่กี่ร้อยคนในออสเตรเลีย, การมีเรือรบใหม่ๆ ไปผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนผ่านทางสิงคโปร์ ก็แทบไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรความมั่นคงของภูมิภาค ทว่ากลับกลายเป็นเครื่องสนับสนุนข้อกล่าวหาของจีนที่ว่าสหรัฐฯกำลังใช้นโยบายมุ่งปิดล้อมแดนมังกร

ระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์แถลงนโยบายประจำปี “สเตท ออฟ ดิ ยูเนียน” เมื่อวันอังคาร (28 ม.ค.) โอบามาแทบไมได้เอ่ยถึงเอเชียเอาเลย จึงยิ่งเพิ่มความรับรู้ความเข้าใจของบางกลุ่มบางวงการที่ว่า การปักหมุดในเอเชียนั้น ได้หลุดออกจากวาระทางการเมืองของวอชิงตันเสียแล้วในสมัยที่ 2 แห่งการเป็นประธานาธิบดีของโอบามา

อย่างไรก็ตาม เขาได้เร่งเร้าให้ทั้งพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันในรัฐสภา ยินยอมอนุมัติร่างกฎหมายให้อำนาจ “ฟาสต์แทร็ก” แก่รัฐบาล ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำให้ข้อตกลง TPP ตลอดจนข้อตกลงการค้าที่สหรัฐฯกำลังเจรจาอยู่กับสหภาพยุโรป (อียู) บรรลุผลสำเร็จขึ้นมาได้ ทั้งนี้เขาพยายามย้ำว่า ข้อตกลงเหล่านี้จะเปิดตลาดใหม่ๆ และสร้างงานให้แก่ชาวอเมริกัน

สิ่งที่เป็นปัญหาหนักของโอมามาในก็คือ มีสมาชิกรัฐสภาพรรคเดโมแครตของเขาเองจำนวนมากทีเดียวที่กำลังแสดงท่าทีคัดค้านเรื่องนี้ ทั้งนี้หากรัฐสภาอนุมัติอำนาจฟาสต์แทร็ก ก็จะทำให้รัฐบาลอเมริกันสามารถไปเจรจากับต่างประเทศจนกระทั่งได้เป็นข้อตกลงออกมา จากนั้นจึงนำกลับมาขอให้รัฐสภาพิจารณาอนุมัติ โดยที่รัฐสภามีสิทธิเพียงลงคะแนนว่าจะรับหรือไม่รับ ทว่าไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของข้อตกลงเหล่านี้

ส.ว.รีด ผู้นำสมาชิกเสียงข้างมากของวุฒิสภา ออกมาแถลงในวันพุธ (29 ม.ค.) ว่า เขาเองคัดค้านการให้อำนาจฟาสต์แทร็กแก่รัฐบาล และสมาชิกรัฐสภาคนไหนก็ตามทีไม่ควรที่จะพยายามผลักดันเรื่องนี้ในเวลานี้ คำพูดเช่นนี้ย่อมเป็นการบ่งบอกว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวที่เพิ่งยื่นเสนอต่อรัฐสภาเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน จะยังไม่สามารถคืบหน้าอะไรได้ในเร็ววันนี้
ภาพจากแฟ้มที่ถ่ายเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2513 ขณะที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา (กลาง) กำลังพบปะหารือกับเหล่าวุฒิสมาชิกคนสำคัญของพรรคเดโมแครต ที่ห้องทำงานรูปไข่ในทำเนียบขาวของเขา  ทั้งนี้โอบามามีงานหนักที่จะต้องเกลี้ยกล่อมสมาชิกรัฐสภาในพรรคของเขาเอง ให้เห็นดีเห็นงามกับการผ่านร่างกฎหมายอนุมัติ “อำนาจฟาสต์แทร็ก” ให้รัฐบาล
ขณะที่ผู้ร่วมเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้คนหนึ่ง คือ บุคคลอาวุโสของเดโมเครต ได้แก่ ส.ว.แมกซ์ บาวคัส ผู้ที่โอบามาเสนอชื่อให้เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำจีนคนต่อไป ทว่าสมาชิกรัฐสภาจำนวนมากของพรรคนี้กลับกำลังจับมือกับพวกสหภาพแรงงาน ในการคัดค้านความเคลื่อนไหวที่พวกเขามองว่าจะทำให้อเมริกาลดกำแพงทางการค้าให้ต่ำลง ทั้งนี้พวกเขาแสดงความวิตกว่า การทำเช่นนี้รังแต่จะทำให้ชาวอเมริกันต้องตกงานมากขึ้น เนื่องจากต้องเผชิญการแข่งขันหนักหน่วงยิ่งขึ้น

ดังนั้น ท่ามกลางบรรยากาศโดยทั่วไปของการแยกขั้วแบ่งข้างกันอย่างขมขื่นระหว่างเดโมแครตกับรีพับลิกันในวอชิงตัน เฉพาะประเด็นเรื่องอำนาจฟาสต์แทร็กนี้ โอบามากลับตกอยู่ในฐานะที่แปลกประหลาดเอาการ กล่าวคือ หนึ่งในนโยบายสำคัญของเขานี้ มีเสียงสนับสนุนจากพวกปรปักษ์ทางการเมืองของเขาซึ่งก็คือรีพับลิกัน มากยิ่งกว่าจากพรรคของเขาเอง

แต่พวกผู้นำของรีพับลิกันในรัฐสภานั้น ใช่ว่าจะปักใจหนุนหลังโอบามาในเรื่องนี้อย่างเต็มอกเต็มใจ โดยที่พวกเขากำลังกล่าวหารัฐบาลว่าล้มเหลวที่จะทำงานในส่วนของตนเอง ในการระดมความสนับสนุนจากชาวพรรคเดโมแครตในรัฐสภา

ทั้งนี้ภารกิจของคณะรัฐบาลโอบามาในการเกลี้ยกล่อมสมาชิกรัฐสภาร่วมพรรค ดูจะเพิ่มความยุ่งยากมากขึ้นอีก จากการที่จะมีการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ซึ่งจะมีทั้งการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรทั้งสภา และเลือกตั้งวุฒิสมาชิกราว 1 ใน 3

กำหนดการเลือกตั้งที่ขยับใกล้เข้ามา ทำให้พวก ส.ส. และ ส.ว.เพิ่มความระมัดระวังตัวและหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมออกกฎมายใดๆ ที่อาจจะสร้างความเสียหายให้แก่โอกาสในการได้รับเลือกตั้งอีกสมัยของพวกเขา
กำลังโหลดความคิดเห็น