เผย 7 เคล็ดลับการบริหารจัดการ เพื่อให้คนทำงานและผู้บริหารอยู่เหนืออำนาจเงินและใช้เงินอย่างเกิดประสิทธิผล สามารถสร้างกำไรแบบไม่มีวันขาดทุน เพื่อให้กิจการอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดและสังคมอันโหดร้าย ด้วยการแปรเปลี่ยนความพยายามของพนักงานทุกคนอย่างมีประสิทธิภาพ ให้กลายเป็น “เม็ดเงิน”
ฮาเซงาวะ คะซุฮิโระ ซีอีโอและอดีตประธานที่ปรึกษา บริษัท นิคอน-เอสซีลอร์ ซึ่งสามารถพลิกฟื้นบริษัทที่ขาดทุนถึง 5,000 ล้านบาท ให้กลับมาคืนทุนได้ภายในปีเดียว นอกจากนี้ ยังเป็นที่ปรึกษาธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญการพลิกฟื้นบริษัทมาแล้วกว่า 2,400 แห่งให้กลับมามีกำไร เปิดเผยถึงแนวทางที่เป็นเหมือนเคล็ดลับ 7 ประการสำคัญ เพื่อให้ผู้บริหารเรียนรู้การบริหารเงินและคนอย่างคุ้มค่า ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างรายได้ที่งอกงามและยั่งยืน
การเข้าใจถึงแก่นแท้ของ “เงิน” กับการบริหารการทำงานและการใช้จ่ายเงินให้มีกำไร ไม่ขาดทุน ด้วยแนวทางที่เป็นเหมือนเคล็ดลับทั้ง 7 ประการ ประกอบด้วย ประการแรก คนที่สำเร็จด้วยเงิน กับคนที่ล้มเหลวด้วยเงิน สำหรับเคล็ดลับนี้มีเรื่องแรกที่ต้องเข้าใจคือ “มนุษย์มีจิตใจ ความรู้สึกขอบคุณจึงสร้างเงินได้” เพราะว่ากันว่า “จงสร้างมนุษย์ด้วยคำชม” ซึ่งแน่นอนว่า คนเราชอบให้ผู้อื่นชมมากกว่าตำหนิ และยังเป็นการแสดงถึงความรู้สึกดีๆ ต่อผู้อื่นอีกด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มาขอยืมเงินด้วยกิริยานอบน้อมและใบหน้าที่ยิ้มแย้มผิดธรรมชาติ ส่วนใหญ่ภายในจิตใจของพวกเขาไม่ได้มีรอยยิ้มเหมือนกับใบหน้า นี่ไม่ใช่ศาสตร์ในการอ่านใจคน แต่เป็นที่แน่ใจได้เลยว่า สำนวน “หน้าไหว้หลังหลอก” หรือ “ปากหวานก้นเปรี้ยว” นั้น ใช้ได้เสมอกับกรณีแบบนี้ ผมเชื่อเกินกว่า 90% ว่า ถ้าเป็นเรื่องเงิน นิสัยคนจะ ออกมาทั้งทางสายตาและทางปาก”
“ลองสังเกตหน่วยงานที่มีผลงานดี จะเห็นว่าหัวหน้าหน่วยงานซึ่งเป็นผู้นำ มักไม่ใช่คนช่างติ แต่กลับเป็นคนที่เก่งชมเชย แต่จากประสบการณ์ของผมเอง แค่เป็นคนปากหวาน คอยแต่ชมเชยอย่างเดียวก็ไม่เข้าท่า พูดอีกอย่างก็คือ “แค่ชมยังไม่พอ” ต้องให้”ความรู้สึกขอบคุณ”ด้วย ลองดูนักขายมือหนึ่งทั้งหลาย เราจะเห็นว่าแม้เวลาเขาคุยโทรศัพท์กับลูกค้า ก็ยัง “ขอบคุณนะครับ” “ต้องขอโทษจริงๆ นะครับ” พร้อมกับโค้งตัวงอกันทั้งนั้น นั่นเป็นเพราะว่าเขามี “สำนึกแห่งการขอบคุณ” นั่นเอง”
เรื่องนี้เถ้าแก่กับลูกจ้างหรือเจ้านายกับลูกน้องก็เป็นแบบเดียวกัน คำพูดที่ว่า “ขอบใจมากนะที่ช่วยกัน” จะทำให้จิตใจผู้ฟังฮึกเหิม แม้เป้าหมายจะให้ความรู้สึกว่า “โหดเหมือนกัน” แต่ก็มีกำลังใจจะทำให้สำเร็จ เพราะบริษัทจะสร้างผลกำไรอันยิ่งใหญ่ได้ ต้องมีพนักงานที่จิตใจฮึกเหิม
เรื่องที่สองคือ “เงินเป็นของแปลก เวลายืมมา เหมือนได้กำไร เวลาใช้คืนไป เหมือนขาดทุน” มีภาษิตบทหนึ่งของญี่ปุ่นกล่าวว่า “เวลายืมเงินเรา หน้าเขาระรื่น ถึงเวลายื่นคืนเรา หน้าเขาเป็นยักษ์เป็นมาร”
“คนที่มาขอยืมเงินจะนอบน้อมกันทั้งนั้น เวลาโทรศัพท์มาหาก็จะพูดคำหวานๆ สุภาพ ต่างจากปกติ “เอ้อ เป็นยังไงบ้าง ไม่ได้เจอกันนาน คิดถึงนะ สบายดีเหรอ” จากประสบการณ์ของผมเอง คนที่มีท่าทีเปลี่ยนไปเพราะเงินนั้น ไม่น่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นการขอยืมหรือให้ยืม
เคล็ดลับประการที่สอง คนที่ประสบความสำเร็จ มักเปลี่ยน “ข้อมูล” เป็น “เงิน” ได้เก่ง ในเรื่องนี้มีเรื่องที่ต้องตระหนักคือ “งบดุลและงบกำไรขาดทุนเป็นเหมือนรายงานวินิจฉัยโรคเบื้องต้นของบริษัท” เพราะสิ่งผิดปกติจะแสดงให้เห็นที่นี่
“ทำไมผมถึงฟื้นฟูกิจการของบริษัท 2,400 กว่าแห่งได้? เหตุผลง่ายๆ ก็คือ เพราะผมอ่านงบดุลและงบกำไรขาดทุนของบริษัทได้อย่างถ่องแท้ เรื่องง่ายๆ แค่นี้เอง แต่ผู้บริหารของบริษัทหลายแห่งกลับมองข้าม ไม่ยอมอ่าน “รายงานการตรวจสุขภาพ” ทั้งสองนี้ของบริษัท เมื่อค้นหาสาเหตุของโรคไม่เจอ การขาดทุนยิ่งพอกพูนขึ้นแน่นอน อย่างในงบดุลจะมีอัตราส่วนในส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวม หรืออีกตัวหนึ่งคืออัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว เป็นต้น ถ้าจากงบกำไรขาดทุนก็อย่างเช่น อัตราส่วนกำไรขั้นต้น และกำไรจากการดำเนินงาน”
ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงสุขภาพของธุรกิจ เหมือนกับการตรวจเลือดหาระดับน้ำตาล ระดับคลอเลสเตอรอล ฯลฯ ถ้าหมั่นติดตามตัวเลขเหล่านี้เอาไว้ ก็จะรู้ตัว คอยระมัดระวังสุขภาพอยู่เสมอ แม้เกิดปัญหาก็จะแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว แต่สำหรับผู้บริหารที่คอยสอดส่องแต่กำไรขั้นต้นกับกำไรสุทธิ ก็เหมือนคนที่เอาแต่วัดส่วนสูงกับชั่งน้ำหนัก แล้วหวังว่าสุขภาพจะดีไปด้วย เมื่อยังหนุ่มแน่นไม่มีปัญหาสุขภาพก็คงไม่เป็นอะไร แต่สำหรับโลกธุรกิจทุกวันนี้ที่ตลาดมีขนาดเล็กลงทุกวัน เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นตลอดเวลา บริษัทก็อาจตายกะทันหันได้เหมือนกัน
“ตอนที่ผมเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของนิคอน เอสซีลอร์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตแว่นตา ผมจะเอาหัวข้อหลากหลายด้านกลยุทธ์เขียนลงในงบการเงินต่างๆ ด้วย เรียกว่า “บัญชีกลยุทธ์บริหาร” แล้วให้พนักงานลงรายละเอียด กล่าวได้ว่า แม้หมอจะให้ความสนใจตัวเลขต่างๆ ที่แสดงถึงอาการของโรค แต่ถ้าผู้ป่วยเองไม่สนใจเลย โรคอะไรก็ไม่หายทั้งนั้น หากในบริษัททุกคนรวมกันเป็นหนึ่ง เข้าใจความหมายของตัวเลขทั้งหลาย ก็จะลดการขาดทุนได้ภายในสามเดือน”
เคล็ดลับประการที่สาม แค่ประหยัดหรือลดพนักงาน ใช่จะสร้าง “กำไร” ได้ ในเรื่องนี้ต้องระลึกให้มากคือ “การลดพนักงานไม่ช่วยให้ลดการขาดทุน“
“ความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งที่ผมซ่อนไว้ในใจคือ ผมแทบไม่เคยให้พนักงานออกเลย แม้จะพูดได้ไม่เต็มปากนักว่า “ครั้งเดียวก็ไม่เคย” เพราะมีบางคนที่หมดไฟจริงๆ หรือสร้างผลงานไม่ได้เลย ผมก็ให้ออกไปบ้างเหมือนกัน แต่อย่างน้อย ผมก็ไม่เคยให้ใครออกด้วยเหตุผลอยากลดต้นทุน ลดการขาดทุน”
“ไม่ได้หมายความว่าผมเป็นคนใจดี แม้ดูผิวเผินการลดคนจะลดการขาดทุนได้ แต่กำไรก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหรอก ในทางตรงกันข้าม ภายในบริษัทกลับรู้สึกไม่มั่นคง เกิดความสงสัย และเสี่ยงต่อการเกิดความวุ่นวายในสายการผลิตอีกด้วย”
ในทางกลับกัน หากทำให้พนักงานที่เหน็ดเหนื่อยกับภาวะขาดทุนมีความหวังขึ้นมาได้ ใช้วิธีสร้างแรงจูงใจให้กลับมาฮึดสู้จะได้ผลมากกว่า ควรให้พนักงานเห็นแนวทางการฟื้นฟู เพื่อลงมือทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งจะช่วยลดการขาดทุนได้รวดเร็วขึ้นมาก ในบริษัทเองก็จะเกิดความสามารถในการแข่งขันขึ้นมาอีกด้วย
ถ้าหากผู้บริหารเห็นพนักงานเป็น “ต้นทุน” จะไม่มีทางหลุดพ้นจากบ่วงของการขาดทุน ต้องมองพนักงานเป็นทรัพย์ เป็นพลังที่จะสร้างสรรค์คุณค่าแก่บริษัท ผู้บริหารต้องสร้างระบบที่จะใช้พลังนั้นให้ได้เต็มที่ เพราะเป็นหน้าที่ของผู้บริหาร
เคล็ดลับประการที่สี่ อย่าเอาแต่คิด จงลงมือทำ ถ้าไม่ทำก็ไม่ได้เงิน ในเรื่องนี้คือการต้องรู้ว่า การสร้างกำลังใจให้พนักงานเป็นการสร้างผลกำไร ผู้บริหารที่ไม่เข้าใจเรื่องนี้ถือว่าแย่มาก
“มีผู้จัดการจำนวนมากที่คอยขโมยผลงานลูกน้องหรือยัดเยียดความรับผิดชอบให้ลูกน้อง ยิ่งผู้บริหารที่บอกว่า “บริษัทเราไม่มีพนักงานที่หมดไฟขนาดนั้นหรอก” ก็ยิ่งเป็นสัญญาณอันตราย อาจถูกผู้บริหารระดับกลางหลอกเอาก็ได้”
คนเราบางครั้งก็เกิดกิเลส เกิดโมหะทิฐิ ไปแย่งผลงานคนอื่นหรือยัดเยียดความรับผิดชอบให้ลูกน้องบ้างเหมือนกัน บางครั้งอาจได้ยินพนักงานบางคนไปบ่นเจ็บใจตามร้านเหล้าข้างบริษัทว่า “แย่จริงๆ โดนแย่งซีนเด็ด กลายเป็นเตะหมูเข้าปากหมาไปเลย” หรือบางที “ทำกันอย่างนี้มันปิดประตูตีแมวชัดๆ”
เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเป็นประจำในชีวิตประจำวัน แต่ผู้บริหารที่ไร้ความสามารถจะไม่ค่อยรู้สึกกับเรื่องทำนองนี้ กลับเชื่อคำพูดของผู้จัดการระดับกลาง คิดว่า “คนนี้เก่ง ผลงานออกมาดีมาก” แล้วไปให้รางวัลกับคนโกหก อย่างนี้บรรยากาศการทำงานของบริษัทจะอึมครึม ขาดขวัญและกำลังใจอย่างร้ายแรง
เรื่องแบบนี้ค่อนข้างจะรู้สึกยากอยู่เหมือนกัน เพราะผู้จัดการที่ให้ร้ายแก่ลูกน้องจะคอยเป่าหูเถ้าแก่ ปกป้องตัวเองไว้ก่อนว่า “คนนั้นชอบแก้ตัวประจำ วันๆ เอาแต่โทษโน่นโทษนี่ อย่าไปเชื่อเป็นดีที่สุด” ถ้าปล่อยให้คนสอพลอเหล่านี้เติบโตในองค์กรได้ แล้วพนักงานคนอื่นจะคิดอย่างไร “ฉันเองก็เอาอย่างหัวหน้า คอยแย่งผลงานคนอื่นจะได้ได้ดี” หรือไม่ก็ “อุตส่าห์สร้างผลงาน เดี๋ยวก็โดนคนแย่งไป ยิ่งทำยิ่งขาดทุน” ท้ายที่สุดก็ไม่มีใครยอมทำงาน
เคล็ดลับประการที่ห้า บริษัทที่เสียดายโอที ไม่มีทางอยู่รอด ในเรื่องนี้ผู้บริหารมีสิ่งที่ต้องนำไปปฎิบัติคือทำธุรกิจต้องรวดเร็ว และเวลาออกคำสั่งอย่าลืม 3 ข้อนี้
สิ่งสำคัญของเคล็ดลับนี้อยู่ที่ต้องรู้ว่า พื้นฐานทางธุรกิจคือต้องตัดสินใจเร็ว และลงมือปฏิบัติทันที เท่านี้เองคือเทคนิคที่ดีที่สุดที่จะไม่ปล่อยให้โอกาสงามๆ หลุดลอยไป พร้อมกันนั้นก็ต้องลดความเสี่ยงให้ต่ำที่สุดอีกด้วย แต่ว่าในพื้นที่ปฏิบัติงานแล้ว ถ้าเอาแต่ทำอะไรรวดเร็วอย่างเดียว ก็อาจสะดุดเอาได้ เช่น เวลาสั่งงาน ภาพลักษณ์ของหัวหน้างานต่อลูกน้องจะเป็นอย่างไร หากหัวหน้างานสั่งการไม่ชัดเจนหรือกำกวม
“ตกลงเขาอยากให้เราทำอะไรกันแน่”... “สั่งอะไรแต่ละอย่าง เดี๋ยวก็เปลี่ยน เดี๋ยวก็เปลี่ยน ตอนสั่งงานก็บอกว่าชัดเจนอยู่หรอก แต่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอย่างนี้มันเชื่อถือไม่ค่อยจะได้เลย”.... “เพิ่งสั่งไปหยกๆ เดี๋ยวก็มาสั่งให้หยุดซะอย่างนั้น เราเองอย่าเพิ่งตั้งใจทำตามคำสั่งนักจะดีกว่ามั้ง”
เพราะฉะนั้น เวลาออกคำสั่งอย่างน้อยที่สุดต้องแจ้งให้ทราบถึงสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้คือ 1.ต้องการให้ทำอะไรแน่ 2.ต้องการให้งานเสร็จเมื่อไร และ3.งานนั้นทำเพื่ออะไร เพื่อเป็นการบอกวัตถุประสงค์ และต้องรู้ว่า ก่อนจะออกคำสั่งที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม หัวหน้างานต้องกระจ่างในสิ่งที่จะสั่งเสียก่อน
เคล็ดลับประการที่หก ถ้าเป้าหมายชัดเจน เงินจะตามมาเอง ในเรื่องนี้สิ่งที่ผู้บริหารควรปฎิบัติคือ “ให้คำชมได้กำไรมากกว่าตะคอก”
“ลูกน้องที่เคยถูกผมตำหนิพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “น่ากลัวจริงๆ” บางคนพูดด้วยเสียงหัวเราะว่า “ตอนนั้นว่าจะลาออกเลยทีเดียว” ก็มี แต่ทุกคนก็ยังเอามาเล่าให้ผมฟังทีหลังได้ด้วยเสียงหัวเราะ นั่นหมายความว่าเขาไม่ได้ถือสาอะไรขนาดนั้นจริงจัง ทั้งนี้ เพราะว่าเวลาผมโกรธ ผมจะโกรธจริงๆ แต่โดยพื้นฐานแล้ว ผมจะพยายามมองหาจุดแข็งของลูกน้องแล้วหาทางเสริมจุดแข็งเหล่านั้นมากกว่า”
“แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ตัวผมเป็นคนที่ดีเลิศเหนือคนอื่นแต่ประการใด เพียงแต่ผมมีประสบการณ์มาก่อนมาก ว่าคนเป็นลูกน้องไม่มีใครอยากถูกเจ้านายดุด่าแล้วจึงจะทำงานได้ดี ตรงกันข้าม หากเจ้านายชื่นชมจะทำให้ได้ผลงานที่ดีกว่าด้วยซ้ำ ถ้าเป็นอย่างสมัยโบราณ หัวหน้าทาสถือแส้ในมือไว้ ปากแค่สั่งงานแล้วก็ได้งานออกมาดี ผมก็คงจะทำอย่างนั้นแน่นอน”
แต่น่าเสียดายว่าผู้บริหารจำนวนมากยังเข้าใจผิด คิดว่าพนักงานเป็นทาสในเรือนเบี้ยของตัวเอง เห็นหน้าลูกน้องต้องตะคอกใส่เสียงดัง ซึ่งผลที่เกิดขึ้นกลับทำให้ลูกน้องสูญเสียความมั่นใจ
เพราะฉะนั้น ถ้าต้องการสร้างกำไรก็ต้องรักพนักงาน แล้วความรักจะทำให้มองเห็นจุดแข็งของลูกน้อง ผู้บริหารควรจะคิดหาวิธีแบบนี้ให้ได้มากกว่า ซึ่งจะช่วยดึงความสามารถออกมาให้ได้ถึง 120%
เคล็ดลับประการที่เจ็ด คนที่ให้ความสำคัญกับการใช้เงิน มักมีฝีมือในการบริหารและประสบความสำเร็จ ในเรื่องนี้ต้องตระหนักว่าหากใช้อำนาจสั่งคนเมื่อไร ผลงานจะตกต่ำ
ลูกน้องบางคนระมัดระวังมาก หัวหน้าออกคำสั่งทีไรก็จะต้องออกตัวในทำนองไม่ค่อยสร้างสรรค์ว่า “จะลองดูครับ แต่อาจไม่ได้ตามคาดก็ได้นะครับ” หรือ “คราวที่แล้วแนวคิดแบบนี้ไม่ค่อยได้ผลครั้งนี้ก็อาจไม่ได้ผลเหมือนกันนะครับ” พูดอีกอย่าง ความหมายก็คือ “ที่ว่านี่มันผิดตั้งแต่ต้นแล้ว ผมไม่เห็นด้วยหรอก แต่ถ้าเป็นคำสั่งผมก็จะทำตาม แต่ถ้าเกิดพลาดพลั้งอะไร ผมไม่รับผิดชอบด้วยหรอก” สำหรับคนเป็นหัวหน้างาน เชื่อว่าทุกคนต้องอารมณ์ขึ้นแน่นอน บางครั้งอยากจะด่ากลับไปด้วยซ้ำว่า “นี่เป็นคำสั่ง หุบปากแล้วทำตาม ไม่งั้นตอนประเมินผลได้เห็นกัน” แต่การกระแทกกลับไปอย่างนี้กลับจะทำให้ลูกน้องเสียแรงจูงใจในการทำงาน
การใช้อำนาจสั่งให้ฝืนใจทำนั้น ต่อหน้า ลูกน้องก็ดูเหมือนจะไม่ขัดขืนอะไร แต่ในใจแน่นอนคงจะรู้สึกไม่พอใจและหาวิธีแกล้งหัวหน้าเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับอาการต่อต้านของตัวเอง และแม้ว่าคำสั่งจะถูกต้อง แต่ตัวลูกน้องผู้ปฏิบัติงานก็คงทำอย่างมีข้อสงสัยในใจ แล้วผลงานก็ไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ยิ่งถ้าคำสั่งออกมาไม่ถูกต้องด้วยแล้ว ก็จะยิ่งเกิดความคลางแคลงสงสัย มีข้อครหาว่า “คำสั่งของหัวหน้าคนนั้นไม่ถูกต้องตั้งแต่ต้นแล้ว”
อำนาจทำให้คนลงมือทำงานได้ แต่ถ้าจะให้ได้ 100% ต้องอาศัยบารมี คำว่า”บารมี” คือพลังอำนาจในการบังคับให้คนทำโดยไม่ได้อาศัยอำนาจบีบบังคับ
แนวคิดที่เป็นเหมือนเคล็ดลับทั้ง 7 ประการดังกล่าว สามารถแยกย่อยออกเป็นวิธีปฎิบัติได้ถึง 76 วิธี โดยได้เรียบเรียงไว้ในหนังสือเรื่อง “ทำงานเป็น เห็นกำไร” ซึ่งมีการแปลเป็นภาษาไทย เพื่อให้ผู้สนใจได้เรียนรู้เป็นทางลัด