xs
xsm
sm
md
lg

นักธุรกิจไทยเชื่อภาคเอกชนช่วยแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การเพิ่มขึ้นของจำนวนนักธุรกิจระดับผู้บริหารที่เชื่อมั่นว่า "ปัญหาทุจริตของไทย" สามารถแก้ไขให้ลดลงได้ในอนาคต และนักธุรกิจส่วนใหญ่พร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการ / กิจกรรม ของภาคเอกชนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น นี่เป็นผลการสำรวจความคิดเห็นของนักธุรกิจที่ได้เผยแพร่เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ที่ผ่านมา
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) กล่าวว่า “มากกว่า ร้อยละ 25 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 1,066 ซึ่งต่างเป็นบรรดาผู้นำในบริษัทธุรกิจ ต่างแสดงความเชื่อมั่นว่า การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นสามารถทำได้ในอนาคตอันใกล้ เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจของครั้งที่แล้วในปี 2553 มีเพียง ร้อยละ 12 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 1,007”

การสำรวจความคิดเห็นของผู้นำในบริษัทธุรกิจครั้งนี้ ดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน 2556 ด้วยความร่วมมือระหว่าง IOD กับบริษัท GFK Marketwise ซึ่งแบบสำรวจความคิดเห็นนี้ทำในนามของโครงการแนวร่วมปฎิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต (Thailand's Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption ;CAC) โดยการจัดทำการสำรวจครั้งแรก จัดทำโดย IOD ในระหว่างเดือนสิงหาคมถึงกันยายน 2553 โดยครั้งนั้นได้รับการสนับสนุนจากองค์กร Center for International Private Enterprise (CIPE) ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา และหลังจากนั้นไม่นาน IOD ถึงจะตั้งโครงการ CAC ในเดือนพฤศจิกายน 2553

ดร.บัณฑิต กล่าวว่า “เกือบ 3 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสอบถามต่างระบุเป็นเสียงเดียวกันว่า ภาคเอกชนคือผู้เล่นตัวสำคัญในการลดการทุจริตคอร์รัปชั่นและต่างเห็นพ้องว่า พวกเขายินดีที่จะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน โดยจะนำแนวปฎิบัติธุรกิจที่ดีไปปรับใช้ และปฎิเสธการให้สินบนทุกรูปแบบ ข้อมูลกระตุ้นให้เห็นว่า แม้แต่ผู้นำในภาคเอกชนเองต่างรับทราบดีถึงปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับที่สูงมาก และตอนนี้นักธุรกิจชั้นนำเหล่านั้นต่างก็เชื่อมั่นว่าสามารถจะรับมือและแก้ไขปัญหานี้ได้"
จากผลการสำรวจยังพบว่า ร้อยละ 75 ของผู้นำภาคเอกชนเห็นว่า ภาคเอกชนมีบทบาทที่สำคัญแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนของผู้นำภาคธุรกิจที่แสดงความพร้อมจะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น จากเดิมที่สำรวจเมื่อปี 2553 มีเพียงร้อยละ 69 แต่ในการสำรวจครั้งนี้ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 97 ในขณะเดียวกัน เมื่อถามต่อไปว่า บริษัทได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก
แนวร่วมปฎิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต (CAC)” หรือไม่ ก็พบว่า จำนวนของผู้นำภาคเอกชนที่แสดงความประสงค์ต้องการเข้าร่วม CAC เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 51 จากเดิมมีเพียงร้อยละ 14 ในการสำรวจเมื่อ 2553

ปัจจุบันมีบริษัทที่ลงนามแสดงเจตนารมณ์เป็นสมาชิกแนวร่วมปฎิบัติฯ ทั้งสิ้น 166 บริษัท ซึ่งทุกบริษัทต่างให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตทุกรูปแบบ ในขณะเดียวกันบริษัทที่ประกาศเจตนารมณ์แล้วก็จะทำงานร่วมกับบริษัทอื่นๆ ตามหลักการของแนวร่วมปฎิบัติฯ ในการที่จะลดความเสี่ยงคอร์รัปชั่นในระบบของบริษัทตนเอง พร้อมกันนั้นก็สร้างพื้นที่การทำธุรกิจที่ขาวสะอาดมากยิ่งขึ้น
สำหรับบริษัทที่ลงนามประกาศเจตนารมณ์แล้วนั้นยังจะได้รับการฝึกอบรมที่จัดโดย IOD เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจการสร้างนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นและการวางระบบตรวจสอบให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น บริษัทใดก็ตามที่สามารถปฎิบัติได้ครบถ้วนตามแนวทางที่กำหนดไว้ ก็จะได้รับการรับรองจากคณะกรรมการแนวร่วมปฎิบัติฯ
ณ ปัจจุบัน มี 4 บริษัทที่ผ่านการรับรอง ได้แก่ บริษัท ไพร้ชวอเตอร์เฮ้าส์ คูเปอร์ จำกัด บริษัท เอไอเอ (ประกันชีวิต) จำกัด บริษัท เอไอเอ (ประกันวินาศภัย) จำกัด และ บริษัท ซีเมนส์ ประเทศไทย จำกัด

โครงการแนวร่วมปฎิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต ได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจาก องค์กรชั้นนำ 8 แห่ง ได้แก่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ซึ่งทำหน้าที่ในฐานเลขานุการโครงการฯ หอการค้าไทย หอการค้านานาชาติ สมาคมบริษัทจดทะเบียน สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ผู้นำภาคเอกชนส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องกันว่า การคอร์รัปชั่นเป็นสาเหตุสำคัญที่ลดขีดความสามารถในการแข่งขันและลดศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบด้านลบต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของประเทศ
รวมทั้งทำลายค่านิยม จริยธรรมของสังคม การทุจริตคอร์รัปชั่นยังเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ต้นทุนการประกอบธุรกิจต้องเพิ่มขึ้นอย่างน้อย ร้อยละ 10 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 54 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด

ประเด็นการแก้ไขปัญหาทุจริต
ผลการสำรวจพบว่า ผู้นำภาคเอกชนส่วนใหญ่ต่างเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนของสังคมร่วมมือกันช่วยแก้ไขปัญหาทุจริต โดยมีรัฐบาล นักการเมือง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ผู้เกียวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายทุกคน รวมทั้ง สถาบันทางสังคมต่างๆ สื่อสารมวลชน สถาบันศาสนา และ สมาคมของภาคธุรกิจต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมช่วยกันต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ยิ่งไปกว่านั้น ผู้นำภาคเอกชนยังประมาณการว่า ถ้าหากประเทศไทยสามารถลดการทุจริตคอร์รัปชั่นลงได้ จะทำให้การเจริญเติบโตของประเทศไทยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 50
ดร. บัณฑิจ ย้ำว่า “IOD และองค์กรร่วม ตั้งเป้าที่จะสำรวจปัญหาการทุจริตในประเทศไทยเป็นประจำทุก 2 ปี เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการติดตามสถานการณ์ของการทุจริตคอร์รัปชั่นและทัศนคติของภาคเอกชนที่มีต่อปํญหาที่มีความซับซ้อนนี้"
กำลังโหลดความคิดเห็น