xs
xsm
sm
md
lg

คลังชง ครม.ตั้งผู้สังเกตการณ์อิสระ จับตา&ตรวจสอบโครงการรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“บัณฑิต” จี้ภาครัฐ-เอกชนให้ความสำคัญต่อการต่อต้านคอร์รัปชัน คาดหากยังไม่สำเร็จอีก 5 ปี จะเกิดปัญหาใหญ่ และอาจสู้คู่แข่งขันทางการค้าจากประเทศเพื่อนบ้านใน AEC ไม่ได้ ด้านองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเผย กระทรวงการคลังเตรียมเสนอ ครม.อนุมัติจัดตั้งผู้สังเกตการณ์โครงการภาครัฐ เพื่อตรวจการทุจริตตั้งแต่เริ่มประมูลจนถึงทำเสร็จ ตอนนี้เหลือเพียงรอแค่ไฟเขียว ขณะที่คมนาคมเร่งสุดโต่งหวังลงนามจัดตั้งผู้ตรวจสอบเข้าดูโครงการของกระทรวงภายในเดือนหน้า
 

นายบัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) กล่าวในการสัมมนา “บทบาทภาคธุรกิจเพื่อผลักดันการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรม” ว่า ปัญหาคอร์รัปชันจะเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าไม่แก้ไข คาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะเกิดภาวะหนี้สินระยะยาว และจะเกิดความเคยชินของภาคประชาชน ซึ่งจะมองว่าทำได้ไม่ผิด โดยต่างประเทศที่เคยประสบปัญหาคอร์รัปชันหลายประเทศสามารถแก้ไขได้แล้ว ทั้งนี้ หน่วยงานหลักที่ต้องผลักดัน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ประชาสังคม (ความร่วมมือของประชาชนที่คอยช่วยดูแลสอดส่อง) และภาคเอกชน ซึ่งต้องทำเป็นเครือข่าย ถ้าทำเพียงลำพังจะขาดความเข้มแข็ง และอาจโดนมุ่งปองร้ายจากหน่วยงานองค์ หรือผู้มีอิทธิพล

“ที่ผ่านมา IOD มีหน้าที่วางหลักสูตร และจัดการหลักสูตรจัดการอบรมและตรวจสอบ ซึ่งตั้งแต่ปี 2010 ตอนนี้มีบริษัทเข้าร่วม 165 บริษัท เหตุผลที่เข้าร่วมของบริษัทเหล่านี้มาจาก 1.บทบาทของบริษัทมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ 2.รักษาชื่อเสียงของบริษัท 3.เน้นการแข่งขันด้านยอดจำหน่ายที่มีคุณภาพ เพราะภาพลักษณ์ดีย่อมทำให้ยอดขายสูงตาม ส่วนสินค้าที่ภาพลักษณ์ไม่ดีจะถูกกีดกันออกตลาด ตอนนี้มีหลายบริษัทสำเร็จหลักสูตรนี้แล้ว”

อย่างไรก็ตาม คาดใน 1-2 ปี ภาพการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทยจะมีความชัดเจนมากขึ้น เพราะต้องเตรียมพร้อมให้ทันก่อนเปิดเสรี ไม่งั้นจะเทียบสิงคโปร์ไม่ได้ และจะเป็นประเทศที่ด้อยศักยภาพ ในการแข่งขันทางการค้า

ด้านนายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ กล่าวว่า การแก้ปัญหาคอร์รัปชันนั้นแก้ไขได้ แต่ถ้าขาดศรัธทาก็เป็นเรื่องลำบาก ส่วนตัวมองว่าภาคธุรกิจควรเริ่มเป็นแกนนำก่อต่อต้าน เมื่อทำได้แล้วก็เริ่มชวนผู้อื่นมาร่วมทำ และสนับสนุนสังคมให้มาร่วม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เพราะถือว่าคนกลุ่มนี้มีความสำคัญในการเข้าร่วม ควรสอนและแนะนำผ่านการปลุกจิตสำนึก สร้างความรู้ความเข้าใจ อีกทั้งควรมีการระดมทุนตั้งกองทุนคุ้มครองผู้ฟ้องร้อง และตั้งทนายเพื่อดำเนินการฟ้องร้องและตรวจสอบหน่วยงานรัฐ

นายวิชัย อัศรัสกร เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า สัญญาณการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันเริ่มดีขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีนโยบาย 3 ป.เกิดขึ้น ได้แก่ เปิดโปง ปลูกฝัง และป้องกัน สำหรับเปิดโปงหมายถึง การเปิดโปงผู้ทำการทุจริตคอรัปชันหน่วยงานรัฐ และมีมาตรการในการคุ้มครองพยาน และมีวงเงินหลักประกันสำหรับกองทุนใช้ในการว่าจ้างทนายต่อสู้ฟ้องร้องหน่วยงานที่ทุจริตนั้น

ส่วน ปลูกฝัง หมายถึง การสร้างการอบรมแก่เยาวชน สถาบันการศึกษา บริษัทเอกชนให้รู้ถึงผลเสียของการคอร์รัปชัน

ขณะที่ ป้องกัน คือ มีการคนตรวจสอบโครงการว่าจ้างประมูลงานภาครัฐ และผู้รับเหมา จากที่เคยมีจ่ายใต้โต๊ะเป็นเปอร์เซ็นต์ส่วนต่างที่เกิดโกงผลประโยชน์ โดยจะมีการจัดตั้ง ผู้สังเกตการณ์อิสระ ซึ่งเป็นผู้ที่ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพนั้นๆ เช่น อุตสาหกรรมยา หรือ โครงการก่อสร้าง และขอความร่วมมือผ่านสมาคมวิชาชีพที่เชี่ยวชาญเข้ามาเป็นผู้ตรวจสอบในรูปแบบจิตอาสา

“กฎหมายว่าด้วยการทุจริตและคอร์รัปชัน ซึ่งมีหน่วยงานที่ดูแลคือ ป.ป.ช. และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (สตง.) ตอนนี้ตามมติ ครม. จะบังคับให้ทุกหน่วยงานรัฐสามารถโดนตรวจสอบความโปร่งใสได้ตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค.เป็นต้นไป แต่หน่วยงานไหนมีความพร้อมก่อน ก็สามารถเริ่มก่อนได้เลย”

สำหรับการจัดตั้งผู้สังเกตการณ์อิสระ นายวิชัย กล่าวว่า เกิดจากการประชุมร่วมภาคเอกชนในองค์กร ที่ต้องการให้เกิดการแข่งขันเชิงคุณภาพให้เหมาะสม ซึ่งแนวคิดคือ จะให้มีผู้สังเกตการณ์ในโครงการต่างๆ ของภาครัฐตลอดทั้งโครงการ เริ่มตั้งแต่การเปิดประมูลจนถึงเสร็จสิ้นโครงการ

“เดิมมีแต่ภาครัฐ กับผู้รับเหมา แต่อนาคตทุกโครงการภาครัฐ จะมีภาครัฐ ผู้รับเหมา และมีองค์กรอิสระเข้ามาตรวจสอบ คณะผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้จะต้องเป็นผู้ไม่มีส่วนได้เสียใดๆ กับโครงการ ที่ผ่านมา เวลามีการประมูล บริษัทที่ทำหน้าที่อย่างสุจริตบางบริษัทจะถูกกลั่นแกล้ง กีดกัน และถูกล็อกสเปกให้รายอื่น ทำให้ไม่ได้งาน แต่เมื่อมีคณะผู้สังเกตการณ์ เราสามารถดำเนินการกับการกระทำที่ผิดกฎหมายป้องกันการทุจริตและคอร์รัปชัน มาตราที่ 103/7 และ 103/8 ได้ โดยเมื่อพบทุจริตผู้สังเกตการณ์จะรายงานเรื่องดังกล่าวไปยังหน่วยงานตรวจสอบตามลำดับขั้น และพิจารณาโทษตามที่หน่วยงานระบุไว้”

เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันกล่าวว่า เรื่องการจัดตั้งคณะผู้สังเกตการณ์โครงการภาครัฐในครั้งนี้ ได้มีการหารือร่วมกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว และได้รับความเห็นชอบ โดยนำเรื่องดังกล่าวเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อรอการพิจารณา และเมื่อ ครม.อนุมัติก็สามารถเริ่มดำเนินการตรวจสอบได้ทัน

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกระทรวงคมนาคม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการ ได้เข้ามาหารือกับทางองค์ต่านต้านคอร์รัปชันแล้วเช่นกัน โดยยืนยันให้ความร่วมมือในเรื่องดังกล่าว ซึ่งจะมีการลงนามความร่วมมือในเรื่องนี้อีกประมาณ 1 เดือนข้างหน้า และไม่ต้องนำเรื่องเสนอเข้า ครม. เพราะต้องการให้มีผู้สังเกตการณ์ในโครงการของกระทรวงคมนาคมที่มีอยู่หลายโครงการ และมีมูลค่ารวมประมาณ 2 ล้านล้านบาท

“ทางคมนาคม ระบุว่า พร้อมจะให้ดำเนินการในเรื่องนี้ แต่ติดขัดคือรอทางฝ่ายเรา ซึ่งคาดว่าอาจจะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญประมาณ 100 คน เข้ามาดูแลตรวจสอบโครงการต่างๆ ของกระทรวงคมนาคมที่มีอยู่จำนวนมาก”
กำลังโหลดความคิดเห็น