วอยซ์ออฟอเมริกา - วอยซ์ออฟอเมริกา หรือ เสียงอเมริกา สื่อทางการของรัฐบาลสหรัฐฯ ตอกย้ำปัญหาคอร์รัปชันยังคงฉุดลากการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชีย พัดพาเงินสำหรับพัฒนาเศรษฐกิจสูญหายไปจำนวนมหาศาล และจุดชนวนความโกรธเคืองของประชาชนในหลายประเทศ รวมไปถึงไทย พร้อมอ้างนักธุรกิจแฉยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทยของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว
วอยซ์ออฟอเมริกา หรือ วีโอเอ นำเสนอรายงานเรื่อง Asian Economic Growth Masks Growing Corruption Problem ซึ่งมีเนื้อหาชี้ให้เห็นถึงวิกฤตคอร์รัปชันที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชีย โดยในเนื้อหามีการหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับการฉ้อราษฎร์บังหลวงภายในประเทศไทยมาประกอบ
สื่อทางการของสหรัฐฯ แห่งนี้ระบุว่า ตอนที่ผู้ประท้วงรวมตัวกันบนท้องถนนในกรุงเทพฯ เมื่อปีก่อน พวกเขาเรียกร้องรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใส่ใจต่อปัญหาการคอร์รัปชันที่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ในไทย นักธุรกิจชายวัย 79 ปี ชี้ว่าต้นทุนในการทำธุรกิจของพวกเขาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งมาจากเงินสินบนที่ต้องจ่ายให้กับเหล่าเจ้าหน้าที่
“ผมประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม ผมมิอาจลุกขึ้นยินได้อีกแล้วเพราะว่าเราจำเป็นต้องจ่ายใต้โต๊ะในจำนวนที่เยอะมาก” เขากล่าว “ผมยอมรับเลยว่าก่อนหน้านี้เราจ่ายสินบนราว 5 ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ตอนนี้ระดับต่ำสุดคือ 30 เปอร์เซ็นต์”
บทความของวอยซ์ออฟอเมริการะบุว่า เป็นเรื่องยากที่จะคาดคะเนว่าปัญหาคอร์รัปชันก่อความเสียหายต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปมากน้อยเท่าใด แต่ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยหอการค้าเมื่อเร็วๆ นี้ สรุปว่าปัญหาคอรัปชันก่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 2 ของผลผลิตของประเทศ หรือคิดเป็นเงินคร่าวๆ 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 320,000 ล้านบาท)
ผลศึกษาของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยยังพบอีกว่า นักธุรกิจจากภาคเอกชนจำนวนมากที่พวกเขาทำการสำรวจ ยอมรับเต็มปากเต็มคำว่าจำเป็นต้องจ่ายเงินสินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐบาลและนักการเมืองเพิ่มเติม หากหวังได้รับสัญญาจากรัฐบาล
วอยซ์ออฟอเมริกาอ้างคำกล่าวของศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร นักเศรษฐศาสตร์การเมือง แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุแม้พบหลักฐานต่างๆ นานาบ่งชี้ว่าทางการมีความคืบหน้าในความพยายามสกัดปัญหาคอรัปชันในระดับล่าง แต่ด้วยการเศรษฐกิจโลกที่เติบโตอย่างชะลอตัว นั่นเท่ากับว่าภาคธุรกิจต้องแข่งขันกันอย่างสูงเพื่อแย่งชิงให้ได้มาซึ่งสัญญาว่าจ้างจากรัฐบาล
“ในยุคโลกาภิวัตน์คุณสามารถรับรู้ถึงแรงกดดันจากนานาชาติที่หวังเห็นไทยมีความโปร่งใสยิ่งขึ้น และหลายกระทรวงก็ขานรับเรื่องนี้ แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว” เธอกล่าว “ในอีกด้านหนึ่ง เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ธุรกิจท้องถิ่นเริ่มมีการแข่งขันสูง คุณจะเห็นได้ว่าบางกรณีความเสี่ยงคอร์รัปชันนั้นมีเยอะมาก เพราะมีการแข่งขันสูงขึ้นกว่าเดิม”
นักวิเคราะห์ระบุว่า รัฐบาลไทยกำลังพินิจพิเคราะห์ใช้จ่ายเงิน 350,000 ล้านบาท ในโครงการก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมตามหลังอุทกภัยใหญ่เมื่อปี 2011 รวมถึงโครงการด้านรถไฟและโปรเจกต์ก่อสร้างอิ่นๆ เพิ่มเติมอีก 2 ล้านล้านบาท แม้โครงการรับจำนำข้าวเพื่อสนับสนุนชาวนาที่ใช้งบประมาณไปแล้วหลายแสนล้านบาท ถูกห้อมล้อมด้วยข้อกล่าวหาคอร์รัปชันต่างๆ นานา
นายบัณฑิต นิจถาวร อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเวลานี้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ระบุว่าปัญหาคอรัปชันในไทยในตอนนี้ ดูเหมือนว่าจะร้ายแรงกว่าเมื่อ 10 ปีก่อน
“คอร์รัปชันคือปัญหาระดับโลก” เขากล่าว “คุณจะเห็นได้ว่าคอร์รัปชันตกเป็นข่าวพาดหัวในหลายประเทศ ดังนั้นมันจึงกลายเป็นประเด็นระดับโลกที่ทั้งองค์กรและรัฐบาลของชาติต่างๆ พยายามจัดการมัน แต่ในส่วนของประเทศไทย เรากำลังเผชิญความท้าทายหนักหนาสาหัส เพราะว่าปัญหานี้ดูเหมือนจะเลวร้ายยิ่งกว่าเมื่อ 10 ปีก่อนเสียอีก”
รายงานของสื่อทางการของรัฐบาลสหรัฐฯแห่งนี้ระบุด้วยว่า แม้เศรษฐกิจจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียยังมีอันดับที่ย่ำแย่ในตารางดัชนีต่อต้านคอร์รัปชันนานาชาติ
ตามรายงานของศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศ ซึ่งมีฐานบัญชาการอยู่ในสหรัฐฯ ระบุว่าแค่ในจีนชาติเดียว ระหว่างปี 2001 ถึง 2010 มีการลักลอบนำเงินผิดกฎหมายจากการคอร์รัปชัน ฉ้อโกงทางการเงิน เลี่ยงภาษีหรือกิจกรรมผิดกฎหมายอื่นๆ ออกนอกประเทศถึง 2.74 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนไทยติดอันดับ 13 จากทั้งหมด 143 ประเทศที่มีการลักลอบส่งเงินสกปรกออกนอกประเทศมากที่สุดในโลกรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โดยมียอดเงินอยู่ที่ 64,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.2 ล้านล้านบาท) ขณะที่ อินเดีย อีกหนึ่งศูนย์กลางแห่งการคอร์รัปชัน มีเงินสกปรกที่ถูกลอบออกนอกประเทศมากถึง 123,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ