xs
xsm
sm
md
lg

Good Morning News 31/01/56

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




  • GDP สเปนไตรมาส 4 ปีก่อนติดลบ 0.7% สะท้อนเศรษฐกิจที่ถดถอยรุนแรงขึ้น หลังไตรมาสก่อนหน้าติดลบ 0.3% ซึ่งเป็นผลจากการใช้นโยบายรัดเข็มขัดที่เข้มงวดเพื่อแก้ปัญหาหนี้สาธารณะ ส่งผลให้ GDP ทั้งปี 2555 ติดลบ 1.37% แต่ก็มีรายได้ 1.23 แสนล้านยูโร มากกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 1.19 แสนล้านยูโร อันเป็นผลมาจากการเพิ่ม VAT ภาษีเงินได้ และภาษีนิติบุคคล ทำให้รายได้จากภาษีฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังยืนยันว่าจะลดการใช้จ่ายลงอีกแม้ยุโรปจะให้เวลาสเปนมากขึ้นเพื่อลดยอดขาดดุลงบประมาณอันเนื่องมาจากเศรษฐกิจถดถอยก็ตาม

  • ออสเตรเลียเตรียมเลือกตั้งวันที่ 14 ก.ย.นี้ ซึ่งจะเป็นช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่ยาวนานที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองของออสเตรเลีย เพราะปกติแล้วจะใช้เวลาเพียงเดือนกว่าเท่านั้น

  • ธ.กลางยุโรป (ECB) เปิดเผยว่า ความต้องการสินเชื่อภาคธุรกิจยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากผู้ประกอบการยังกังวลต่อทิศทางเศรษฐกิจของยูโรโซนที่เสี่ยงว่าจะถดถอยอีกในปีนี้ ทำให้ยังไม่กล้าเสี่ยงที่จะลงทุนด้วยเงินจำนวนมากในเครื่องจักรหรือสิ่งปลูกสร้าง

  • สหรัฐรายงานว่า GDP ไตรมาส 4 หดตัวลง -0.1% สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะขยายตัวเพราะภาครัฐใช้จ่ายลดลงถึง 15% และภาคเอกชนลดสต็อกสินค้าคงคลัง อย่างไรก็ดี GDP ทั้งปี 2555 ยังคงขยายตัว 2.2% ซึ่งดีกว่าปี 2554 ที่ขยายตัว 1.8%

  • FED อาจใช้เงินราว 1.14 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อดำเนินมาตรการ QE จนถึงไตรมาส 4/2557 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างยั่งยืน โดยจะใช้เงิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนไปซื้อตราสารหนี้อ้างอิงสินเชื่อจำนอง และอีก 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนไปซื้อพันธบัตร ก.คลังสหรัฐ จนถึงสิ้นปี 2557 แม้จะมีคณะกรรมการ FED บางคนเห็นว่าไม่ควรที่จะขยายงบดุลมากเกินไปก็ตาม

  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐเดือน ม.ค.ลดลง 8.1 จุด มาอยู่ที่ 58.6 จุด ต่ำสุดนับแต่เดือน พ.ย. 54เนื่องจากผู้บริโภคกังวลว่า การเก็บภาษีผู้มีรายได้สูงจะกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐที่มีต่อรายได้และการจ้างงานในอนาคตก็ลดลงด้วย

  • สถาบัน ปีเตอร์ จี แพทเตอร์สัน คาดว่า อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของสหรัฐจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 200% ในปี 2040 ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาฐานะการคลังในระยะยาว อันเป็นผลมาจากรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมที่เพิ่มสูงขึ้นกว่ารายได้ นอกจากนี้ การหลีกเลี่ยง Fiscal cliff ได้ ก็ไม่ได้ทำให้ฐานะการคลังของสหรัฐดีขึ้น

  • จอห์น เทย์เลอร์ ชี้ว่า นโยบายการเงินของ FED เป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเมื่อเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น FED จะขายสินทรัพย์ที่ซื้อไว้เพื่อป้องกันเงินเฟ้อ ซึ่งหากการขายสินทรัพย์เกิดขึ้นเร็วเกินไปหรือฉับพลันก็จะฉุดราคาพันธบัตรลงและหนุนให้อัตราดอกเบี้ยสูงมากเกินไป อันจะเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะถดถอยในที่สุด

  • ฮ่องกง เร่งหามาตรการแก้ปัญหาชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่เข้ามาซื้อสินค้าในประเทศเป็นจำนวนมากจนสินค้าใกล้ขาดตลาด เนื่องจากมีราคาถูกและเลี่ยงภาษีนำเข้าสินค้า ทั้งไอโฟน เครื่องสำอาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง"นมผงเด็ก" ที่พบสารปนเปื้อนจนคนจีนไม่กล้าบริโภคสินค้าในประเทศ

  • ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายความเป็นอิสระของ ธ.กลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจเป็นทางเลือกหนึ่งในอนาคต เพื่อให้บรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ 2% โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเกาหลีใต้เดือน ธ.ค.เพิ่มขึ้น 1% จากเดือนก่อนหน้า ดีขึ้นจากที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 1.5% ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากภาคการผลิตช่วยชดเชยภาคส่งออกที่ชะลอลง ขณะที่ IMF คาดว่า GDP เกาหลีใต้ปีนี้จะขยายตัวในอัตรา 3% สูงกว่าปีก่อนที่ขยายตัว 2%

  • สิงคโปร์ คาดการณ์ว่า ในปี 2573 จะมีจำนวนชาวต่างชาติเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรสิงคโปร์ทั้งหมดโดยเหตุผลสำคัญที่สิงคโปร์ยอมรับผู้ย้ายถิ่นฐานมาจากนอกประเทศถึง 15,000 -25,000 คนต่อปีนั้นก็เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศในอนาคต เนื่องจากชาวสิงคโปร์ให้กำเนิดบุตรในอัตราที่ต่ำกว่าระดับทดแทนมายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ

  • ฟิลิปส์ เตรียมขายธุรกิจโฮมเอ็นเตอร์เทนเมนท์ (วิทยุ โทรทัศน์ วีดีโอ สื่อมัลติมีเดีย และอุปกรณ์เสริม) ให้กับ บริษัท ฟูไน อิเล็คทรอนิค ในราคา 150 ล้านยูโร (202 ล้าดอลลาร์) เพื่อลดการพึ่งพาสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และเน้นผลิตภัณฑ์ที่มียอดขายมั่นคงเช่น หลอดไฟ แปรงสีฟันไฟฟ้า มีดโกนหนวดไฟฟ้า เป็นต้น

  • สศค.เตรียมทบทวนเศรษฐกิจไทยปีนี้ใหม่จากปัจจุบันที่คาดว่าจะเติบโต 5% เนื่องจากมีตัวแปรในช่วงนี้ได้แก่ค่าเงินบาทและความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐ ทั้งนี้ หากรัฐบาลเบิกจ่ายเงินเพิ่มขึ้น 1 แสนล้านบาทก็จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายได้ 0.4% ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีก่อนขยายตัวได้ 5.7% ตามคาด

  • สศค.คาดการณ์ว่า การส่งออกปีนี้จะเติบโตประมาณ 10% เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าฟื้นตัวดีขึ้นและลดคาดการณ์การส่งออกในปีก่อนเหลือเติบโต 3.1% จากเดิมที่คาดไว้ 3.9% เนื่อง จากการส่งออกในเดือน ธ.ค. มีมูลค่าต่ำกว่าที่คาด

  • ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ชี้ว่า เงินจำนวนมหาศาลที่ไหลเข้ากำลังสร้างปัญหาให้เศรษฐกิจประเทศไทยจนอาจเกิดฟองสบู่ในตลาดเงินก่อนลามเป็นโดมิโนไปตลาดอสังหาริมทรัพย์ จึงแนะนำให้ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินร้อนเก็งกำไร เพราะเป็นทางเดียวที่จะทำให้รอดจากเงินทุนไหลท่วม

  • ดร.บัณฑิต นิจถาวร กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งในช่วงนี้เกิดจากสภาพคล่องในตลาดโลกสูง เงินจึงไหลเข้ามาในภูมิภาคเพื่อหาผลตอบแทนที่สูงกว่าและกดดันเงินบาทให้แข็งค่าขึ้น และเมื่อมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายด้านอุปโภคบริโภคที่เคยมีหมดไป ก็ไม่ควรมีเพิ่มขึ้นอีก เพราะจะทำให้เกิดปัญหาการสะสมหนี้ทั้งภาคประชาชนผู้บริโภคและรัฐบาล รวมถึงผู้ลงทุนก็จะก่อหนี้เพื่อลงทุนเพิ่ม เพราะหากทุกภาคส่วนสะสมหนี้ทุกภาคส่วนก็อาจเป็นความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลควรนำเงินไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใช้เงินที่เข้ามาให้เกิดประโยชน์มากกว่า นอกจากนี้ ก็ไม่ควรกดดันให้ลดดอกเบี้ยนโยบายสกัดเงินทุนไหลเข้า เพราะเงินทุนไหลเข้ามีบริบทกว้างกว่าที่คิด และเป็นปัจจัยมาจากต่างประเทศ ไม่ได้ขึ้นกับดอกเบี้ยอย่างเดียว 




  • SET Index ปิดตลาดที่ 1,490.82 จุด เพิ่มขึ้น 12.05 จุด หรือ +0.81% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 62,168 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,397.12 ล้านบาท ทั้งนี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทยได้รับแรงหนุนจากเม็ดเงินลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้านี้ ประกอบกับราคาน้ำมันได้ทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบ  4 เดือน ส่งผลให้กลุ่มพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง




  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลค่อนข้างทรงตัว เปลี่ยนแปลงอยู่ในช่วง-0.01% ถึง +0.01% โดยนักลงทุนรอติดตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของสหรัฐว่าจะมีการส่งสัญญาณใดๆ ที่อาจกระทบต่อกระแสเงินทุนไหลเข้าหรือไม่

  • ก.คลัง เตรียมขายพันธบัตรรัฐบาลชดเชยเงินเฟ้อ อายุ 15 ปี วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะออกจำหน่ายเดือน มี.ค.นี้ โดยเป็นการต่อยอดจากพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 10 ปี ที่ออกไปเมื่อปี 2554 เพื่อขยายฐานของนักลงทุน

  • ธปท.ชี้แจงว่า มีเครื่องมือในการดูแลค่าเงินบาทอยู่แล้วและพร้อมนำมาใช้ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ พร้อมย้ำว่าการดูแลค่าเงินบาทจะต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาคและพื้นฐานทางเศรษฐกิจด้วย ทั้งนี้ ก.คลัง ย้ำว่าจะไม่ใช้การควบคุมเงินทุนไหลเข้า และมาตรการทางด้านภาษีไปช่วยเรื่องค่าเงินบาทเป็นอันขาด

  • สศค. ระบุว่า ค่าเงินบาทมีทิศทางจะแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเม็ดเงินจากต่างประเทศไหลเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจและสินทรัพย์ของไทย ซึ่งเป็นผลจากนโยบาย QE (สหรัฐ และประเทศอื่นๆ) ทำให้สภาพคล่องทั่วโลกสูงขึ้นจนเห็นได้ชัด ทั้งนี้ คาดว่าค่าเงินบาทในปีนี้จะอยู่ในกรอบ 29.70-31.70 บาท/ดอลลาร์ โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 30.70 บาท/ดอลลาร์


กำลังโหลดความคิดเห็น