สมาคมตลาดตราสารหนี้ปลื้มสภาพคล่องสูง นักลงทุนแห่ลงทุนตลาดรองมากขึ้น พบต่างชาติซื้อสุทธิ 3 เดือนกว่า 8.3 หมื่นล้านบาท ดันยอดถือครองตราสารหนี้เพิ่มเป็น 8.5 แสนล้านบาท รับค่าบาทแข็งจริงแต่ยังอยู่ในระดับเดียวกับภูมิภาคเอเชีย ด้าน “บัณฑิต” ระบุปรับดอกเบี้ยหรือไม่ต้องดูเศรษฐกิจโลกประกอบด้วย
นายนิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย หรือ ThaiBMA สรุปผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ว่า ตลาดตราสารหนี้ไทยโดยภาพรวมแล้วค่อนข้างที่จะทรงตัวในส่วนของตลาดแรกที่มีมูลค่าคงค้างการขยายตัวเพิ่มขึ้นแค่ 1% โดยมาจากรัฐวิสาหกิจที่ระดมทุนผ่านตราสารหนี้เพิ่มขึ้น ขณะที่ภาครัฐฯ และเอกชนออกตราสารหนี้ระยะยาวน้อยลงเมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา ส่วนการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ระยะสั้นของเอกชนเพิ่มขึ้นกว่า 70% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาจากตราสารหนี้ระยะยาวปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้านี้
ขณะที่ตลาดรองมีการขยายตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยมีมูลค่าการซื้อขายในตราสารหนี้ระยะยาวปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 70% ซึ่งเป็นตัวเลขที่บ่งบอกได้ว่าการออกตราสารหนี้ระยะยาวลดลงแต่มีการลงทุนในตลาดรองเพิ่มมากขึ้น เป็นการส่งสัญญาณว่าตลาดตราสารหนี้ในประเทศมีสภาพคล่องมากขึ้น
โดยต่างชาติซื้อสุทธิในตราสารระยะยาวกว่า 83,300 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อในส่วนของพันธบัตรรัฐบาล เป็นการเพิ่มขึ้นในตราสารหนี้ระยะยาวที่มีอายุมากกว่า 1 ปี แต่อย่างไรก็ตาม แม้นักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาลงทุนในพันธบัตรเป็นจำนวนมากแต่ในส่วนของผลตอบแทนกลับปรับตัวลดลงตามกระแสเงินลงทุนที่ไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้
ทั้งนี้ สัดส่วนของมูลค่าการซื้อขายในตลาดรองไตรมาสแรกอยู่ที่ 6,021,748 ล้านบาท หรือเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 97,125 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากทั้งปีที่ผ่านมาอยู่ 280,000 กว่าล้านบาท ขณะที่ไตรมาสแรกมียอดปรับขึ้นกว่า 130,000 ล้านบาท โดยการถือครองตราสารหนี้ของต่างชาติในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 849,971 ล้านบาท โดยเริ่มต้นปีมาก็อยู่ที่ 400,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปีที่แล้วอยู่ที่ 700,000 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้ว่าตราสารหนี้ระยะสั้นมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 27% เมื่อเทียบกับตราสารหนี้ระยะยาวที่ไม่ได้รับความนิยมในช่วงนี้
“ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมาต้องยอมรับแข็งจริงเมื่อเทียบกับอยู่ที่ประมาณ 10% เมื่อเทียบกับค่าเงิน US แต่ถ้าเทียบกับในส่วนของภูมิภาคเดียวกันถือว่าเรายังอ่อนถ้าเทียบในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา อย่างมาเลเซีย และเกาหลีเองก็อ่อนลง เนื่องจากว่ามาเลเซียเองมีปัจจัยด้ายการเลือกตั้งของรัฐบาลที่มองว่าอาจจะมีการสูญเสียเก้าอี้ไป ส่วนเกาหลีขณะนี้ในเรื่องของความไม่สงบในภูมิภาคในช่วงต้นปีที่ผ่านมาที่ออกมาตรการแคปปิตอลโซลขึ้น”
นายนิวัฒน์กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่ต้องติดตามไตรมาส 2 นี้ยังคงเป็นเรื่องของ พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท แม้ไม่ได้กู้ในไตรมาส 2-3 นี้แต่เมื่อเวลามีกระแสข่าวออกมาก็จะส่งผลได้เช่นกัน ขณะเดียวกัน ตัวเศรษฐกิจของไทยและการดำเนินนโยบายของ ธปท. กับมาตรการการส่งออกซึ่งเราก็ต้องติดตามเช่นกัน รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจของต่างประเทศด้วย ซึ่งขณะนี้ถือว่าอเมริกาดีขึ้นเนื่องจากว่ามีการว่างงานลดลง การซื้อขายบ้านมือสองดีขึ้น
ขณะที่แนวโน้มในช่วงอีก 3 ไตรมาสของปีนี้ภาพรวมทั้งปีการออกหุ้นกู้ใหม่น่าจะอยู่ที่ประมาณ 350,000 ล้านบาท โดย 3 ไตรมาสที่เหลือจะมีหุ้นกู้รุ่นเดิมที่เคยออกไปแล้วในช่วงปีก่อนหน้านี้ครบกำหนดไถ่ถอนประมาณ 200,000 ล้านบาท แต่ด้วยสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มค่อนข้างคงที่ จึงคาดว่าน่าจะมีผู้เข้ามาออกหุ้นกู้เพิ่มประมาณ 100,000-120,000 ล้านบาท
**ชี้ปรับดอกเบี้ยต้องดู ศก.โลก**
ดร.บัณฑิต นิจถาวร ประธานกรรมการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงต้องเป็นไปตามภาวะตลาด เช่นต้องดูเศรษฐกิจและการใช้จ่ายของภาครัฐว่าจะมีการขยายตัวมากน้อยอย่างไรก็จะมีการปรับลด หรือเพิ่มอัตราดอกเบี้ยถ้าเศรษฐกิจไทยมีการขยายตัว ส่งผลให้มีสภาพคล่อง ส่วนในต่างประเทศมีหลายปัจจัยที่มาสนับสนุน ถ้าเศรษฐกิจมีการเติบโตต่ออัตราเงินเฟ้อก็จะโตเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นต้องดูด้วยว่าจะเร็วขนาดไหน เพราะไม่ได้ปรับขึ้นที่ประเทศไทยที่เดียว ต้องดูภาพรวมของเศรษฐกิจโลกด้วย
ทั้งนี้ ถ้ามีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นมาคาดว่าต่างชาติก็จะเข้ามาลงทุนในบ้านเราเพิ่มขึ้นอีก 0.25% แต่อย่างไรก็ตาม ถ้า ธปท.ยังไม่มีมาตรการใดๆ ทางสมาคมฯ ก็จะคอยติดตามและเตรียมการกับสิ่งนี้อย่างไม่นิ่งนอนใจ
“แนวโน้มเงินเฟ้อปรับตัวลดลง โดยมีแรงกดดันมาสนับสนุนการเติบโต เช่น ตัวเลขของเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น เศรษฐกิจไทยเองก็มีการปรับตัวที่ดีขึ้น มีการขยายการเติบโต ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในบ้านเรา โดยเฉพาะนโยบายต่างๆ ของรัฐฯ เป็นปัจจัยเสริม ดังนั้น ประเด็นเรื่องการปรับลดลงหรือเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในประเทศต้องดูหลายๆ ปัจจัยทั้งในประเทศ และต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม สินเชื่อโตเพิ่มขึ้นกว่า 10% เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างถูก”