Spice Up WorkLife โดย กัณฑรัตน์ เจิมจิตรผ่อง บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
ถ้าถามว่า ชีวิตคนทำงานจะมีความสุขได้อย่างไร คงต้องตอบว่าวิธีคิดนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่างรอบตัว เราสามารถนำประสบการณ์ที่ได้จากการทำงาน จากเพื่อนร่วมงานมาปรับใช้ หรือจากสิ่งที่เรานึกไม่ถึง เช่น การได้ประสบการณ์และความรู้จากเรือนจำบางขวาง
หลายคนอาจสงสัยว่า เราจะนำสิ่งที่ได้รับรู้ เรียนรู้จากเรือนจำที่ใช้คุมขังนักโทษคดีอุกฉกรรจ์หรือคดีค้ายาเสพติดที่มีโทษจำคุกจนถึงประหารชีวิต มาปรับใช้กับชีวิตการทำงานของเราได้อย่างไร ดิฉันได้มีโอกาสเข้าไปในเรือนจำและได้รับฟังเรื่องราวของผู้ต้องขัง 2 ท่าน คือ นพ.วิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ ที่ต้องโทษคดีฆาตกรรม และคุณภุมรินทร์ ภมรตราชูกุล ที่ต้องโทษคดีค้ายาเสพติดกว่า 300,000 เม็ด
ในเรือนจำบางขวางนั้น มีโครงการดีที่ชื่อว่า “โครงการกำลังใจ” โครงการในพระดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ซึ่งเป็นโครงการที่สร้างอาชีพให้กับนักโทษ หนึ่งอาชีพที่อยากจะยกตัวอย่างจากโครงการนี้ ก็คือ โครงการนักเขียนที่ชื่อว่า “โครงการเรื่องเล่าจากแดนประหาร” ซึ่งมีมาแล้วถึง 2 รุ่น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 นพ.วิสุทธิ์ และคุณภุมรินทร์ เป็นผู้ที่เข้าร่วมโครงการนี้ จนมีผลงานเขียนเป็นของตัวเองออกมา ให้บุคคลภายนอกเรือนจำได้รับรู้ถึงเรื่องราวของชีวิตนักโทษประหาร
ผลงานของนพ.วิสุทธิ์ ชื่อว่า “กว่าจะฝ่าข้ามความตาย” ส่วนของคุณภุมรินทร์ “คำสารภาพสุดท้ายก่อนเข้าห้องประหาร” แต่สิ่งที่ได้มากกว่าผลงานหนังสือทั้ง 2 เล่ม และอีกหลายๆ เล่มของนักโทษประหารคนอื่นๆ ก็คือการแสดงให้เห็นว่า สังคมไทยยังคงให้โอกาสแก่ทุกคนเสมอ ประตูแห่งโอกาสที่จะหยิบยื่นให้กับคนที่คิดจะทำความดีไม่เคยปิดตาย
คำถามที่มีคนถามนพ.วิสุทธิ์บ่อยๆ เห็นจะเป็นคำถามที่ว่า เขาใช้เวลานานแค่ไหนที่จะรู้สึกได้ว่าสิ่งที่ตนกระทำลงไปนั้นเป็นความผิด แม้จะเป็นคำถามที่ตอบค่อนข้างยาก แต่คุณหมอก็ตอบให้พวกเราฟังว่า
“ผมรู้สึกทุกข์ทรมานมากตอนที่อยู่ในเรือนจำนักโทษประหาร มันรู้สึกเหมือนตัวเองไม่ใช่มนุษย์ ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะถึงวันที่ต้องโดนประหาร อาจเป็นวันนี้ พรุ่งนี้หรือมะรืน สับสนมาก แรกๆ ยังรู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองทำไปนั้นไม่ผิด แต่หลังจากที่ต้องอยู่ในแดนประหารประมาณปีกว่าๆ เป็นช่วงเวลาที่ผมได้ทบทวน ได้คุยกับตัวเองมากขึ้น ผมก็คิดได้ว่าสิ่งที่ทำไปนั้นเป็นความผิดและคิดว่าจะแก้ตัว” นพ.วิสุทธิ์บอก พร้อมกับพูดถึงอนาคตของตัวเองว่า หลังจากได้รับพระราชทานอภัยโทษและได้รับอิสรภาพแล้วจะทำงานเพื่อสังคม เพราะถือว่าชีวิตที่ได้คือ “ชีวิตพระราชทาน” ซึ่งเป็นชีวิตที่มีคุณค่ายิ่งขณะที่ในปัจจุบันนพ.วิสุทธิ์ ถือเป็นผู้ต้องขังชั้นดี ทำหน้าที่ตรวจรักษาเพื่อนๆ ที่เป็นคนไข้ในสถานพยาบาลของเรือนจำ
ส่วนคุณภุมรินทร์นั้น เป็นชาวเขาเผ่าลีซอที่เรียนจบระดับประถมศึกษา คุณภุมรินทร์เล่าว่าเขาเห็นคนบ้านเดียวกันค้ายาเสพติด ก็ทำบ้างเพราะเห็นว่าได้เงินจำนวนมาก และไม่คิดว่าเป็นสิ่งผิดเพราะเห็นว่าใครๆในสังคมก็ทำกัน แต่หลังจากต้องโทษประหารชีวิตแล้ว ถึงได้คิดย้อนกลับไปว่า ช่วงเวลาที่เคยมีเงินนั้น ไม่เคยได้อยู่อย่างสงบ นอนก็หลับไม่สนิท เพราะถ้าไม่กลัวคนจะมาขโมยเงิน ก็กลัวจะถูกพวกเดียวกันเองฆ่า ถูกหักหลัง หลังจากที่เข้ามาอยู่ที่เรือนจำบางขวางและได้เข้าร่วมโครงการเรื่องเล่าจากแดนประหาร ก็สำนึกผิดและเข้าใจถึงความสุขที่แท้จริงของชีวิต
คุณภุมรินทร์กลายเป็นคนรักการอ่าน ชอบเข้าห้องสมุด ชอบเขียนหนังสือ เรียนกศน. และหลักสูตรอื่นๆ ขณะที่ยังอยู่ในเรือนจำจนได้ปริญญาบัตรหลายใบ
“ผมตั้งใจไว้แล้วว่าหลังจากพ้นโทษจะต้องได้ปริญญา 5 ใบ เพื่อจะนำความรู้ไปประกอบอาชีพอย่างถูกกฏหมาย” คุณภุมรินทร์กล่าวย้ำอย่างมั่นใจ
หนังสือ “คำสารภาพสุดท้ายก่อนเข้าห้องประหาร” ของคุณภุมรินทร์นั้น เขียนจากความตั้งใจจริงที่อยากจะเผยแพร่เรื่องราวของตัวเอง ทั้งเรื่องราวความรู้สึกในแดนประหารและเรื่องราวที่ทำผิดจนต้องติดคุก เพื่อเป็นข้อคิดสอนใจให้กับบุคคลภายนอก
คุณภุมรินทร์ เล่าว่า ตอนที่ยังอยู่ในแดนประหาร ต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างมากในการเขียนหนังสือแต่ละตัวท่ามกลางเสียงโซ่ตรวนของนักโทษคนอื่นๆ เพราะเขาเป็นชาวเขาภาษาไทยไม่แตกฉาน และเขียนหนังสือไม่เป็น
หลังเดินออกจากเรือนจำ คำพูดของนักโทษประหารทั้ง 2 คน ทำให้ความคิดบางอย่างเกิดขึ้นในใจก็คือ ไม่มีใครอยากจะทำผิดจนต้องเข้าคุก แต่ในช่วงเวลาที่กระทำผิดนั้น อาจจะเป็นด้วยทั้งอารมณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะกิเลสที่ครอบงำในใจ ทั้งความโลภ โกรธ หลง ทำให้หลงเดินผิดทางไปด้วยอารมณ์ชั่ววูบ แต่การที่พวกเขาสำนึกผิด และคิดที่จะแก้ไขอนาคตไม่ให้ผิดพลาดอีก ก็ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคม
เช่นเดียวกับชีวิตการทำงาน เรามีโอกาสที่จะทำผิดพลาดได้ตลอดเวลา ประเด็นอยู่ที่ว่า เมื่อทำผิดแล้ว เราต้อง “รู้” ว่ากระทำผิด เพื่อจะแก้ไขไม่ให้เกิดความผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า สิ่งที่เราควรขอบคุณก็คือ คนที่ให้ “โอกาส” แก่เรา ไม่ว่าจะเป็นผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่คนในครอบครัวของเราเองก็ตาม และเมื่อเราได้โอกาสแล้ว จงรู้คุณค่าของโอกาสที่ได้รับ เพื่อส่งต่อโอกาสนั้นให้กับคนอื่นๆ ต่อไป เหมือนนักโทษประหารที่สำนึกผิดยังได้รับพระราชทานอภัยโทษ เราก็ควรรู้จักการให้อภัย และให้โอกาสคนด้วยเช่นกัน
เพราะเราเปลี่ยนอดีตไม่ได้ แต่เราทำปัจจุบันที่ดีเพื่ออนาคตที่ดีได้...!!!!