xs
xsm
sm
md
lg

ศาลนัดไต่สวนคดีนักโทษค้าเฮโรอีนขอรื้อคดีใหม่ 27 พ.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ภาพประกอบ
ศาลอาญานัดไต่สวนคดีนักโทษประหารชีวิตค้าเฮโรอีนขอรื้อฟื้นคดีใหม่ 27 พ.ค.นี้ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ระบุขั้นตอนรัดกุม จำเป็นต้องกลั่นกรองอย่างละเอียด

ที่ศาลฎีกา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (1 มี.ค.) นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวถึงกรณีภรรยาของนายสุชาติ ใจสุด ผู้ต้องขังโทษประหารชีวิตคดีสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับค้าเฮโรอีน 35 กิโลกรัม มายื่นร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาคดีใหม่ ตาม พ.ร.บ.รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 ว่า คดีลักษณะนี้เป็นการที่กฎหมายผ่อนผันให้มีการตรวจสอบเพื่อป้องกันไม่ให้แพะถูกลงโทษ ซึ่งตามมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.รื้อฟื้นคดีฯ อาญา ระบุให้ศาลอาญาไต่สวนคำร้องแล้วรวบรวมพยานหลักฐาน และทำความเห็นเบื้องต้นว่าควรรื้อฟื้นคดีหรือไม่ ส่งไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อสั่ง ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าให้รื้อฟื้นก็ให้ศาลอาญาพิจารณาคดีนี้อีกครั้ง คำสั่งศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด จะฎีกาอีกไม่ได้ ซึ่งคดีนี้ศาลอาญานัดไต่สวนวันที่ 27 พ.ค.นี้ เวลา 09.00 น. ซึ่งฝ่ายจำเลยต้องนำพยานมาไต่สวนและต้องยื่นบัญชีระบุพยาน และศาลจะทำสำเนาคำร้องส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดส่งอัยการมาซักค้านด้วย แต่ยังบอกไม่ได้ว่ามีไต่สวนกี่นัด
ทั้งนี้ ระบบศาลยุติธรรมมี 3 ศาล คำพิพากษาแต่ละคดีจะมีการกลั่นกรองอย่างละเอียด โดยเฉพาะศาลฎีกาเมื่อคดีเข้ามาสู่ศาล มีขั้นตอนดังนี้ 1. ประธานศาลฎีกาจะสั่งจ่ายสำนวนไปยังองค์คณะซึ่งมีผู้พิพากษาศาลฎีกาสามคน เมื่อองค์คณะยกร่างคำพิพากษาพร้อมความเห็น 2. ส่งสำนวนดังกล่าวไปยังกองผู้ช่วยผู้พิพากษาครั้งที่1เรียกว่าผู้ช่วยเล็ก ทำการตรวจสำนวนที่องค์คณะเจ้าของสำนวนเพื่อหาข้อพิรุธของพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์จำเลย แล้วดูร่างคำพิพากษากับทำความเห็นอีกครั้ง

3. ส่งสำนวนดังกล่าวให้กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกาตรวจสอบครั้งที่สองเรียกว่าผู้ช่วยใหญ่ หรือกองเซ็นเซอร์ ที่มีผู้พิพากษาระดับหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์มาทำงาน เพื่อตรวจสอบสำนวนอีกชั้นเพื่อแก้ปัญหาข้อบกพร่องทุกจุดอย่างละเอียดถี่ถ้วน 4. ส่งสำนวนดังกล่าวให้ประธานแผนกคดีในศาลฎีกา หรือรองประธานฯ ทำการตรวจทานเพื่อทำบันทึกปัญหาที่หากพบ 5. ส่งสำนวนให้ประธานศาลฎีกาพิจารณาความถูกต้องแล้วตีออกส่งกลับไปศาลชั้นต้น ซึ่งมีระบบรักษาความลับ เพื่อพิมพ์เสร็จแล้วให้องค์คณะเจ้าของสำนวนลงชื่อในคำพิพากษาแล้วเตรียมปิดซอง

ขั้นตอนที่ 6 เป็นขั้นตอนสุดท้าย คือส่งซองคำพิพากษาให้คณะทำงานเลขานุการศาลฎีกาตรวจดูครั้งสุดท้ายของสุดท้ายจริงๆ เรียกว่ากอง “คัดท้าย” เมื่อไม่มีอะไรผิดพลาดก็จะปิดซองคำพิพากษาส่งไปยังศาลชั้นต้นเพื่ออ่าน จะเห็นได้ว่าคดีอาญาเรื่องหนึ่งกว่าศาลจะประหารชีวิตใครไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และการจะให้รื้อฟื้นก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยากดังที่ตนได้อธิบายมาแล้วนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น