xs
xsm
sm
md
lg

นักโทษประหารชีวิตคดีค้าเฮโรอีน ร้องศาลขอรื้อฟื้นคดีใหม่

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นักโทษประหารชีวิตคดีพัวพันค้าเฮโรอีน 100 แท่ง ร้องศาลอาญาให้รื้อฟื้นคดีใหม่ ระบุถูกซัดทอดจากแก๊งยาเสพติดใน จ.สุราษฎร์ธานี ด้านอธิบดีศาลอาญาระบุจะรื้อฟื้นคดีใหม่ได้ ต้องมีพยานหลักฐานใหม่

วันนี้ (28 ก.พ.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นางนิรมล ใจสุด ภรรยาของนายสุชาติ ใจสุด ผู้ต้องขังที่ถูกศาลฎีกาพิพากษาประหารชีวิตในคดียาเสพติด ได้นำคำร้องของนายสุชาติมายื่นขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ ตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 อ้างว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีจับกุมเฮโรอีนจำนวน 100 แท่ง ที่ จ.สุราษฎร์ธานี

โดยคำร้องระบุว่า คดีนี้อัยการได้เป็นโจทก์ฟ้องนายโสภณ สุขถาวร เป็นจำเลยที่ 1 นายสุชาติ ใจสุด เป็นจำเลยที่ 4 และ เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2553 ศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้นให้ประหารชีวิต ต่อมาได้รับพระราชทานอภัยโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต นอกจากนี้ ผู้ร้องเห็นว่ามีกฎหมายสามารถรื้อฟื้นคดีอาญาได้หากพบพยานหลักฐานใหม่ เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2554 จึงได้ไปร้องขอความเป็นธรรมจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ซึ่งได้มีการสอบปากคำพยานและพบพยานหลักฐานชิ้นใหม่บ่งชี้ว่านายสุชาติไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด หลายประเด็น คือ คำให้การของนายพิทยา สุนทรวิภาต อดีตรอง ผจว.สุราษฎร์ธานี ที่ให้การต่อดีเอสไอ เกี่ยวกับการตรวจสอบพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ซึ่งพบว่านายโสภณ สุขถาวร เพียงคนเดียวที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีผู้ค้าผู้เสพยาเสพติด และนายโสภณ สุขถาวร ถูกจับกุม พร้อมเฮโรอีน 100 แท่ง น้ำหนักประมาณ 35 กิโลกรัม ต่อมาได้ซัดทอดว่าได้ว่าจ้างนายสุชาติ ใจสุด เป็นผู้ขนส่งให้ค่าจ้าง 200,000 บาท

แต่เห็นว่าคำซัดทอดดังกล่าวเกิดขึ้นจากการต่อรองกับตำรวจชุดจับกุมให้ซัดทอดนายสุชาติเพื่อจะได้ไม่จับกุม น.ส.ปิยะนันท์ สุขถาวร บุตรสาวของนายโสภณ ทั้งนี้ นายโสภณ สุขถาวร รู้จักกับเครือข่ายค้ายาเสพติดในพื้นที่ ซึ่งโกรธแค้นนายสุชาติที่เอาเงินไปให้ตำรวจล่อซื้อยาเสพติด

นอกจากนี้ยังมีคำให้การของ ด.ต.ประนอม อ่อนเกตุผล ที่รู้จักนายสุชาติดีว่าเป็นพ่อค้าทอง และด.ต.ประนอมเป็นคนยืมเงินนายสุชาติไปล่อซื้อยาเสพติด และผู้ร้องยังอ้างพยานบุคคลอีกหลายคนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นว่านายสุชาติไม่เกี่ยวข้องกับความผิดเป็นการซัดทอดให้พ้นผิดบ้าง มีการจูงใจ ขู่เข็ญ ให้คำมั่นสัญญาบ้าง ซึ่งท้ายสุดทางดีเอสไอได้สอบพยาน 24 ปากพบว่านายสุชาติไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด

ด้านนายวสันต์ พานิช ทนายความกล่าวว่า ได้นำหลักฐานใหม่มาแสดงพร้อมคำร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาคดีใหม่ ซึ่งประกอบด้วยรายงานจากคณะกรรมาธิการวุฒิสภา ที่ระบุว่านายสุชาติ ใจสุด จำเลยที่ 4 ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด รายงานเส้นทางการเงินพบว่าได้มาโดยสุจริต มีรายงานการกู้ยืมเงินธนาคาร และรายงานจากดีเอสไอ รวมถึงคำให้การของนายโสภณ สุขถาวร จำเลยที่ในชั้นศาลได้ซัดทอดว่านายสุชาติเป็นคนจ้างวานให้ขนเฮโรอีน แต่ล่าสุดนายโสภณได้กลับคำให้การว่าที่ซัดทอดเพราะโกรธแค้นที่นายสุชาติ จำเลยที่ 4 เป็นคนออกเงินให้ตำรวจไปล่อซื้อ และต้องการกันไม่ให้ลูกสาวของจำเลยที่ 1 ถูกจับกุม นอกจากนี้ยังมีพยานแวดล้อมที่เป็นรอง ผวจ.สุราษฎร์ธานี ว่าไม่มีรายชื่อของนายสุชาติเป็นกลุ่มผู้ค้าในจังหวัด และเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 ปากที่ยืนยันความบริสุทธิ์ให้

ด้านนางนิรมลกล่าวว่า วันที่ 17 ก.ย.นี้จะครบ 10 ปี ที่ครอบครัวดำเนินการเรียกร้องความยุติธรรมให้สามี เพราะเราเชื่อว่าสามีไม่ผิด และไม่คิดว่าแค่คำซัดทอดจากจำเลยที่ 1 อย่างเดียวจะทำให้สามีถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิต หลังจากศาลฎีกาตัดสินได้ดำเนินการยื่นเรื่องไปที่คณะกรรมาธิการวุฒิสภาให้รื้อฟื้นคดีใหม่ แต่ทางคณะกรรมการไม่มีอำนาจพอ จึงให้ดีเอสไอหาหลักฐานเพิ่มเติมซึ่งได้มากพอที่จะร้องต่อศาลได้ และดีเอสไอได้ตอบกลับมาในวันที่ 29 มี.ค. 2555 จึงได้ทนายให้สามีเซ็นในใบคำร้องแล้วและมายื่นต่อศาลในวันนี้

นางนิรมลกล่าวต่อว่า เชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสามีเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง ก่อนหน้านี้พ่อของตนเป็นนายกเทศมนตรี อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี และตนเป็นสมาชิกสภาเทศบาล เมื่อจะลงการเมืองท้องถิ่น สามีได้ถูกจับกุมเสียก่อนจึงไม่ได้ลงเลือกตั้ง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ เสียชื่อเสียงเกียรติยศที่บรรพบุรุษได้สร้างขึ้น สังคมเล็กๆ ที่เราอยู่รับสิ่งนี้ไม่ได้ พ่อและแม่ของสามีเสียชีวิตเพราะเครียดเรื่องนี้ จึงอยากร้องขอตำรวจอย่าสร้างเวรสร้างกรรมกับเรา สามีก็แก่มากแล้ว

นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวว่า โดยปกติคดีอาญาทั่วไปเมื่อพิจารณาคดีถึงที่สุดแล้วถือว่าคดีถึงที่สุดโดยหลักการ แต่มีกฎหมาย พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 เพื่อเป็นช่องทางในการรื้อฟื้นพิจารณาคดีใหม่ โดยมีหลักเกณฑ์ของผู้ที่มีอำนาจคดีต่อศาลชั้นต้นที่บัญญัติไว้ว่าผู้ยื่นจะต้องได้แก่ 1. ตัวจำเลย 2. ผู้แทนโดยชอบธรรม คือผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถ 3. ผู้แทนของนิติบุคคล 4. บุพการี 5. อัยการ โดยศาลจะพิจารณาว่าผู้ยื่นคำร้องนั้นมีสิทธิหรือไม่ โดยเหตุผลในการยื่นคำร้องเพื่อขอรื้อฟื้นคดีนั้น จะต้องอ้างเหตุผล 3 ข้อ 1. พยานบุคคลในคดีเดิมให้การเป็นเท็จ ไม่ถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริง 2. พยานวัตถุหรือพยานเอกสารมีการปลอม ไม่ตรงกับความเป็นจริง 3. มีพยานหลักฐานใหม่ซึ่งในคดีเดิมไม่เคยได้ใช้เลย ทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารที่จะแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด โดยผู้พิพากษาเวรจะต้องพิจารณาว่ามีการอ้างเหตุผลทั้ง 3 ข้อนี้หรือไม่

ในกรณีที่ผู้พิพากษาเห็นว่าคำร้องไม่เข้าองค์ประกอบก็อาจพิจารณายกคำร้องโดยไม่ต้องทำการไต่สวน แต่หากพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีพอจะมีมูลก็จะนัดทำการไต่สวน ก่อนจะรวบรวมการพิจารณาทั้งหมดส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาว่าจะเห็นควรให้ศาลชั้นต้นพิจารณารื้อฟื้นคดีใหม่หรือไม่ ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าไม่หลักฐานเพียงพอก็อาจให้ยกคำร้อง แต่หากว่ามีพยานหลักฐานใหม่ก็จะมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการรื้อฟื้นคดี โดยที่ผ่านมาหลังจากมีการออกกฎหมายฉบับนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2526 มีการยื่นคำร้องในลักษณะดังกล่าวขึ้นมาบ้าง แต่มีปริมาณคดีไม่มากนัก เท่าที่ตนทราบแทบไม่มีคดีที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ อย่างเช่นคดีแพะเชอรี่แอนนั้น ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง แต่ไม่ใช่การรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ แน่นอนว่าหากมีการให้รื้อฟื้นคดีใหม่ย่อมสะท้อนถึงความหละหลวมในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวนขึ้นมา สำหรับคดีนี้ขึ้นอยู่กับว่าผู้พิพากษาเวรจะพิจารณาว่าเข้าองค์ประกอบหรือไม่ เพื่อมีคำสั่งต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น