xs
xsm
sm
md
lg

‘ทุนเอเชีย’ผงาด ลุยเทคโอเวอร์ธุรกิจ “พลังงาน ปิโตรเคมี เหมือง ไฟฟ้า”มาแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พีดับบลิวซี ฟันธงการควบรวม-ซื้อกิจการธุรกิจพลังงานในภูมิภาคขยายตัวต่อเนื่อง คงความร้อนแรงจากปีก่อน ที่มีมูลค่าดีลทะยานแซงหน้ายูโรโซนและสหรัฐ แม้ภาพรวมทั่วโลกปีนี้ยังไม่สดใส คาด‘เอเชียแปซิฟิก’แหล่งรวมผู้ซื้อแห่งใหม่ ชี้กลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี เหมือง และ ไฟฟ้ามาแรง มีแนวโน้มทำดีลควบรวมมากไม่แพ้ภาคการเงิน-ค้าปลีก-เกษตร มั่นใจออสเตรเลีย ยุโรป และอเมริกาใต้ แหล่งเป้าหมายการถูกเทคโอเวอร์ เหตุทรัพยากร-พลังงานทดแทนหนุน

PwC ประเทศไทย (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) คาดการณ์ถึงกระแสการควบรวมกิจการพลังงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกปีนี้ ว่าจะมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง สวนทางกับภาพรวมกิจกรรมการเทคโอเวอร์ในยุโรป-สหรัฐที่ยังคงซบเซา พร้อมมองทุนยักษ์ใหญ่จากจีน ญี่ปุ่นยังคงกว้านซื้อของดี-ราคาถูกจากทั่วโลก ขณะที่ผู้ประกอบการในอาเซียนจะมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

นายสมชาย จิณโณวาท หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี และ Energy, Utilities, and Mining Leader PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงบทวิเคราะห์ล่าสุด Asia Pacific Power & Renewables Deals 2013: M&A outlook and 2012 review ว่า กระแสควบรวมกิจการธุรกิจพลังงานกลับมาคึกคักอีกครั้งในปีที่ผ่านมา หลังเผชิญกับมรสุมเศรษฐกิจเมื่อ 2-3 ปีก่อน โดยตลาดเกิดใหม่เข้ามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเทรนด์ M&Aในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจนทำให้มูลค่าดีล (Deal values) ขยายตัวถึงร้อยละ45 ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2555 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีแนวโน้มที่กิจกรรม M&A จะยังรักษาโมเมนตัมขาขึ้นนี้ไว้ต่อไปในปีนี้

ดีลที่เกิดจากการควบรวมกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานและพลังงานทดแทน (Power and renewables targets) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 มีมูลค่าพุ่งสูงถึง 1.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นการเติบโตที่ร้อยละ 45 จากมูลค่า 1.17 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในขณะเดียวกันพบว่า กิจกรรมการควบรวมทั่วโลกกลับมีอัตราการเติบโตลดลง หลังจากที่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวในช่วง 2 ปีก่อน และผ่านพ้นเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจโลกไปในปี 2551

“เราเห็น deal flow ของการควบรวมอุตสาหกรรมพลังงานในภูมิภาคนี้พุ่งขึ้นสูงมากในช่วงครึ่งปีหลังของปีที่ผ่านมา โดยสวนทางกับภาพรวมทั่วโลกอย่างเห็นได้ชัดทั้งในแง่ของจำนวนและมูลค่าของดีล” นายสมชาย กล่าว

สิ่งที่น่าสนใจที่พบก็คือ ในขณะที่ดีลควบรวมในเอเชียแปซิฟิกมีมูลค่ารวมกันเพิ่มขึ้นเกือบครึ่ง ในช่วงครึ่งหลังปี 2555 มูลค่าดีลทั่วโลกกลับลดลงถึง 42 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเดียวกัน ซึ่งที่จริงแล้ว การลดลงจะยิ่งมีนัยสำคัญมากกว่านี้ หากไม่ได้ผู้ซื้อจากแถบเอเชียแปซิฟิกมาสร้างความคึกคักให้กับตลาดควบรวม โดยคิดเป็น 37 เปอร์เซ็นต์หรือประมาณ 8.8 พันล้านเหรียญ จากมูลค่า cross-border deal ทั่วโลกที่ 2.38 หมื่นล้านเหรียญ

บทวิเคราะห์ยังระบุว่า หากพิจารณามูลค่าดีลพลังงานสำหรับทั้งปี 2555 พบว่า เอเชียแปซิฟิกยังเดินหน้าขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 117 เป็น 4.17 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จาก 1.92 หมื่นล้านเหรียญในปี 2554 ซึ่งในจำนวนนี้มาจากการแปรรูปกิจการเอกชนไปเป็นของรัฐ (Nationalisation) ของบริษัท Tokyo Electric Power Co Inc (TEPCO) ในญี่ปุ่นจำนวน 1.56 หมื่นล้านเหรียญและการขายหุ้นโรงไฟฟ้า Loy Yang A ในออสเตรเลีย โดยทั้ง 2 ดีลมีผลกระทบโดยตรงมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ ณ เมืองฟุกุชิมะในญี่ปุ่นเมื่อปี 2554

ในทางกลับกัน หากดูมูลค่าดีลของกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานในระดับโลก (Global scale) ในปีที่ผ่านมา จะพบว่ามีการปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 27 มาที่ 1.54 แสนล้านเหรียญ โดยจำนวนดีลก็ปรับตัวลดลงเช่นกันที่ร้อยละ 15 มาอยู่ที่ 1,014 ดีล

หากให้มองแนวโน้มในปี 2556 นั้นยังเชื่อว่าตลาดควบรวมกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะในแถบภูมิภาคนี้จะยังเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมการควบรวมทั่วโลก โดยเท่าที่มีการศึกษาพบว่า ตั้งแต่เปิดปีพ.ศ.ใหม่มา ส่วนแบ่งของจำนวนดีลเป้าหมายและมูลค่าดีลจากเอเชียแปซิฟิกได้สูงเป็นสามเท่าของกิจกรรม M&A พลังงานทั่วโลก ณ เวลานี้ เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า เอเชียแปซิฟิกได้กลายเป็นแหล่งรวมผู้ซื้อที่ถูกจับตามองแห่งใหม่ในยามที่ภาวะเศรษฐกิจโลกยังจะคงชะลอตัวต่อไปในระยะข้างหน้า

สำหรับประเทศที่มีแนวโน้มที่จะเป็นแหล่งเป้าหมายการควบรวม-ซื้อกิจการพลังงาน ได้แก่ ออสเตรเลีย รวมถึงประเทศในแถบทวีปยุโรป และอเมริกาใต้ ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนมีจุดแข็งทางด้านภูมิศาสตร์ และเป็นมีดินแดนที่ความอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งทรัพยากรพลังงานมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน นอกจากนี้ ยังมีแหล่งน้ำมันทางทะเล เช่น ในออสเตรเลีย รวมถึงมีพลังงานทดแทนจำนวนมาก

คาดเศรษฐีอาเซียนกว้านซื้อกิจการพลังงานต่อเนื่อง

หากมองกิจกรรมการควบรวมในระดับอาเซียน ปี 2555 ถือว่าเป็นปีที่น่าจดจำอีกปีหนึ่งของภาคเอกชนในภูมิภาค รวมทั้งประเทศไทย โดยในปีที่ผ่านมาบรรดาฐานทุนฝั่งเอเชีย ได้มองหาโอกาสการซื้อกิจการในต่างประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านด้วยกันมากขึ้น โดยอาศัยจังหวะจากความกังวลเศรษฐกิจโลกที่ฉุดให้ราคาสินทรัพย์มีความน่าสนใจ ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยต่ำ ส่งผลให้อาเซียนมีกิจกรรมการควบรวมที่คึกคักไม้แพ้ยักษ์ใหญ่อย่างจีน และ ญี่ปุ่น โดยกลุ่ม พลังงาน สาธารณูปโภค และ เหมือง (Energy, Utilities and Mining: EUM) ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกิจกรรมการควบรวมที่มีความร้อนแรง ไม่แพ้ภาคการเงิน อุตสาหกรรมเกษตร และค้าปลีก

ในส่วนของประเทศไทยเอง ดีลควบรวมที่สร้างความคึกคักให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานในปีที่ผ่านมา ได้แก่ การประกาศเข้าซื้อบริษัทสัญชาติอังกฤษอย่าง Cove Energy Plc ของปตท.สผ. ผ่านทางบริษัทย่อย PTTEP AI คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.9 พันล้านเหรียญ โดยมีบริษัทคู่แข่งที่เป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมพลังงานโลกอย่าง บริษัท Royal Dutch Shell Plc

“บริษัทไทยหลายแห่งในหลายภาคอุตสาหกรรมรวมทั้ง EUM มีโอกาสที่ดีขึ้นในการขยายกิจการ ทั้งในการขยายกิจการภายในภูมิภาค และในระดับโลก ถึงแม้เอเชียแปซิฟิกเป็นจุดสนใจของธุรกิจไทยหลายแห่งอยู่แล้ว ในช่วงที่ผ่านมา ขณะนี้ ธุรกิจไทยมีความต้องการมากยิ่งขึ้นที่จะแสวงหาโอกาสในการประกอบธุรกิจนอกภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดยเฉพาะในยุโรป และอเมริกาใต้” นาย สมชาย กล่าว

ในระดับอาเซียน เทรนด์ควบรวมของกลุ่มพลังงานจะยังคงมีต่อไปตลอดทั้งปีด้วยปัจจัยสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นงบการเงินและฐานทุนที่แข็งแกร่ง รวมทั้งระดับหนี้ที่ต่ำ ซึ่งเชื่อว่าโอกาสข้างหน้า จะได้เห็นบริษัทในอาเซียนรวมทั้งไทย go abroad กันมากขึ้น โดยมีการระดมทุน หรือกู้เงินดอกเบี้ยต่ำเพื่อซื้อหรือขยายกิจการของตนเองไปในต่างประเทศ หรือแม้แต่ตลาดอาเซียนด้วยกันอย่าง CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่อาเซียนกำลังตื่นตัวในเรื่องการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปี 2558

วัตถุประสงค์หลักของการควบรวมกิจการในปัจจุบัน เกิดขึ้นเพื่อขยายธุรกิจ กระจายความเสี่ยง เพิ่มรายได้และส่วนแบ่งการตลาด นอกเหนือไปจากการประหยัดค่าใช้จ่ายในการบริหาร การหาพันธมิตรทางธุรกิจ และป้องกันไม่ให้มีคู่แข่งมากเกินไป หรือในบางกรณี มีความเสี่ยงต่ำกว่าการเริ่มธุรกิจใหม่เอง หรือ เพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษี
กำลังโหลดความคิดเห็น