ผลสำรวจชี้สองในสามของธุรกิจครอบครัวทั่วโลกมียอดขายเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา คาดแนวโน้มการเติบโตทางธุรกิจจะแข็งแกร่งตามเป้าหมายใน5 ปีข้างหน้า แต่การสรรหาบุคลากรที่มีทักษะ และปัญหาการวางแผนสืบทอดกิจการ ยังคงปัจจัยเสี่ยงที่ธุรกิจครอบครัวต้องเผชิญในอนาคต แนะภาครัฐฯ ต้องหันมาให้ความสำคัญเพื่อตอกย้ำการพัฒนาธุรกิจครอบครัวให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
PwC ประเทศไทย (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) เปิดเผยผลสำรวจธุรกิจครอบครัว PwC Family Business Survey 2012 พบว่า ร้อยละ 65 ของธุรกิจครอบครัวที่ทำการสำรวจมียอดขายเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา โดยเปรียบเทียบกับผลสำรวจในปี 2553 ที่มีต่ำกว่าร้อยละ 50 การเติบโตของยอดขายนี้เห็นได้อย่างชัดเจนโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก ละตินอเมริกา และตะวันออกกลาง ขณะเดียวกัน มีเพียงร้อยละ 19 ของธุรกิจครอบครัวที่ทำการสำรวจมียอดขายลดลงในปีที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับปี 2553 ที่มีมากถึงร้อยละ 34
ศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร PwC ประเทศไทย กล่าวว่า การก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของผู้ประกอบการธุรกิจไทยในการก้าวสู่เวทีโลก ขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดบ้านต้อนรับผู้ประกอบการจากทั่วโลกที่จะขยายการลงทุนเข้าสู่ไทยเช่นเดียวกัน ฉะนั้นการเดินหน้ารุกและตั้งรับในครั้งนี้กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่บริษัททุกขนาดต้องเผชิญ
“ธุรกิจครอบครัวถือว่าเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความยิ่งใหญ่และความสำเร็จของเศรษฐกิจโลก และสำหรับประเทศไทย ธุรกิจครอบครัวมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่การเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการเปิด AEC ต้องอาศัยการเดินหน้าควบคู่กับการเปลี่ยนผ่านจากธุรกิจครอบครัวสู่ความเป็นมืออาชีพ บริษัทต้องปรับกระบวนการคิดและกลยุทธ์ทางธุรกิจแบบรอบด้าน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า รวมทั้งยังต้องสามารถดูแลพนักงานที่มีฝีมือให้อยู่และทำงานกับองค์กรของตนได้ในระยะยาว”
“ธุรกิจครอบครัวของไทยจำเป็นต้องปรับรูปแบบการทำงานให้มีความเป็นสากลมากขึ้น พูดง่ายๆ คือ ต้องผสมผสานการทำงานอย่างมืออาชีพ แต่ต้องมีการดูแลเอาใจใส่คนในองค์กรให้เหมือนคนในครอบครัว เพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้ในระยะยาว และต้องระลึกว่า บริษัทมีความสำคัญกับตระกูลมากกว่าการที่ตระกูลมีความสำคัญกับบริษัท และต้องส่งผ่านค่านิยมองค์กร หรือCore value จากรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้ธุรกิจไม่หยุดอยู่แค่รุ่นที่ 3” เขากล่าว
เมื่อมองแนวโน้มในอนาคต ธุรกิจครอบครัวทั่วโลกจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยร้อยละ 80 ของผู้บริหารที่ถูกสำรวจคาดว่าธุรกิจครอบครัวของตนจะเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่องในอีก 5 ปีข้างหน้า ขณะที่มีธุรกิจครอบครัวอีกร้อยละ 39 แสดงความมั่นใจมากต่อการเติบโตของธุรกิจในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งการเพิ่มขึ้นนี้จะเห็นได้ชัดในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง อินเดีย สิงคโปร์ แอฟริกาใต้ และเกาหลีใต้
นอร์เบิร์ต วินเคลโยฮาน สมาชิกของ PwC’s Network Leadership Team กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลสำรวจเห็นได้ว่า family businesses คือฮีโร่ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จตัวจริงที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจโลก แต่น่าเสียดายว่าธุรกิจเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการให้สิทธิทางภาษีต่างๆ อย่างเพียงพอ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การให้ incentives ทางการเงินกับธุรกิจครอบครัวที่อยู่ในช่วง start-up รวมทั้ง การฝึกอบรมหรือให้การสนับสนุนในรูปแบบอื่นอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การสืบทอดกิจการ การขยายการลงทุนในต่างประเทศ การแก้ปัญหาความขัดแย้ง และการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในความท้าทายสำคัญที่ธุรกิจครอบครัวต้องเผชิญในปัจจุบันคือ ปัญหาการคัดเลือกบุคลากรที่มีทักษะเข้ามาทำงาน (Recruitment of skilled staff) และการขาดแคลนแรงงาน (Labour shortages) โดยมีผู้บริหารที่ถูกสำรวจถึงร้อยละ 43 แสดงความเห็นด้วย เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 38 ในปี 2553
“เกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริหารที่ทำการสำรวจมองว่าการเฟ้นหาลูกจ้างและพนักงานที่มีความรู้และทักษะเหมาะสมกับลักษณะของงานจะเป็นอุปสรรคที่สำคัญอันดับต้นๆ อีกประการหนึ่งในช่วง 5 ปีข้างหน้า และก็มีผู้บริหารอีกเกือบครึ่งที่มองว่าตัวเองจะต้องประสบกับปัญหาในการรักษาลูกจ้างที่มี Talent ไว้ให้อยู่กับองค์กรในช่วง 5 ปีข้างหน้าด้วยเช่นกัน” ศิระกล่าว
อีกทั้ง ประเด็นการวางแผนสืบทอดกิจการ (Succession) ที่ถือเป็นปัญหาคลาสสิค สืบเนื่องมาจากปัญหาความขัดแย้งภายในครอบครัว หรือการเมืองระหว่างสมาชิกในครอบครัวด้วยกัน โดยผลสำรวจพบว่า มีกิจการครอบครัวเพียงครึ่งที่มีการทำข้อตกลงผู้ถือหุ้น (Shareholders’ agreement) อย่างเป็นระบบ ในขณะที่ร้อยละ 21 ไม่มีมาตรการในการแก้ปัญหาความขัดแย้งเลย
นอกจากนี้ สภาพตลาด (Market conditions) ยังเป็นตัวกำหนดปัจจัยภายนอกที่สำคัญ โดยร้อยละ 64ของผู้บริหารธุรกิจครอบครัวในกรีซ ร้อยละ 49ในรัสเซีย และร้อยละ 46ในตะวันออกกลาง มองว่านโยบายภาครัฐและกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ (Government policy/regulation) เป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของตน และมีผู้บริหารถึงร้อยละ 66 ที่มองว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ (Economic situation) จะยังเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจในอีก 5 ปีข้างหน้าอีกด้วย
“ธุรกิจครอบครัวที่เราสำรวจส่วนใหญ่เชื่อว่า โครงสร้างองค์กรของตนมีข้อได้เปรียบอยู่หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรวดเร็วและความยืดหยุ่นในการตัดสินใจ ความต่อเนื่องและวิสัยทัศน์ในระยะยาว รวมไปถึงทักษะในการเป็นนักบริหาร นอกจากนี้ ยังมองว่าตนเองมีบทบาทสำคัญในการจ้างงาน รวมทั้งให้ความสำคัญต่อการแบ่งปันคุณค่าของธุรกิจ (Business value) มากกว่าบริษัททั่วไปที่ไม่ใช่กิจการครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่นของสมาชิกในครอบครัว” ศิระกล่าว
ทั้งนี้ การสำรวจดังกล่าวจัดทำขึ้นผ่านการเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้บริหารและเจ้าของกิจการครอบครัวจำนวน 1,952 รายในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ระหว่างวันที่ 7 มิถุนายน - 18 กันยายน 2555 สำหรับคำนิยามของธุรกิจครอบครัว (Family-Owned Business) คือ1.ธุรกิจหรือกิจการที่สิทธิในการออกเสียงส่วนใหญ่มาจากผู้ก่อตั้ง หรือผู้มีสิทธิในการถือครองบริษัท (หรือคู่สมรส ผู้ปกครอง บุตร หรือบุตรผู้สืบสกุลโดยตรง)
2.ธุรกิจหรือกิจการที่ตัวแทนของครอบครัวอย่างน้อยหนึ่งคนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ (Management) หรือการจัดการต่างๆ (Administration) ของบริษัท หรือ3.ในกรณีของบริษัทจดทะเบียน ผู้ที่ก่อตั้ง หรือ ผู้มีสิทธิในการถือครองบริษัท (หรือครอบครัว) ครอบครองสิทธิออกเสียงในสัดส่วนร้อยละ 25 ของทุนจดทะเบียน และมีสมาชิกในครอบครัวอย่างน้อยหนึ่งคน เป็นคณะกรรมการขององค์กรหรือกิจการนั้นๆ