xs
xsm
sm
md
lg

แนะรัฐแก้กฎหมายภาษีเงินได้ล้าสมัยรับมือ AEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถาวร รุจิวนารมย์  หุ้นส่วนและหัวหน้าสายงานที่ปรึกษากฎหมายและภาษีอากรPwC ประเทศไทย (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส)
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและภาษีอากรแนะภาครัฐเร่งเครื่องปรับแก้ระเบียบกฎเกณฑ์ด้านภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ลดอุปสรรคและความล้าสมัย ชี้ต้องเพิ่มมาตรการจูงใจแข่งประเทศอื่นในอาเซียน โดยเฉพาะสิงคโปร์-มาเลย์

ถาวร รุจิวนารมย์ หุ้นส่วนและหัวหน้าสายงานที่ปรึกษากฎหมายและภาษีอากรPwC ประเทศไทย (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) กล่าวถึงศักยภาพการเติบโตของประเทศไทย ในแง่มุมด้านภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเฉพาะเมื่อต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปีพ.ศ.2558 ว่าสำหรับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถแข่งขันในภูมิภาคได้ โดยเฉพาะเมื่ออัตราภาษีจะลดลงเหลือ 20% ตั้งแต่ปีหน้า (2556) เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ภาครัฐคงต้องมีมาตรการที่จูงใจเพิ่มขึ้นเพื่อส่งเสริมให้มีการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น รวมทั้ง สนับสนุนให้คนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วย

โดยนอกจากการปรับลดอัตราแล้ว ควรมีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคและล้าสมัยไปพร้อมกันด้วย เช่น มาตรา 70 ตรี ในกรณีส่งสินค้าไปเก็บในต่างประเทศเพื่อรอจำหน่าย ซึ่งกรมสรรพากรถือว่ามีการขายสินค้าแล้ว แต่ข้อเท็จจริงยังไม่ได้เกิดการขาย ในขณะเดียวกัน มาตรการจูงใจที่มีอยู่แล้ว เช่น ROH ควรให้มีความยืดหยุ่นในทางตีความและการปฏิบัติมากขึ้นด้วย เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการจัดตั้ง ROH ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น

ในส่วนของภาษีเงินบุคคลธรรมดานั้น ประเทศสมาชิกอาเซียนประเทศอื่นๆ มีการจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าเช่นเดียวกับประเทศไทย แต่ประเทศไทยมีอัตราจัดเก็บสูงสุดที่ 37% ซึ่งสูงที่สุดในอาเซียน ทั้งนี้ประเทศอื่นๆ เช่น สิงคโปร์และมาเลเซียซึ่งมีอัตราภาษีขั้นสูงสุดต่ำกว่าไทย คือ 20% และ 26% ตามลำดับ ก็มีการอนุญาตให้หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้คล้ายคลึงกับประเทศไทย

ดังนั้น โครงสร้างและอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประเทศไทยในปัจจุบัน จึงเป็นอุปสรรคหนึ่งในการจูงใจบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถให้เข้ามามีถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทยและถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อยกระดับความรู้ความสามารถของคนไทยเพิ่มขึ้น

ปัจจุบันแม้ว่ากรมสรรพากรกำลังมีการศึกษาเพื่อปรับปรุงโครงสร้างทางภาษีทั้งระบบ แต่การให้กรมสรรพากรซึ่งมีหน้าที่ในการจัดเก็บภาษี เป็นผู้ดูแลเรื่องการเปลี่ยนแปลงกฎหมายภาษี ย่อมเกิด conflict of interest จึงไม่สามารถลดหรือขจัดอุปสรรคได้อย่างที่ต้องการ

หากเปรียบกับประเทศสิงคโปร์ที่มีคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ (Economic Development Board) เป็นผู้ดูแลเรื่องมาตราสนับสนุนการลงทุนต่างๆ จึงเห็นว่า สำหรับประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เป็นหน่วยงานที่เหมาะสมในการดูแลภาพรวม พร้อมทั้งผลักดันมาตรการสนับสนุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ซึ่งเท่าที่ทราบทาง สศค. ก็มีการจัดทำการศึกษาและเสนอมาตรการหลายมาตรการเพื่อให้รัฐบาลพิจารณาอยู่ ขณะเดียวกัน ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ก็มีแผนปรับปรุงการพิจารณาโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเน้นให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีมากขึ้น

ดังนั้น นอกจากการปรับลดอัตราภาษีแล้ว ภาครัฐควรมีการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้ทันสมัยเพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจ แทนการโฟกัสอยู่ที่การจัดเก็บภาษีเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ เพราะไม่ควรดูเฉพาะค่าใช้จ่ายของประเทศอย่างเดียว ควรต้องมองดูประเทศคู่แข่ง รวมทั้ง มุมมองในแง่เศรษฐศาสตร์และอื่นๆ อีกหลายอย่างมาพิจารณาประกอบกันด้วย เช่น กรณีที่สามารถจูงใจให้มีการลงทุนหรือมีเม็ดเงินไหลเข้าประเทศไทยมากขึ้น โดยยอมจัดเก็บภาษีได้ลดลง ซึ่งต้องพิจารณาเงินจำนวนนี้ว่าก่อให้เกิดการจ้างงาน การลงทุนต่อเนื่อง หรือเงินทุนหมุนเวียน ที่ก่อประโยชน์แก่ประเทศไทยมากขนาดไหน

เช่นเดียวกันสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การที่มีผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเข้ามาทำงานและอยู่ในประเทศไทยมากขึ้น จะก่อให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ความสามารถและพัฒนาคนไทยให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น เช่น สามารถเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กรหรือบริษัทข้ามชาติแทนการเป็นเพียงผู้บริหารระดับล่างและระดับกลางอย่างที่เป็นอยู่ ดังนั้น จึงต้องมีการให้สิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมในการดึงดูดคนเก่งๆ เข้ามาอยู่ในประเทศไทย

ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้หลังการเปิด AEC อย่างเต็มรูปแบบ ประเทศไทยคงพิจารณาทั้งมาตรการจูงใจและสนับสนุนการลงทุนทั้งในและนอกประเทศไทย ขณะเดียวกัน ก็ต้องพิจารณาถึงปัญหาและอุปสรรค โดยเฉพาะข้อกฎหมายที่ล้าสมัย การปฏิบัติและการตีความที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรการสนับสนุนการลงทุนต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน
กำลังโหลดความคิดเห็น