xs
xsm
sm
md
lg

ไพร้ซวอเตอร์ฯ ชี้อุตฯ รถทั่วโลกมีการควบรวมกิจการมากขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกยังขยายตัวต่อเนื่อง แม้หลายประเทศจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ “ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส” ระบุ พบการควบรวมกิจการในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โดยผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในยุโรปถูกมองเป็นเป้าหมายในการถูกควบรวมถึง 2 ปีติดต่อกัน

ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส หรือ PwC ประเทศไทย หนึ่งในเครือข่ายบริษัทผู้ให้บริการทางด้านการตรวจสอบบัญชี บริการให้คำปรึกษาทางด้านภาษี และบริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจรายใหญ่ของโลก เผยผลการศึกษา Consolidation in the Global Automotive Supply Industry 2012 ที่ได้จัดทำผลการศึกษาประจำปี 2555 ติดต่อกันเป็นปีที่ 5 โดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ชั้นนำทั่วโลกกว่า 700 บริษัท ที่มีรายได้รวมกัน (Aggregrate revenues) ในปี 2554 ถึง 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ ครอบคลุมประเทศต่างๆ ในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย เช่น บราซิล จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า การผลิตรถยนต์ทั่วโลกคาดจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 40 หรือ 100 ล้านคันภายในปี 2560 ถือเป็น room of opportunity สำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ทั่วโลก ในขณะเดียวกัน แนวโน้มการผลิตรถยนต์ในปีนี้ก็จะเติบโตต่อเนื่อง แม้จะมีปัญหาวิกฤตหนี้ยุโรปเป็นปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจ

ขณะเดียวกัน พบว่ากระแสการควบรวมกิจการ (M&A) ในธุรกิจอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ทั่วโลกมีการดำเนินไปอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าปริมาณกิจกรรมการควบรวมฯ จะยังคงอยู่ใกล้เคียงกับระดับสูงสุด (Record high) ที่ 270 ธุรกรรมทั่วโลก ในปี 2555 โดยได้รับแรงหนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมยกเว้นแถบยุโรปตะวันตก และสินทรัพย์ในธุรกิจดังกล่าวยังมีราคาถูกน่าดึงดูด

ส่วนการใช้จ่ายเพื่อการลงทุน (Capital expenditures) ของบรรดาผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในยุโรป อเมริกาเหนือ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ยังไม่ฟื้นตัวเทียบเท่ากับช่วงก่อนเกิดวิกฤต และในทางตรงกันข้าม ผู้ผลิตฯ ในจีนได้เพิ่มงบรายจ่ายเพื่อการลงทุนมากขึ้น โดยมี Capex/revenue ถึงร้อยละ 10.5 ในปี 2554 จากเพียงร้อยละ 7.1 ในปี 2553

ทั้งนี้ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในยุโรปถูกมองเป็นเป้าหมายในการถูกควบรวมกิจการติดต่อกันเป็นปีที่สอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทผู้ผลิตตัวถัง (Chassis) และระบบขับเคลื่อน (Powertrain systems) ขณะที่บริษัทผลิตรถยนต์ในญี่ปุ่น ยังคงเดินหน้าขยายสายการผลิตในตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน
กำลังโหลดความคิดเห็น