xs
xsm
sm
md
lg

D/E เริ่มสูงกดดัน บจ.เปลี่ยนเกม หันหาแหล่งเงินผ่านแผนเพิ่มทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุปนายกสมาคมฯ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย คาดบริษัทจดทะเบียนไทย จะใช้การเพิ่มทุนจดทะเบียนมากขึ้น เพื่อระดมทุน หลังที่ผ่านมา ทั้งกู้แบงก์ และออกหุ้นกู้จนหนี้สินต่อทุนสูงขึ้นเกิน 1 เท่า ชี้หากต้องการให้อีก 5 ปี วอลุ่มเทรดแตะ 1 แสนล้าน ต้องมีมาร์เกตเมกเกอร์ ด้านซีอีโอเกียรตินาคิน ย้ำต้องปรับเกณฑ์ และกฎหมายเพื่อเอื้อต่อการลงทุน จากปัจจุบันต่างชาติลงทุนในตลาดหุ้นแล้ว 9 หมื่นล้านเหรียญ

นายภควัต โกวิทวัฒพงศ์ อุปนายกสมาคมฯ และประธานคณะกรรมการบริหาร สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวในงานสัมมนา เพื่อการพัฒนาตลาดทุนไทย ประจำปี 2556 ในหัวข้อแนวทางการสร้างความสมดุลของโครงสร้างบริษัทจดทะเบียนไทย ว่า จากการที่สถาบันวิจัยตลาดทุนได้จัดทำรายงานดังกล่าว เพื่อให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยมีโครงสร้างบริษัทจดทะเบียนในแต่ละอุตสาหกรรมที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมภาคเศรษฐกิจหลักของประเทศ

ส่วนตัวมองว่า  ถ้านอกเหนือจากการเปรียบเทียบมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) กับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) แล้ว ยังสามารถเปรียบเทียบระหว่างกำไรสุทธิจากผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน หรือ Earning Per Share (EPS) กับจีดีพี เพราะตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 เป็นต้นมา ลักษณะการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนมากกว่า นอกจากนี้ ในการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของกองทุนต่างชาติ ก็ให้ความสำคัญถึงอัตราการทำกำไรของบริษัทจดเบียนเป็นอันดับแรก

สำหรับสาเหตุที่อุตสาหกรรมด้านการเกษตร ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ มีการนำบริษัทในธุรกิจดังกล่าวเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยน้อยกว่าอุตสาหกรรมพลังงาน มองว่า เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะอุตสาหกรรมเกษตรในประเทศยังมีความผันผวนในเรื่องราคาซื้อขาย เช่นเดียวกับอัตราการทำกำไรของบริษัทที่มีทั้งขึ้น และลง จึงสร้างความกังวลให้แก่นักลงทุนเพราะไม่มีความแน่นอน จนได้รับความสนใจน้อย     
ประเทศไทยยังไม่มีเจ้าของกิจการที่มีพื้นที่ทางการเกษตรขนาดใหญ่ ซึ่งหากต้องการให้เกิดขึ้นจริงเครื่องมือทางการเงินอย่าง Business Trust (BT) น่าจะเป็นเครื่องมือที่เหมาะสม เพราะเป็นกองทรัสต์ประเภทหนึ่งที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารสินทรัพย์

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม มองว่า จากวิกฤตที่ผ่านมา และปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวเมื่อช่วงปี 2549 ได้ทำให้หลายบริษัทชะลอการลงทุนไปมาก จนอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำกว่า 1 เท่า แต่ในช่วงตั้งแต่ปี 2553-2555 เศรษฐกิจมีการขยายตัวสูง ทำให้ภาคเอกชนกลับมาลงทุนมากขึ้น และในปัจจุบันเชื่อว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะยังขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยผลักดันให้บรรดาบริษัทจดทะเบียนหันมาให้ความสำคัญต่อการระดมทุนในตลาดหุ้นผ่านการเพิ่มทุนมากขึ้น เพราะตัวเลข D/E ของบริษัทจดทะเบียนในปัจจุบันหลายแห่งเริ่มอยู่ในระดับที่สูงกว่า 1 เท่าตัว หลังจากที่ผ่านมา บริษัทส่วนใหญ่เลือกที่จะระดมทุนผ่านการขอสินเชื่อสถาบันการเงิน การออกหุ้นกู้ จนอัตราD/E ขึ้นมาอยู่ในระดับที่สูงแล้ว

นอกจากนี้ ต้องสนใจนโยบายของรัฐบาลในชุดปัจจุบัน ที่เน้นเพิ่มการบริโภคส่วนบุคคล และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน  ทำให้เชื่อว่า ไทยเริ่มเข้าสู่การปรับภาพลักษณ์องค์กรต่างๆ มากขึ้น ซึ่งจะมีผลให้นักลงทุนให้ความสนใจต่อตลาดหุ้นไทย ผ่านปัจจัยกระตุ้นต่างๆ เช่น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลมาอยู่ที่ 20% และการเชื่องโยงตลาด อาเซียน ลิ้งเกต

“หากตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องการให้ 5 ปีจากนี้ มีวอลุ่มซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่ 1แสนล้านบาท/วัน ก็ต้องทำหลายอย่างตามแผนพัฒนาตลาดทุน ทั้งการออกสินค้าใหม่ การให้ความรู้นักลงทุน การออกโปรโมชัน การขยายฐานไปสู่ต่างจังหวัด และเร่งสร้างนักลงทุนใหม่ขึ้นมา อีกทั้งเราต้องมองถึงการมีมาร์เกตเมกเกอร์ในตลาดหุ้นไทยเพิ่มเติมจากการซื้อขายในรูปแบบเดิมที่ใช้การจับคู่ เพราะปัจจุบัน เรามีความพร้อมในเรื่องดังกล่าวแล้ว หลังได้ปรับเปลี่ยนระบบเทรดใหม่”

ด้านนายบรรยง พงษ์พาณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน กล่าวว่า  เพื่อให้ขนาดของตลาดหุ้นไทยใหญ่ขึ้น มาตรฐาน พิธีการ และกฎระเบียบในการซื้อขายผ่านตลาดหุ้นไทยจะต้องมีความเป็นสากลมากขึ้น มีคุณภาพ จากปัจจุบันตลาดหุ้นไทยยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติอยู่ระดับที่สูง เห็นได้จากมูลค่าเงินลงทุนในตลาดหุ้นที่มีอยู่สูงถึง 90,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ไม่นับรวมบริษัทต่างชาติที่ย้ายเข้ามาตั้งฐานลงทุน

ขณะเดียวกัน ต้นทุนในแต่ละภาคอุตสาหกรรมที่ไม่เท่ากัน ก็มีผลต่อการระดมทุนของธุรกิจที่แตกต่างกัน ประเทศไทย ธุรกิจ SMEs คิดเป็น 37%ต่อจีดีพี  12% เป็นขนาดกลาง และ 25% เป็นขนาดเล็ก มีการจ้างงานถึง 84% ของทั้งประเทศ แต่ธุรกิจเหล่านี้ไม่สามารถเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นได้ ดังนั้น เครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสม ได้แก่ การทุนแบบเวนเจอร์ แคปปิตอล และการควบรวมกิจการ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการมากกว่า

นอกจากนี้ ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการนำบริษัทที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมาจดทะเบียนเพียงต้องการเพิ่มมูลค่า เพราะไม่มีผลต่อการผลักดันจีดีพีของประเทศไทยมากเท่าใด และหากต้องการสร้างความสมดุลกับโครงสร้างบริษัทจดทะเบียน ก็ควรพิจารณาถึงการจัดวางตำแหน่ง หรือหมวดธุรกิจให้แก่บริษัทจดทะเบียนให้ชัดเจนขึ้น เพราะหลายบริษัทยังมีความทับซ้อนกัน เช่น ปตท.ดำเนินธุรกิจในหลายรูปแบบในลักษณะโฮลดิ้ง แต่ยังถูกนำมาคำนวณอยู่กลุ่มพลังงานร่วมกับบริษัทลูก

สำหรับข้อเสนอแนะที่สถาบันวิจัยตลาดทุนนำเสนอ ประกอบด้วย 1.ส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจในภาคเศรษฐกิจหลักของประเทศเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น โดยเฉพาะภาคเกษตร และอุตสาหกรรม เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง 2.ลดอุปสรรคในการขยายกิจการของบริษัทจดทะเบียนในรูปแบบการควบรวมกิจการ และแบบโฮลดิ้ง คอมปานี เพื่อผู้ประกอบการที่มีศักยภาพได้รวมตัวกันให้มีมูลค่ากิจการที่ใหญ่เพียงพอในการใช้ตลาดหุ้นในการระดมทุน 3.ส่งเสริมให้บริษัทต่างประเทศที่ทำธุรกิจหลักในไทยเข้ามาจดทะเบียนในรูปแบบ Foreign Listing หรือ  Secondary Listing  โดยปรับปรุงเกณฑ์การลงทุน และมาตรการกฎหมาย และภาษีให้จูงใจ และ 4.ปรับกฎระเบียบต่างๆ ให้เอื้อต่อการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ที่ช่วยเร่งให้มาร์เกตแคปของหุ้นในภาคเศรษฐกิจหลักปรับตัวเข้าสู่สมดุลได้เร็วขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น