xs
xsm
sm
md
lg

ถ้าต้องทำงานกับหัวหน้าที่มีอารมณ์รุนแรงควรจะทำอย่างไร โดย อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา กรรมการบริหาร บริษัท ออคิด สลิงชอท จำกัด
Q: ถ้าต้องทำงานกับหัวหน้าที่มีอารมณ์รุนแรงควรจะทำอย่างไรค่ะ

A: ผมคิดว่าถ้าอยากเปลี่ยนเขา...คงยาก โดยเฉพาะกับคนที่มีอารมณ์รุนแรง สิ่งที่ควรทำคือกลับมามองว่าจะทำอย่างไรกับตัวเราดีเพื่อที่จะสามารถทำงานร่วมกับคนอย่างนี้ได้อย่างมีความสุข ประสบความสำเร็จ ไม่ตกเป็นเหยื่อของเขา จะง่ายกว่า

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันนิดหน่อย คำว่า "อารมณ์รุนแรง" นั้น ผมทึกทักเอาเองว่าหมายถึงการใช้ถ้อยคำที่รุนแรง ใช้อารมณ์ในการทำงาน ใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม ไม่ใช่หมายถึง "กระทำที่รุนแรง" เช่น การทำร้ายร่างกาย หรือขว้างปาสิ่งของใส่ เพราะหากเป็นอย่างหลังก็น่าจะไปดำเนินการตามตัวบทกฎหมาย หรือร้องทุกข์กล่าวโทษอย่างเป็นทางการ

ดังนั้นในที่นี้ขอตอบเฉพาะการใช้ถ้อยคำที่รุนแรง ใช้อารม์หรือคำพูดที่ไม่เหมาะสม เป็นหลักนะครับ

แนวทางรับมือที่อยากแนะนำ มี 4-5 วิธี

1. ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าจะเอาชนะ "คนใช้อารมณ์" ด้วยการ "ใช้อารมณ์" ไม่ได้ การใช้อารมณ์ตอบโต้อาจทำให้เรารู้สึกสะใจ แต่ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา ในทางกลับกันมีแต่จะทำให้สถานการณ์เลวลง ผมอยากให้มองคนใช้อารมณ์ว่าเป็นคนที่มีความเติบโตทางด้านจิตใจต่ำ (Emotional Immaturity) ดังนั้นหากเราใช้อารมณ์เหมือนกัน เราก็ลดตัวลงไป "ต่ำ" เหมือนเขา !

2. ในระหว่างที่เขามีอารมณ์ เราต้องหยุดโต้แย้ง โต้เถียง หรือแม้แต่อธิบาย เพราะระหว่างที่อารมณ์กำลังเป็นใหญ่สมองในส่วนเหตุผลจะหยุดการทำงาน ดังนั้นคำชี้แจง คำอธิบาย จะกลายเป็น "เถียง" ไปเสียฉิบ นอกจากจะเสียเวลา ไม่ได้ประโยชน์ใดๆ ยังอาจทำให้เหตุการณ์บานปลายได้อีกด้วย รอให้อารมณ์สงบ สมองส่วนเหตุผลเริ่มทำงาน แล้วจึงค่อยใช้เหตุผลอธิบายให้ฟัง ช้าหน่อยแต่ได้ผลมากกว่า ดีกว่าเร็วแต่ไม่ได้ผล

3. เวลาจะเข้าหาให้หาจังหวะดี ๆ ดูทิศทางลมว่าช่วงนี้อารมณ์เป็นอย่างไร หวังว่าเขา หรือเธอคนนั้นจะมีช่วงที่อารมณ์ดีอยู่บ้าง นอกจากนั้นให้หมั่นสังเกตุดูว่าอะไรเป็นตัวลั่นไก (Trigger) ที่ทำให้อารมณ์เปลี่ยนแปลง ตัวอย่างเช่น ผมทำงานกับผู้บริหารคนหนึ่ง เธอจะปี๊ดแตกถ้ามีใครพูดกับเธอว่า "คุณไม่เข้าใจ" อารมณ์ดีๆ ก็เปลี่ยนเป็นร้อนได้ทันที หน้าตายิ้มแย้มกลายเป็นยักษ์ได้เลย เธอจะขึ้นเสียงและตอบโต้ทันทีว่า "คุณนั่นแหละไม่เข้าใจ !" ดังนั้นหากรู้ว่าอะไร "ลั่นไก" อารมณ์ของเขา/เธอ ก็พยายามอย่างสุดความสามารถที่จะหลีกเลี่ยงการพูดหรือทำสิ่งนั้น อย่างน้อยที่สุดก็ "กับเขาหรือเธอคนนั้น"

4. หาโอกาสที่เหมาะสม หาจังหวะดีๆ คุยกับหัวหน้าลำดับถัดไป (หัวหน้าของหัวหน้า) บอกผู้บริหารระดับสูง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น HR ให้รับทราบ ใช้ภาษาที่นุ่มนวล พูดทำนองว่า "อยากแก้ปัญหาเรื่องนี้" ไม่ใช่ "เรื่องนี้เป็นปัญหา"

5. สุดท้ายถ้าทนไม่ไหวจริง ๆ ก็หาทางย้ายหนี ไม่ว่าจะเป็นการขอย้ายไปแผนกอื่น ย้ายไปเขตอื่น ย้ายไปสาขาอื่น หรือแม้แต่ย้ายไปอยู่บริษัทอื่น

ท้ายสุดที่อยากฝากไว้ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นนี้ โปรดทิ้งไว้ที่ทำงาน เพราะไม่ว่าจะทำอย่างไร เขา/เธอคนนี้ก็เป็นคนแบบนี้ คงไม่เปลี่ยนแปลงหรือถ้าเปลี่ยนก็น้อยมาก ในอดีตที่ผ่านมาน่าจะมีหลายคนที่เคยคิดจะเปลี่ยนแปลงเขา/เธอคนนี้มาแล้วและเชื่อว่าส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นจึงไม่มีประโยชน์อันใดที่เราจะเก็บความทุกข์กลับบ้านทุกวัน ชีวิตยังมีอีกหลายอย่างและมีอีกหลายคนที่บ้านที่ไม่รู้เรื่องราวพวกนี้ ดังนั้นกลับไปมีความสุขกับพวกเขา ดีกว่าแบกความทุกข์จากที่ทำงานกลับไปแล้วสร้างความทุกข์ต่อให้คนอื่นที่บ้านอีก ... จริงไหม !

อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
apiwut@riverorchid.com
กำลังโหลดความคิดเห็น