xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาช้างป่าที่แก้ไม่ตก ชาวบ้านเมืองกาญจน์ติงความคิดที่ว่าคนต้องอยู่กับช้างให้ได้ แต่ในความเป็นจริงไม่สามารถทำได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




กาญจนบุรี - มาฟังเสียงผู้นำกับการแก้ไขปัญหาภัยจากช้างป่า เผยสุดช้ำใจหลังถูกมองว่ารุกที่ช้าง ทั้งๆ ที่ชาวบ้านเสียสละที่ดินทำกินเพื่อสร้างเขื่อน เพ้อไปแล้วที่ว่าช้างกับคนต้องอยู่ด้วยกันให้ได้ ซึ่งในทางปฎิบัติไม่มีทางเป็นไปได้


วันนี้ (12 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีนายศักดิ์ชาย ตันเจริญ หรือมดเล็ก ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาติดตามผลการดำเนินงานและศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าอย่างยั่งยืน นำคณะกรรมาธิการเดินทางลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาและอุปสรรคจากผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ที่ประสบปัญหาจากภัยช้างป่าเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมจิตเกษม เขื่อนท่าทุ่งนา ต.ช่องสะเดา อ.เมือง จ.กาญจนบุรี โดยในวันดังกล่าวมีผู้นำหลายคนได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้คณะกรรมาธิการนำไปพิจารณาอยู่หลายแนวทาง เช่น นายคำนวณ ขำสุวรรณ ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอศรีสวัสดิ์ และนายวสันต์ สุนจิรัตน์ กำนันตำบลช่องสะเดา อ.เมือง จ.กาญจนบุรี

โดยนายคำนวณ ขำสุวรรณ ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อำเภอศรีสวัสดิ์ กล่าวว่า ช้างป่าในพื้นที่อำเภอศรีสวัสดิ์ค่อนข้างมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ ทำให้พืชผลทางการเกษตร รวมทั้งอุปกรณ์ในการทำการเกษตรไม่ว่าจะเป็นท่อน้ำ และอื่นๆ ของชาวบ้านได้รับความเสียหายจากการทำลายของช้างป่าเป็นอย่างมาก แต่ทางรัฐบาลไม่เคยเข้ามาดูแลหรือเยียวยาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้านเลย

แต่ถ้าหากเกิดเหตุมีช้างป่าตายไปเพียงแค่ตัวเดียวกลับกลายเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าหากทางรัฐบาลต้องการเอาช้างไว้ก็ต้องลงมาแก้ไขปัญหาให้จริงจัง เพราะปัจจุบันนี้ไม่มีการแก้ไขที่จริงจัง อย่างน้อยควรจะขุดเป็นคูคอนกรีตคล้ายคลองชลประทานและสร้างเป็นกำแพงคอนกรีตที่แข็งแรงขึ้นมาและมีถนนที่ใช้ในการตรวจการณ์ ทุกอย่างที่กล่าวมารัฐจะต้องมีความชัดเจนและลงมือทำอย่างจริงจัง ซึ่งจะต้องเอาช้างให้อยู่ ช้างอยู่ส่วนของช้าง คนอยู่ส่วนของคนไป

วันดีคืนดีจะมาพูดว่าคนจะต้องอยู่ร่วมกับช้างได้ ผมขอถามว่าคนที่พูดเขาได้มาอยู่กับพวกเราที่เป็นชาวบ้านหรือเปล่า คนที่พูดเขาไม่ได้อยู่กับเราแต่มาบอกให้เราอยู่ร่วมกับช้างป่าให้ได้ ความเป็นจริงแล้วมันอยู่ร่วมกันไม่ได้ ขณะนี้เกษตรกรที่เป็นลูกบ้านต้องมาเป็นหนี้ ธ.ก.ส. บางรายถึงกับต้องประกาศขายที่ดินทิ้ง สาเหตุเพราะเกิดจากช้างป่า ชาวบ้านที่กู้เงินมาเพื่อปลูกมะละกอฮาวาย ปลูกกล้วยและปลูกขนุน รวมทั้งพืชไร่ชนิดอื่นๆ ซึ่งจะต้องมีการลงทุนเดินระบบสปริงเกอร์รดน้ำ แต่ถูกช้างมากินและทำลายอุปกรณ์ต่างๆ จนเสียหายไปหมด เมื่อพืชผลทางการเกษตรเกิดความเสียหายทำให้ชาวบ้านไม่มีเงินที่จะนำไปใช้หนี้คืนให้ ธ.ก.ส.ที่กู้มา ส่วนรัฐบาลไม่มีการเยียวยา

ทุกคนที่ออกมาพูดทั้งหมดอยู่แต่ในห้องแอร์ โดยพูดว่ารักช้าง ต้องอนุรักษ์ช้าง เพราะเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองจะต้องดูแล แต่ไม่ได้ดูแลคนในประเทศไทยเลย ทั้งๆ ที่ภาษีนั้นเก็บจากคน ไม่ได้เก็บจากช้าง แต่เงินภาษีที่เก็บจากคนกลับไปทุ่มกับการดูแลช้าง ดังนั้นหน้าที่ของพวกผมที่เป็นกำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน แค่ดูแลคน ดูแลเรื่องยาเสพติดจะแย่อยู่แล้ว แต่ทุกวันนี้ต้องมาดูแลเรื่องช้างด้วย ทำให้งานหนักขึ้นอีก วานนี้ต้องไปทำรั้วไฟฟ้ากันช้าง ซึ่งรั้วไฟฟ้ากันช้างเมื่อมีกิ่งไม้มาโดนมันก็ช็อตลงดินหมดจึงต้องทำความสะอาดอยู่ตลอด โดยวานนี้เอาคนที่เป็นจิตอาสาไป 30 กว่าคนเพื่อไล่ตัดกิ่งไม้ออกเพื่อป้องกันไม่ให้ไฟฟ้าช็อตลงดิน โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นช่วงหน้าฝนจะต้องทำอย่างน้อย 2 อาทิตย์ต่อครั้ง การทำแต่ละครั้งต้องใช้เงินเยอะพอสมควร

ดังนั้น อยากจะฝากคณะกรรมาธิการที่ดูแล เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาช้างป่าว่าเวลาจะทำแนวรั้วไฟฟ้าช็อตช้าง หรือวิธีอะไรก็แล้วแต่ อยากให้ลงทุนทำ จะใช้งบประมาณแพงเท่าไหร่พวกเราไม่ว่าแต่ขอให้ลงทุนเพียงครั้งเดียวแล้วได้เห็นผลทันที ไม่ใช่ลงทุนไปแล้วแต่ต้องกลับมาซ่อมแซมบ่อยๆ เพราะมันดูเหมือนเอางบประมาณมาละลายกับแม่น้ำทิ้งโดยไม่เกิดประโยชน์ เช่น รั้วไฟฟ้ากึ่งถาวรที่ใช้กันช้างที่มีอยู่มันเหมือนกับรั้วล้มลุกเพราะกันช้างข้ามออกมาไม่ได้ เมื่อเสารั้วล้มนำงบประมาณมาซ่อมแซมซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย

ชาวบ้านจึงอยากให้ออกแบบสร้างเป็นคูน้ำคล้ายคลองชลประทาน โดยมีกำแพงคอนกรีตที่ได้มาตรฐานและรั้วไฟฟ้ากั้นอย่างถาวรอีกชั้นหนึ่งซึ่งจะทำให้ช้างออกมาไม่ได้ จากนั้นให้ทำถนนตรวจการณ์เพื่อให้ชาวบ้านที่เป็นจิตอาสามาช่วยเจ้าหน้าที่ได้อย่างปลอดภัย เชื่อว่าถ้าไม่ทำตามนี้อีกไม่เกิน 5 ปีชาวบ้านอยู่ไม่ได้แน่นอน

นายคำนวณ ขำสุวรรณ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาบางครั้งเมื่อกลุ่ม NGO เข้ามาในพื้นที่อำเภอศรีสวัสดิ์ จะพูดอยู่เป็นประจำว่าให้อนุรักษ์ช้างอยู่คำเดียว แต่คำพูดที่ทำให้เรารู้สึกช้ำใจที่สุดคือมาบอกว่าพวกเราชาวบ้านไปบุกรุกที่อยู่ของช้างป่า ขอถามกลับไปว่าช่วงที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตมาสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ แล้วให้ชาวบ้านย้ายขึ้นมาอยู่ด้านบนพวกเราชาวบ้านยอมเสียสละให้ แต่กลับมาถูกมองว่าพวกเราแย่งที่อยู่ของช้าง อยากให้คนที่พูดมาเป็นชาวบ้านอย่างพวกเราดูบ้างแล้วจะรู้สึกอย่างไร ซึ่งการที่ให้พวกเราย้ายมาอยู่ในที่ดินผืนใหม่ที่อยู่ด้านบนของภูเขา ภาครัฐไม่ยอมออกเอกสารสิทธิให้ พวกเราต้องไปติดตามเรื่องกันเอาเอง

ด้านนายวสันต์ สุนจิรัตน์ กำนันตำบลช่องสะเดา อ.เมือง จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า ตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ชาวตำบลช่องสะเดาไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาเรื่องภัยจากช้างป่าอย่างจริงจังและยั่งยืน ซึ่งปัญหาช้างป่าของตำบลช่องสะเดาไม่ได้เกิดจากปัญหาการขาดผืนป่า แต่ปัญหามันเกิดจากอัตราการเกิดของช้างมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี จึงเป็นสาเหตุทำให้ช้างออกมารบกวนสร้างความเสียหายให้ทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน

สิ่งที่เราต้องการมากที่สุดคือแนวป้องกัน เพราะการเดินทางจากตัวอำเภอเมืองกาญจนบุรีขึ้นไปถึงอำเภอศรีสวัสดิ์ ตลอดเส้นทางเป็นแหล่งท่องเที่ยวเกือบทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาช้างป่าได้ออกมาบนถนนสาย 3199 ตลอดเส้นทาง จึงสร้างปัญหาให้นักท่องเที่ยวและผู้สัญจรไปมา การแก้ปัญหาของกรมอุทยานนั้นง่ายมาก เพียงแค่เอาป้ายที่มีข้อความว่า “ถ้ารถคันใดผ่านแล้วชนช้าง ถ้าช้างเสียชีวิตจะต้องถูกปรับ 1 ล้านบาท” ไปติดตั้งตามจุดต่างๆ ผมจึงมองว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกต้อง ดังนั้นผมจึงต้องการให้แก้ปัญหาให้ถูกต้อง และที่สำคัญผมไม่ชอบที่จะต้องมาตามแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะทุกวันนี้พวกเราชาวบ้านแทบไม่ได้หลับได้นอน เพราะกำนัน หรือผู้ใหญ่บ้านต้องคอยไปเรียกชาวบ้านที่เป็นจิตอาสาให้ไปช่วยกันผลักดันช้างกันทุกคืน

สำหรับพฤติกรรมของช้างป่าที่ออกมากินพืชผลทางการเกษตรของประชาชนนั้น ช้างไม่ได้กินครั้งเดียวเป็น 1-2 ไร่ แต่ช้างจะกินครั้งละครึ่งงานหรือ 1 งาน หรือน้อยกว่านั้น จากนั้นจะเดินไปกินที่อื่นๆ ทำให้พืชไร่ของชาวบ้านยังเหลืออยู่ แต่การประเมินจ่ายค่าชดเชยนั้น พืชเกษตรจะต้องเสียหายอย่างสิ้นเชิง หรือถูกช้างป่ากินทำลายเสียหายทั้งไร่โดยไม่หลงเหลือ เมื่อประเมินเช่นนี้ไม่สามารถจ่ายค่าชดเชยได้

ส่วนตัวไม่ได้กล่าวโทษท้องถิ่น ไม่ได้โทษเจ้าหน้าที่ระดับล่างหรือระดับเขต หลักเลยคือต้องโทษเจ้าหน้าที่ระดับกระทรวง เพราะระดับกระทรวงไม่ลงมาดูแลประชาชนและไม่ดูแลลูกน้องของท่าน มีแต่เพิ่มแต่งานแต่เงินไม่เพิ่มให้ คนก็ไม่เพิ่ม เรื่องนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาได้

ดังนั้นผมจึงอยากจะฝากคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาภัยจากช้างป่าว่า ให้เร่งทำเรื่องการทำประกันช้างและประกันทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนโดยเร็ว เพราะว่าเมื่อเกิดความเสียหายของทรัพย์สินบริษัทประกันจะได้เข้ามาดูแลอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่ว่าต้องให้ทรัพย์สินเสียหายอย่างสิ้นเชิงจึงจะเข้ามาดูแล เรื่องนี้ผมมองว่าเป็นการบีบบังคับประชาชนเกินไป ที่ผ่านมา มีข่าวให้เห็นอยู่เป็นประจำเกือบทุกปีว่าช้างทำร้ายคนตาย หากไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง ต่อไปอนาคตผมมองว่าต้องมีการสูญเสียช้างเกิดขึ้น เพราะทุกคนเริ่มเหลืออดจริงๆ









กำลังโหลดความคิดเห็น