กาญจนบุรี - “มดเล็ก ศักดิ์ชาย” นำคณะ กมธ.วิสามัญฯ แก้ไขปัญหาช้างป่า ลงพื้นที่ ติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาช้างป่าในพื้นที่กลุ่มป่าตะวันตก จ.กาญจน์
วันนี้ (11 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมจิตเกษม เขื่อนท่าทุ่งนา ต.ช่องสะเด อ.เมือง จ.กาญจนบุรี นายศักดิ์ชาย ตันเจริญ หรือมดเล็ก ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาติดตามผลการดำเนินงาน และศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าอย่างยั่งยืน รวมทั้งมาตรการเยียวยาความเสียหายให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยช้างป่า พร้อมด้วยนายสฤษดิ์ บุตรเนียร รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สอง นายดิเรก จอมทอง เลขานุการคณะกรรมาธิการ นายพิเชฐ นุ่นโต โฆษกคณะกรรมาธิการ นายไพรินทร์ หนูมาก โฆษกคณะกรรมาธิการ ร.ต.ต.ดำเนิน คาแก้ว โฆษกคณะกรรมาธิการ นายตาล วรรณกูล กรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ นายเผด็จ ลายทอง กรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ รวมทั้งนายปรเมษฐ์ จินา กรรมาธิการ และข้าราชการสำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร ประชุมติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาช้างป่าในพื้นที่กลุ่มป่าตะวันตก
โดยมีนายมานะ เพิ่มพูล ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) นายวสันต์ สุนจิรัตน์ กำนัน ต.ช่องสะเดา นายนิติกร แสงทอง ส.อบจ.กาญจนบุรี เขต 6 นายชัยวัฒน์ วงษ์ฝูง ส.อบจ.เขต อ.ศรีสวัสดิ์ นายนพนันท์ ศรีสุวรรณ์ นายก อบต.หนองเป็ด นายคำนวณ ขำสุวรรณ ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอศรีสวัสดิ์ รวมทั้งผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ และประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากภัยช้างป่า ทั้งจาก อ.เมืองกาญจนบุรี อ.บ่อพลอย อ.ไทรโยค อ.ศรีสวัสดิ์ อ.ทองผาภูมิ กว่า 100 คนเข้าร่วม มีเจ้าหน้าที่สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) ประเทศไทย เจ้าหน้าที่องค์กร Ourland และสมาชิกพรรคก้าวไกล ร่วมสังเกตการณ์และรับฟังปัญหา
ทั้งนี้ ผู้นำท้องถิ่นในหลายพื้นที่ได้แสดงความคิดเห็น รวมถึงนำเสนอถึงปัญหาและอุปสรรค ที่เกิดขึ้นระหว่างคนกับช้าง โดยเฉพาะปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่มากินและทำลายพืชผลทางการเกษตร ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน เพราะไม่ได้รับการเยียวยาจากหน่วยงานภาครัฐ
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเกี่ยวกับงบประมาณที่ต้องการนำมาปรับปรุงซ่อมแซมคูน้ำ รวมทั้งรั้วกันช้างป่าไม่ให้ออกนอกพื้นที่ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีงบประมาณพร้อมที่จะดำเนินการ แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากพื้นที่เป็นของกรมอุทยานฯ โดยนายศักดิ์ชาย ตันเจริญ ประธานคณะกรรมาธิการฯ จะนำข้อมูลปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่ผู้นำท้องถิ่นเสนอมาไปประชุมร่วมกับร้อยโททศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอีกครั้งหนึ่งที่ศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี จากกำหนดการ จะปิดการประชุมในเวลา 17.00 น.
นายศักดิ์ชาย ประธานคณะกรรมาธิการเปิดเผยว่า วันนี้ได้นำคณะกรรมาธิการเดินทางมาที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อรับฟังปัญหาของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยช้างป่า ซึ่งปัญหาช้างป่าที่ประเทศของเรามีเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ปัญหาช้างป่าในแต่ละพื้นที่จะไม่เหมือนกัน คณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้มีหน้าที่เข้ามาแก้ปัญหา และรับฟังปัญหาของพี่น้องประชาชน จากนั้นจะนำปัญหาต่างๆ ไปวิเคราะห์อีกครั้งหนึ่ง ปัจจุบันปัญหาช้างป่ามีอยู่ทั้งหมด 27 จังหวัด โดยช่วงบ่ายจะไปประชุมร่วมกับจังหวัดและจะดูว่าทางจังหวัดเขามีวิธีแก้ปัญหาให้พี่น้องชาวกาญจนบุรีกันอย่างไรบ้าง หากมีข้อสงสัยทางคณะกรรมาธิการจะคอยแนะนำแนวทางต่อไป
แต่ในส่วนของคณะกรรมาธิการของเรามีแนวทางการแก้ไขปัญหาใน 3 ระยะ คือระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ระยะสั้นคือการเยียวยาให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยช้างป่ากรณีถูกช้างกินและทำลายพืชผลทางการเกษตร หรือแม้กระทั่งถูกช้างป่าทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แผนระยะกลางคือการควบคุมปริมาณของช้างป่าด้วยการฉีดฮอร์โมนในการทำหมัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปรึกษาหารือกันอยู่ สำหรับแผนระยะยาวคือการดำเนินการผลักดันช้างให้กลับเข้าไปอาศัยอยู่ในผืนป่าลึก โดยมีแหล่งน้ำแหล่งอาหารให้ช้างได้กินอย่างอุดมสมบูรณ์ เมื่อช้างมีแหล่งอาหารในผืนป่าลึกที่อุดมสมบูรณ์ช้างจะไม่ออกมาหากินนอกพื้นที่อีกต่อไป
ในอนาคตสามารถผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว จะสร้างรายได้ให้ชุมชนเป็นอย่างดี ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาติดตามผลการดำเนินงานและศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าจะพยายามแก้ไขปัญหาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทุกจังหวัดเพื่อความอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต