xs
xsm
sm
md
lg

กรมอุทยานแห่งชาติฯ ลงนาม MOU กับ 5 องค์กร อนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ในพื้นที่มรกดโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี - กรมอุทยานแห่งชาติฯ ลงนาม MOU กับ 5 องค์กร ในการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ และพื้นที่คุ้มครองทางธรรมชาติ

วันนี้ (3 พ.ค.) ห้องประชุมใหญ่ อาคารกริต สามะพุทธิ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช น.ส.พิมพ์ภาวดี พหลโยธิน ประธานกรรมการบริหาร องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) สำนักงานประเทศไทย น.ส.พรกมล จรบุรมย์ ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย น.ส.เมย์ โม วาฮ์ ผู้อำนวยการสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) ประเทศไทย น.ส.กฤษณา แก้วปลั่ง ผู้อำนวยการองค์การแพนเทอรา (Panthera) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ และ พล.ต.ต.เพชรัตน์ แสงไชย ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิฟรีแลนด์ (Freeland) ประเทศไทย

ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ และพื้นที่คุ้มครองทางธรรมชาติ โดยมี ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธี

สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ กลุ่มภาคีทั้ง 6 หน่วยงาน มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายเพื่อบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งระหว่างภาคี ในการอนุรักษ์และคุ้มครองทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และความหลากหลายทางชีวภาพ การจัดการพื้นที่คุ้มครอง และการจัดการด้านสัตว์ป่าและถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าของประเทศไทย

เพื่อให้ได้องค์ความรู้ทางวิชาการ เทคนิคและวิธีการ ระบบการทำงานของเจ้าหน้าที่มีประสิทธิภาพ นวัตกรรมในการอนุรักษ์และจัดการพื้นที่คุ้มครองที่มีประสิทธิภาพ และการสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ด้านการปกป้อง คุ้มครอง และสงวนทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ

สำหรับพื้นที่นำเสนอเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ พื้นที่คุ้มครองที่มีความสำคัญในการอนุรักษ์สัตว์ป่า พื้นที่คุ้มครองที่มีศักยภาพ ในการฟื้นฟูแนวเชื่อมต่อระบบนิเวศ และพื้นที่ที่มีความสำคัญระดับภูมิภาค เช่น ผืนป่าตะวันตก ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ผืนป่าแก่งกระจาน และผืนป่าภูเขียว-น้ำหนาว เป็นต้น ซึ่งเป็นการยกระดับการอนุรักษ์และการจัดการพื้นที่คุ้มครองให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการป้องกันอาชญากรรมสัตว์ป่าและพืชป่าทั้งในและนอกพื้นที่อนุรักษ์ และการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นผู้นำระดับภูมิภาคด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ

ด้านกรอบความร่วมมือของภาคี จะให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือ และสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินงานในกรอบความร่วมมือด้านต่างๆ ภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 และระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งการป้องกัน คุ้มครอง การบังคับใช้กฎหมาย การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับระบบนิเวศ การตรวจติดตามการเปลี่ยนแปลงประชากรสัตว์ป่า ถิ่นอาศัย และภัยคุกคาม

ในการพัฒนา แลกเปลี่ยน และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิชาการ การรณรงค์และประชาสัมพันธ์เผยแพร่ รวมถึงการจัดกิจกรรมร่วมกัน เช่น การแสดงนิทรรศการและการนำเสนอผลงาน การเสริมสร้างสมรรถนะ พัฒนาความรู้และทักษะให้แก่บุคลากร เจ้าหน้าที่ของภาคี ชุมชนท้องถิ่นและภาคประชาสังคม โดยผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การฝึกอบรม การสัมมนา การประชุมหรือการประชุมเชิงปฏิบัติการ เป็นต้น

ทั้งนี้ บันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ภาคีทุกฝ่ายลงนามร่วมกัน และสามารถขยายระยะเวลาความร่วมมือไปอีก 5 ปีได้ โดยความยินยอมร่วมกันของภาคีทุกฝ่าย








กำลังโหลดความคิดเห็น