กาญจนบุรี - องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล WWF ติดตามความก้าวหน้าและความเป็นได้เกี่ยวกับโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง พร้อมลงพื้นที่พัฒนาแหล่งน้ำและแหล่งอาหารในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล WWF เข้าพบนายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี เพื่อติดตามความก้าวหน้าความเป็นไปได้เกี่ยวกับโครงการความร่วมมือเกี่ยวกับการขยายพันธุ์กวางป่า เพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ส่งเสริมการฟื้นฟูประชากรเหยื่อของเสือโคร่งในถิ่นอาศัยที่มีศักยภาพในกลุ่มป่าตะวันตก และกลุ่มป่าแก่งกระจาน
โดยนายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า โครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง เป็นการดำเนินโครงการที่องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล WWF ให้ความสนใจและได้ขอเข้ามาดำเนินโครงการจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยการที่จะฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งได้นั้น สิ่งสำคัญคือให้ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ มีประชากรเหยื่อ เพียงพอ อันจะเป็นจำพวกสัตว์กีบกินพืชต่างๆ เช่น กวาง เก้ง ละอง-ละมั่ง ทราย วัวแดง และการที่ประชากรเหยื่อต่างๆ เหล่านี้จะสามารถดำรงชีวิตอย่างสมบูรณ์และขยายพันธุ์ได้เป็นอย่างดีได้นั้นในพื้นที่โครงการต้องมีการพัฒนาในเรื่องของแหล่งน้ำและแหล่งอาหารให้มีความเพียงพอต่อความต้องการของสัตว์ที่เพิ่มขึ้น
โดยในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ส่วนใหญ่พื้นที่จะเป็นป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรังกว่า 80% โดยเฉพาะในพื้นที่ตอนกลางซึ่งเป็นที่ราบสลับภูเขาเตี้ยๆ ทางด้านตอนบนและตอนล่างของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ (ทุ่งนามอญ-ทุ่งสลักพระ) มีพื้นที่ราบรวมกว่า 30,000 ไร่ อันมีความเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการอยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิดโดยเฉพาะสัตว์กีบกินพืชต่างๆ
อีกทั้งการที่องค์กร PANTHERA เข้ามาทำการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์ป่าตระกูลแมว ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ และพบว่ามีเสือโคร่งได้เข้ามาอยู่ในพื้นที่จำนวนหนึ่งนั้น จึงเป็นข้อมูลที่ชัดเจนและสามารถทำให้เรามองไปถึงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งที่เป็นรูปธรรมและเกิดขึ้นจริงได้แน่นอนในพื้นที่แห่งนี้
โครงการดังกล่าว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ประเทศไทย (WWF THAILAND) จะมีการส่งเสริมการเพาะพันธุ์กวางในสถานีเพาะเลี้ยง เพื่อนำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ อันเป็นการเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรม ของกวางป่าในธรรมชาติ ซึ่งเป็นสัตว์ป่า คุ้มครองที่อยู่ในสถานะถูกคุกคาม ในบัญชีแดงของ IUCN
การดำเนินการของ WWF ครั้งนี้ มุ่งไปที่การฟื้นฟูประชากรเหยื่อเพื่อสร้างความสมดุลให้กับธรรมชาติ โดยให้สัตว์ผู้ล่าสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยเฉพาะเสือโคร่งซึ่งอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ ให้สามารถฟื้นฟูประชากรและดำรงอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของเมืองไทยโดยเฉพาะผืนป่าตะวันตก ซึ่งเป็นผืนป่าที่มีความต่อเนื่องใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ซึ่งการเพาะเลี้ยงจะใช้สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าทั้งหมด 4 สถานีด้วยกัน ประกอบด้วย 1.สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จ.ราชบุรี 2.สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทราย จ.เพชรบุรี 3.สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี และ 4.สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์
โครงการความร่วมมือการขยายพันธุ์กวางป่า เพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติส่งเสริมการฟื้นฟูประชากรเหยื่อของเสือโคร่งในถิ่นอาศัยที่มีศักยภาพในกลุ่มป่าตะวันตก และกลุ่มป่าแก่งกระจาน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในประเทศไทยตามแผนปฏิบัติการอนุรักษ์เสือโคร่งแห่งชาติ และยังครอบคลุมถึงการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ การบังคับใช้กฎหมาย และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
โดยในห้วงที่ผ่านมา กรมอุทยานแห่งชาติประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการลดการสูญเสียพื้นที่อนุรักษ์ ทำให้จำนวนประชากรเสือโคร่งในประเทศไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยเสือโคร่งแต่ละตัวที่สำรวจพบ สามารถบันทึกข้อมูลรายละเอียดในฐานข้อมูลที่สามารถติดตามผลได้อย่างเป็นระบบ เพื่อประโยชน์ในการกำหนดแนวทางในการจัดการเสือโคร่ง และป้องกันไมให้เสือโคร่งสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่นั้นๆ
ที่ผ่านมา กรมอุทยานแห่งชาติมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในการเพาะขยายพันธุ์สัตว์กีบคู่ซึ่งเป็นอาหารหลักของเสือโคร่ง เช่น กระทิง วัวแดง กวางป่า หมูป่า และเก้ง และปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในพื้นที่ป่าธรรมชาติที่มีศักยภาพเป็นถิ่นอาศัยของเสือโคร่งได้เป็นอย่างดี โดยตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 กรมอุทยานแห่งชาติได้มีการปล่อยสัตว์กีบคู่ขนาดใหญ่คืนสู่ธรรมชาติประมาณ 1,300 ตัว ในพื้นที่อนุรักษ์ทั่วประเทศ ซึ่งในจำนวนนั้นมีการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในพื้นที่กลุ่มป่าตะวันตกและกลุ่มป่าแก่งกระจาน จำนวน 500 ตัว
โดยงานวิจัยได้ระบุว่า การเพิ่มขึ้นของประชากรเหยื่อของเสือโคร่งตามธรรมชาติ เป็นข้อจำกัดที่สำคัญต่อการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในทุกพื้นที่อนุรักษ์ในประเทศไทย และการเพิ่มประชากรเหยื่อของเสือโคร่ง โดยการปล่อยประชากรเหยื่อคืนสู่ธรรมชาติ จะสามารถฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งได้เร็วขึ้น (Phumanee et al 2021; Steinmetz et al. 2020; Jonburom et al. 2020; Poonjampa et al. 2021.)
ดังนั้น เป้าหมายโครงการความร่วมมือการขยายพันธุ์สัตว์ป่าชนิดที่เป็นเหยื่อหลักของเสือโคร่ง โดยเฉพาะกวางป่าเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ จึงเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการฟื้นฟูประชากรเหยื่อของเสือโคร่งในถิ่นอาศัยที่มีศักยภาพในกลุ่มป่าตะวันตก และกลุ่มป่าแก่งกระจาน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งของกรมอุทยานแห่งชาติ อีกทั้งเป็นไปตามแผนการขยายพันธุ์ ปรับปรุงพันธุกรรมกวางป่าในกรงเลี้ยงภายใต้ความรับผิดชอบของกลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าอีกทางด้วย
ทั้งนี้ โครงการความร่วมมือการขยายพันธุ์กวางป่า เพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ส่งเสริมการฟื้นฟูประชากรเหยื่อของเสือโคร่งในถิ่นอาศัยที่มีศักยภาพในกลุ่มป่าตะวันตก และกลุ่มป่าแก่งกระจาน เกิดจากการประสานความร่วมมือระหว่างสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทราย สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาค้อ กลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าและองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (สำนักงานประเทศไทย) หรือ WWF ประเทศไทย ภายใต้บันทึกความเข้าใจความร่วมมือในการอนุรักษ์และจัดการกลุ่มป่าพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับองค์การอนุรักษ์ระหว่างประเทศ และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านการอนุรักษ์ระหว่างประเทศที่ดำเนินงานในประเทศไทย