นครศรีธรรมราช - ชาวบ้านและนายอำเภอนบพิตำ จี้อุทยานฯ เร่งนำช้างออกจากชุมชน หลังอาละวาดใน 11 หมู่บ้านร่วมครึ่งปี พบเริ่มถูกยิงขับไล่บาดเจ็บ งวงรั่วเป็นแผลฉกรรจ์ ควาญอาวุโสแฉไม่ใช่ช้างป่า แต่เป็นช้างเลี้ยงเถื่อนถูกปล่อยคืนป่า
วันนี้ (14 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 11 หมู่บ้านใน ต.กรุงชิง อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช โดยเฉพาะในพื้นที่สวนทุเรียน สวนไม้ผลอื่นๆ สวนยางพารา และปาล์มน้ำมัน ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักต่อเนื่องกว่า 6 เดือนแล้ว จากช้างป่าเพศผู้ที่ชาวบ้านเรียกว่า “พลายไข่นุ้ย” ได้เข้าหาอาหารในพื้นที่การเกษตร กลายเป็นการทำลายพืชผลอย่างหนัก โดยเฉพาะสวนทุเรียนทวาย ที่มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 250 บาท ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมามีความเสียหายอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทำได้เพียงส่งเจ้าหน้าที่เข้าติดอุปกรณ์จีพีเอส ระบุตำแหน่งของช้างเท่านั้น การทำลายผลอาสินของชาวบ้านยังเกิดขึ้นโดยที่ไม่สามารถแก้ไขได้
โดยล่าสุดนั้นมีรายงานจากพื้นที่ระบุว่า ช้างตัวนี้ชาวบ้านหลายจุดจำเป็นต้องใช้ปืนยิงขับไล่แล้ว เนื่องจากมีพฤติกรรมที่ไม่ยอมกลับเข้าป่า และป้องกันการเข้าพื้นที่สวนทุเรียน ที่หลายแปลงมีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อการส่งออกมูลค่าหลายล้านบาท ซึ่งอาจสร้างความเสียหายรุนแรงเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน พบว่ามีบาดแผลฉกรรจ์ที่บริเวณงวง เหนือจากปลายงวงประมาณ 1-2 ฟุต ทำให้งวงรั่ว การดื่มน้ำของช้าง หรือการใช้ปลายงวงเป็นไปด้วยความยากลำบาก และมีร่องรอยบาดเจ็บจากอาวุธปืนบริเวณผิวหนัง โดยยังที่ไม่มีการแก้ไขปัญหา อาจทำให้ช้างตัวนี้ถึงตายได้ในเวลาไม่นาน
นายจรินทร์ธร นกล่อง ควาญช้างอาวุโสชุมชนกรุงชิง ระบุว่า ตรวจสอบข้อมูลช้างตัวนี้แล้วมั่นใจว่าไม่ใช่ช้างป่า แต่เป็นช้างเถื่อน หรือช้างเลี้ยงแบบผิดกฎหมาย ไม่มีตั๋วรูปพรรณช้าง มีการเลี้ยงอยู่แถบใกล้เคียงอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น ฝั่ง จ.สุราษฎร์ธานี แต่ทราบว่าคนเลี้ยงต้องคดีถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำ ทำให้ไม่มีใครเลี้ยงช้างตัวนี้ต่อเนื่อง จากดื้อหรือควบคุมไม่ได้จึงจำเป็นต้องปล่อยกลับเข้าป่า ช้างตัวนี้เดินเรื่อยมาจากฝั่ง จ.สุราษฎร์ธานี ร่วมปีแล้ว ก่อนมาปักหลักอยู่ในกรุงชิงประมาณ 6 เดือน สร้างความเสียหายต่อเนื่อง มีทางเดียวคืออุทยานฯ ต้องนำออกไปอยู่ในที่เหมาะสม เพราะเขาไม่ได้มีนิสัยเป็นช้างป่าแล้ว หรือให้ผู้ที่เลี้ยงช้างจ่ายภาษีค่าตั๋วช้างแล้วนำไปเลี้ยงต่อ เชื่อว่ามีควาญที่รับไปดูแลได้ ขอให้เป็นขั้นตอนที่ถูกกฎหมาย
ขณะที่ นายมงคล ภักดีสุวรรณ์ นายอำเภอนบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช ระบุว่า ปัญหาสะสมมาต่อเนื่อง จนขณะนี้เป็นมาตรการสุดท้าย คือขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำช้างออกจากพื้นที่ไปไว้ยังที่เลี้ยงช้าง ทราบจากอุทยานฯ ว่ามีที่ จ.ลำปาง ซึ่งปัญหานี้ได้เสนอตั้งแต่วันแรกว่าช้างมีนิสัยแบบนี้ ต้องเสนอผู้บังคับบัญชาไป และต้องขอให้มีการนำช้างออกจากพื้นที่ เพราะความเดือดร้อนขยายวงมากขึ้น และช้างมีนิสัยที่ไม่ใช่ช้างป่าแล้ว