xs
xsm
sm
md
lg

ส.ส.กาญจน์เสนอไอเดียสร้างแนวกันช้าง-สกายวอล์กรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ แก้ปัญหาคนกับช้างป่าถาวร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี - ส.ส.ศักดิ์ดา เสนอไอเดียสร้างแนวกันช้าง-สกายวอล์กรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยว แก้ปัญหาคนกับช้างป่าถาวร
 
วันนี้ (10 พ.ค.) นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ ส.ส.กาญจนบุรี เขต 4 ได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาช้างป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และที่ผ่านมา ช้างป่าได้ออกมาหากินนอกพื้นที่ทำให้ชาวบ้านและเกษตรกรที่อาศัยอยู่โดยรอบได้รับความเดือดร้อนจากการที่ช้างป่ากิน และทำลายพืชผลทางการเกษตร มีให้เห็นเป็นประจำทุกวัน
 
ประเด็นที่ 1 คือ วันนี้ช้างป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ มีจำนวนมากขึ้นทุกปี เนื่องจากว่าทางราชการไม่ได้มีการควบคุมอัตราการเกิด เพราะว่าการทำหมันช้างยังไม่เกิดขึ้น ประเด็นที่ 2 เรื่องของการล่าสัตว์ป่าในอดีตในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี พ.ศ.2503 ทางราชการได้มีการอนุญาตให้มีการล่า แต่ปัจจุบันไม่มีการอนุญาตให้ล่าแล้ว เพราะฉะนั้นประชากรสัตว์ป่าโดยเฉพาะช้างป่าจึงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
 
ซึ่งปัจจุบัน สังคมไทยพยายามสอนให้คนรักสัตว์เพราะเมื่อรักสัตว์สิ่งที่ผมกล่าวมาใน 2 ประเด็นแรกไม่มีการดำเนินการ เพราะฉะนั้น จำนวนประชากรช้างป่าก็เพิ่มขึ้นทุกปี ปีละหลายตัว สำหรับช้างป่าเรียกเป็นตัว ส่วนช้างบ้านนั้นเรียกเป็นเชือก เมื่อช้างป่าเพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่พื้นที่ป่ายังคงมีเท่าเดิมอีกทั้งยังมีโอกาสลดเหลือน้อยลงด้วยซ้ำไป
 
และในทุกวันนี้ปริมาณน้ำฝนกับในอดีตมันแตกต่างกัน น้ำฝนที่อยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติหรือที่เราเรียกว่าโป่งลดน้อยลง ทำให้เกิดความแห้งแล้งและตื้นเขิน สิ่งเดียวที่ช้างป่าจะเอาชีวิตตัวเองให้รอดในช่วงฤดูแล้ง หรือช่วงฤดูไหนก็ตามคือการออกมาหาอาหารและแหล่งน้ำข้างนอกป่า หรือนอกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือบริเวณใกล้เคียง
 
เมื่อช้างออกจากป่าแล้วมาเจอพืชผลทางการเกษตร เช่น อ้อยและอื่นๆ ซึ่งพืชผลทางการเกษตรที่ชาวบ้านปลูกเอาไว้ส่วนใหญ่เป็นพืชเกษตรชนิดเดี่ยวที่ปลูกเอาไว้ในแปลงเดียวกัน เมื่อช้างป่าได้ลิ้มรสชาติรู้สึกอร่อยจนกินเพลิน หลังจากกินอิ่มก็กลับเข้าป่าเมื่อถึงเวลาช้างก็กลับมาอีก จึงสร้างความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชนที่อยู่รอบแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
 
นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ กล่าวแนะนำว่า การที่จะให้ช้างอยู่กับป่าโดยไม่ออกมานอกพื้นที่อีกต่อไปมีอยู่วิธีเดียวคือ เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า กรมอุทยานจะต้องรับซื้อพืชผลทางการเกษตรจากชาวบ้านที่ปลูกเอาไว้โดยรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า  เช่น อ้อย มะละกอ รวมทั้งขนุน หรือมะม่วง และอื่นๆ แล้วนำเอาไปไว้ในเขตป่าเพื่อให้ช้างได้กินเป็นอาหาร เมื่อช้างป่าหรือสัตว์ป่าชนิดได้ได้กินแล้วอิ่มช้างป่าจะไม่ออกมารบกวนชาวบ้านอีกต่อไป
 
ดังนั้น จึงอยากจะแนะนำไปยังอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่า  เราควรจะรับซื้อพืชผลทางการเกษตรชนิดที่ช้างกินเป็นอาหาร แล้วนำไปวางเอาไว้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ให้ช้างได้กินโดยซื้อให้ได้ในปริมาณที่มากเพียงพอต่อความต้องการของช้าง
 
ยกตัวอย่างเช่นเราจะเห็นปางช้างต่างๆ โดยเฉพาะทางภาคเหนือ ผู้ประกอบการจะไปซื้อพืชผลทางการเกษตรมาจากชาวบ้านเพื่อเอามาให้ช้างได้กิน จากนั้นให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติได้เข้าไปดูด้วยการเก็บเงินค่าเข้า รายได้ที่เป็นเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวจะตกอยู่กับเกษตรกรและปางช้าง
 
ดังนั้น กรมอุทยานฯ ควรที่จะสร้างแนวกันช้างโดยรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระให้ได้มาตรฐานและถาวร จะสร้างในระยะทางกี่กิโลเมตรก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้ช้างป่าออกมาได้อีกต่อไป เมื่อทำแนวกันช้างอย่างถาวรแล้วเสร็จ จากนั้นให้ทำอัศจันทร์ หรือสกายวอล์กที่เป็นทางเดินยื่นขนานกับแนวกันช้าง แล้วให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยรวมทั้งชาวต่างชาติได้เข้าไปเที่ยวชมพฤติกรรมของช้างป่า เยาวชนจะได้ศึกษาธรรมชาติไปด้วย รายได้ที่ได้จากนักท่องเที่ยวนำมาบริหารจัดการและนำไปซื้อพืชผลทางการเกษตรจากชาวบ้านให้เพียงพอ
 
หากทำสำเร็จตามข้อแนะนำ จะเป็นการส่งเสริมให้ชาวบ้านที่อยู่โดยรอบได้ปลูกพืชที่เป็นอาหารช้าง แล้วนำไปขายให้กรมอุทยานฯ กรมอุทยานฯ จะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวที่มา เมื่อช้างป่ามีอาหารที่เพียงพอ ช้างจะไม่ออกนอกพื้นที่มาสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านอีกต่อไป ส่วนเกษตรกรจะมีรายได้จากการขายพืชเกษตรให้กรมอุทยานฯ ผมเชื่อว่านี่คือวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาคนกับช้างป่า แต่กรมอุทยานจะต้องกล้าลงทุน
 
ที่ผ่านมา ผมมั่นใจว่าข้าราชการในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหลายท่านเคยไปศึกษาดูงานที่ต่างประเทศมาแล้ว เห็นลักษณะพฤติกรรมการทำแบบนี้ แล้วผมเชื่อว่าเป็นวิธีเดียวที่จะแก้ปัญหาได้ ผมรับราชการในกรมอุทยานฯ มานานหลายปี กรมป่าไม้เคยอยู่มาแล้ว แต่ผมยังไม่เคยเห็นแนวกั้นช้างที่ทางราชการทำเอาไว้ไม่สามารถกั้นช้างได้เลย ผมอยากให้ตรวจสอบว่าหมดเงินงบประมาณกับแนวกั้นข้างไปกี่พันล้านบาทแล้ว เรื่องนี้ผมฝากข้อคิดให้สังคมหรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาด้วย








กำลังโหลดความคิดเห็น