เชียงราย - ควันหลงมหาดไทยสั่งย้ายสลับเก้าอี้ผู้ว่าฯ เชียงรายกับกระบี่ยังคลุ้ง..“อ.เฉลิมชัย” ย้ำชัดไม่รับร่วมจัดงานศิลปะนานาชาติ-Thailand Biennale Chiangrai 2023 แต่ไม่ทิ้ง “หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงใหม่” ยันเดินหน้าสร้างให้ทัน-เปิดให้ใช้พื้นที่ได้
กรณีกระทรวงมหาดไทยโยกย้ายนายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ไปเป็นผู้ว่าฯ กระบี่ และให้นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าฯ กระบี่ ไปเป็นผู้ว่าฯ เชียงราย ทำให้อาจารย์เฉลิม โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย ออกมาแสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วยกับการโยกย้าย เพราะเห็นว่านายภาสกรเข้าใจงานศิลปะและร่วมกันเตรียมการรองรับการเป็นเจ้าภาพจัดงานศิลปะนานาชาติหรือ Thailand Biennale Chiangrai 2023 ในเดือน พ.ย. 2566 มาอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดอาจารย์เฉลิมชัยยังได้กล่าวย้ำถึงจุดยืนดังกล่าวภายในงาน Local Economic Forum Chiang Rai 2022" สร้างความแข็งแกร่งให้ระบบเศรษฐกิจฐานราก เมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ โรงแรมแกรนด์วิสต้า อ.เมืองเชียงราย อีกว่า การพัฒนาผลงานทางศิลปะไม่จำเป็นต้องเป็นงาน Biennale เพราะตนสามารถพัฒนาเชียงรายด้านอื่นได้โดยไม่ต้องใช้คำว่า Biennale ของทางรัฐบาลและไม่ต้องใช้งบประมาณของทางราชการด้วย
“ที่ผ่านมาผมทำงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่มาโดยที่ไม่ต้องพึ่งพารัฐบาล และล่าสุดผมได้สร้างหอศิลปะนานาชาติด้วยตัวเองโดยเงินส่วนตัวโดยไม่ต้องขอเงินใครถึง 35 ล้านบาท เพื่อรองรับงาน Biennale ด้วยความเต็มใจและเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ เชียงรายของผมเป็นงานสุดท้ายก่อนที่จะตาย”
ดังนั้น ตนก็จะยังสร้างหอศิลป์นานาชาติให้ทัน เพื่อใช้หอศิลป์นี้เป็นสถานที่จัดงาน Thailand Biennale Chiangrai 2023 แต่จะไม่เข้าไปเป็นแกนหลักและผู้จัดงาน ทางราชการจะต้องจัดงานกันเอง ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น จะทำให้ทางราชการรู้ว่าเกิดจากการที่ไม่ร่วมมือกับตนด้วยการย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดฯ คนปัจจุบันไป แม้ว่าการโยกย้ายจะเป็นเพราะเกมการเมืองหรือเพราะอะไรตนไม่ทราบ แต่เมื่อทางราชการไม่ยอมรับในสิ่งที่เราคิดและทำ ตนก็ไม่ควรจะร่วมมือด้วย
"เชียงรายสามารถทำอย่างอื่นได้หลัง Biennale ถ้า Biennale ล้มเหลว ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนโคราชเหมือนกระบี่ ไม่โด่งดัง ไม่มีเงินเข้ามา ปกติมันก็เหมือนเดิม มันก็ต้องเหมือนเดิม แต่ถ้าตนทำวิธีคิดตนแตกต่างและทุ่มทุกอย่างเพื่อเชียงรายของตน เหมือนเชียงรายเกมส์ที่สามารถทำให้ดังได้ ให้เชียงรายมีหน้ามีตาได้ ขนาดฝนตก บ้าบอคอแตกก็ยังดัง"
อาจารย์เฉลิมชัยกล่าวอีกว่า นั่นคือสิ่งที่เราทำให้เชียงรายของเรามีศักยภาพด้วยการนำศิลปะมารับใช้จังหวัด ศิลปะนำพาไปสู่ความตื่นเต้นของคนทั้งประเทศ ซึ่งศิลปะใน Biennale ก็เช่นกัน ถ้าตนได้ทำจะยิ่งใหญ่มาก แต่ว่าสุดท้ายตนไม่ทำ ยังไงตนก็ไม่ทำ ซึ่งบอกส่วนท้องถิ่นแล้วว่า..ให้ทำเลยตนไม่ทำอย่างแน่นอน แม้ผู้ว่าราชการจังหวัดคนใหม่จะมาหา ตนก็ไม่ทำ แต่จะให้พื้นที่ไปจัดงานเท่านั้น โดยที่จะไม่เป็นผู้จัดการในการจัดงาน Biennale แน่นอน ไม่เหมือนการจัดการแข่งขันกีฬาเชียงรายเกมส์ ที่ตนเป็นผู้จัดการในงานด้วยตัวเอง ซึ่งได้ทุ่มเทเงินทองและทุกอย่างเพื่อให้การจัดงานดูดีรวมทั้งทำให้หน้าตาของจังหวัดดูดี”
สำหรับงานศิลปะนานาชาติ Thailand Biennale จัดขึ้นในประเทศไทยครั้งแรกที่กระบี่ ระหว่างวันที่ 2 พ.ย. 2561-28 ก.พ. 2562 ต่อมาจัดที่ จ.นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 18 ธ.ค. 2564-31 มี.ค. 2565 ต่อมารัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรมได้เลือกเชียงรายเป็นสถานที่จัดงานครั้งที่ 3 อาจารย์เฉลิมชัยพร้อมศิลปินเชียงรายจึงได้ร่วมกันหาสถานที่ก่อสร้างหอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย เพื่อรองรับการจัดงาน
กระทั่งมีผู้บริจาคที่ดิน สมาคมขัวศิลปะจึงเป็นตัวแทนในการทำสัญญากับเอกชน เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือน ก.ค. 65 ที่ผ่านมา มีกำหนดแล้วเสร็จเดือน ก.พ. 2566 ภายในมีอาคารจัดแสดงผลงานทางศิลปะที่มีความงดงามและออกแบบชั้นบน 2 ส่วนเป็นศิลปะของอาจารย์เฉลิมชัยและอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย ผู้ล่วงลับไปแล้ว นอกจากนี้ ในอนาคตยังมีโครงการสร้างหมู่บ้านศิลปิน Art Village เบื้องต้นจำนวน 32 หลัง ฯลฯ และพัฒนาให้เป็นสถานที่อันทรงคุณค่าทางศิลปะและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญต่อไป