การเสียชีวิตปริศนาของ นตท.ภคพงค์ ตัญกาญจน์ หรือ “น้องเมย” เมื่อวันที่ 17 ต.ค.2560 ที่ผ่านมา ซึ่งใบมรณบัตรจากโรงเรียนเตรียมทหาร ระบุว่า เกิดจาก “ภาวะหัวใจล้มแล้วเฉียบพลัน” ค้านกับสภาพร่างกายที่แข็งแรง ซึ่งคนในครอบครัวยืนยันว่าเป็นการเสียชีวิตที่ผิดปกติจนนำสู่การนำร่างส่งผ่าพิสูจน์ยังสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม หลังผลการผ่าพิสูจน์ของสถาบันพยาธิวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า สร้างความคลางแคลงใจให้แก่ครอบครัว
กระทั่งพบว่า อวัยวะสำคัญทั้ง สมอง ปอด และกระเพาะปัสสาวะหายไป รวมทั้งยังพบรอยช้ำตามร่างกายหลายแห่งที่คาดว่าจะเกิดจากการถูกทำร้าย
ขณะที่กองทัพไทย ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวครั้งใหญ่พร้อมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมทั้งทีมแพทย์โรงพยาบาลพระมงกุฎ ผบ.โรงเรียนเตรียมทหาร และนายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายนายเพื่อตอบคำถามสังคม แต่สุดท้ายคำตอบที่ได้ไม่ต่างไปจากคำตอบแรก
ครั้งนั้นครอบครัวตัญกาญจน์ ที่ประกอบด้วย นายพิเชษฐ์ นางสุกัลยา และ น.ส.สุพิชา ประกาศดับเครื่องชนด้วยการทำทุกวิถีทางเพื่อหาความจริง และหาตัวผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของ “น้องเมย” มาลงโทษตามกฎหมาย พร้อมว่าจ้างทีมทนายมืออาชีพ จาก บริษัท บาร์ริสเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ลอว์เฟิร์ม จำกัด ดูแลข้อกฎหมายเพื่อเอาผิดทางอาญากับผู้เกี่ยวข้อง 3 ส่วนคือ
ในส่วนแรกวันที่ 23 ส.ค.2560 ที่มีการธำรงวินัยจน "น้องเมย" หมดสติและเสียชีวิต ซึ่งอัยการศาลทหาร มทบ.12 ได้สั่งฟ้องจำเลยซึ่งเป็นรุ่นพี่บังคับบัญชา 1 คนก่อนพิจารณาให้รอกำหนดโทษเป็นเวลา 1 ปี และในปี 2564 นี้ รุ่นพี่คนดังกล่าวกำลังจะจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ
ส่วนที่ 2 เหตุการณ์เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2560 ซึ่ง “น้องเมย” อยู่ในช่วงทุเลาการฝึกตามคำสั่งแพทย์ (จากอาการได้รับบาดเจ็บซึ่งในครั้งนั้นอ้างว่าตกบันได แต่สุดท้ายยอมบอกกับแม่ว่าถูกซ่อมและถูกซ้อม) แต่พบว่าถูกรุ่นพี่บังคับบัญชาอีกรายสั่งธำรงวินัย ทั้งที่เพิ่งลงจากกองพยาบาลโดยได้แจ้งความดำเนินคดีต่อรุ่นพี่รายนี้เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2561 กระทั่งมีการสอบปากคำพยานตามสำนวนการชันสูตร รวม 28 ปาก และสอบปากคำเพิ่มเติมพยานอีก 8 ปาก
ส่วนที่ 3 ระหว่างวันที่ 15-17 ต.ค.2560 ซึ่งครอบครัวตัญกาญจน์ และทีมกฎหมายต้องเดินทางไปยัง สภ.บ้านนา จ.นครนายก หลายครั้งเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มกับรุ่นพี่อีกรายรวมทั้งทีมแพทย์จากกองแพทย์โรงเรียนเตรียมทหาร ที่เชื่อว่าน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของ “น้องเมย” เมื่อครั้งรับตัวเข้ารักษาหลังมีอาการหนักในวันที่ 17 ต.ค.2560 ก่อนเสียชีวิตในช่วงเย็นวันเดียวกัน
ทั้งนี้ ตลอดเวลาของการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้ “น้องเมย” ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา นอกจากความคืบหน้าทางคดีจะไม่เกิดขึ้นและไม่สามารถเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องรายใดได้แล้ว “ครอบครัวตัญกาญจน์” ยังถูกโดดเดี่ยวจากหน่วยงานต้นสังกัด และไม่เคยได้รับการเยียวยาใดๆ
และในวันครบรอบการจากไปที่กำลังใกล้จะมาถึง ครอบครัวจะยังจัดพิธีทำบุญเพื่อระลึกถึง ที่วัดวิเวการาม ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เช่นเคย โดยคาดว่าจะยังคงมีเพียงญาติพี่น้อง และคนสนิทเข้าร่วมเหมือนทุกๆ ปีที่ผ่านมา
แม่เปิดใจ “4 ปีผ่านไปยังปวดใจและทรมาน” เผยซ้ำเขาใจดำมาก
นางสุกัลยา ตัญกาญจน์ เปิดใจกับ “manager online” อีกครั้งว่า ตลอดเวลา 4 ปีที่ผ่านมายิ่งตามหาเหตุผลเกี่ยวกับการเสียชีวิตของลูกชายมากเท่าใดก็ยิ่งทุกข์และทรมานใจมากเท่านั้น ที่สำคัญฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนเตรียมทหาร หรือต้นสังกัดอย่างกองทัพไทย ไม่เคยมีความพยายามที่จะติดต่อมาหาหรือแม้แต่ถามถึงสารทุกข์สุกดิบ
“พวกเขาทำเหมือนว่าเด็กชายคนหนึ่งที่ตายในโรงเรียนเป็นเรื่องธรรมดา และทิ้งให้หายสาบสูญไปจากทุกเหตุการณ์ ไม่มีใครสักคนที่จะติดต่อเข้ามาถามว่าครอบครัวยังอยู่สบายดีหรือไม่ นอกเสียจากเมื่อมีเหตุการณ์ใหญ่เกี่ยวกับ “น้องเมย” ไปกระทบถึงเขา อย่างเช่นข่าวการเกณฑ์ทหารเมื่อปีที่แล้ว เขาจึงระลึกถึงจนทำให้รู้สึกว่าพวกเขาดูเปราะบาง แต่แท้จริงแล้วเขาใจดำมาก”
และในวันนี้แม้จะผ่านเรื่องทุกข์แสนสาหัส แต่นางสุกัลยา ยังบอกว่าใน 2 ปีให้หลังครอบครัวพยายามอยู่กับปัจจุบันในสภาพที่เข้าใจเรื่องการสูญเสีย และได้แต่หวังว่า วันหนึ่งผลแห่งการกระทำของแต่ละคน และแต่ละฝ่ายจะได้ย้อนกลับไปหาตัวของผู้กระทำทุกๆ คน
“เมี่ยง” เผย 4 ปีแห่งการรอคอยคำตอบจากแพทยสภา สุดท้ายได้เพียงกระดาษ 2 แผ่น
ไม่ต่างจาก น.ส.สุพิชา พี่สาวที่ยอมทำทุกอย่างเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้น้องชาย บอกว่า ความพยายามหาคำตอบเรื่องการเสียชีวิตและความพยายามในการเรียกร้องให้แพทยสภา สร้างบรรทัดฐานการชันสูตรพลิกศพ หลังนายแพทย์ฝ่ายทหาร ที่ทำการชันสูตรร่าง “เมย” เป็นคนแรกตั้งโต๊ะแถลงข่าวเรื่องการชันสูตรพลิกศพแล้วบอกว่า เป็นการทำงานในสไตล์ของตนเอง
“แต่สุดท้ายเราได้เพียงกระดาษ 2 แผ่น 3 หน้าจากแพทยสภา กับเนื้อความที่ไม่มีอะไรกระจ่างชัด ตรงนี้คงต้องเท้าความกลับว่าก่อนหน้านี้เราได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณหมอพรทิพย์ ว่าจริงๆ แล้วมันมีบรรทัดฐานกลางหรือไม่ในการชันสูตรหรือเก็บชิ้นส่วนอะไรก็แล้วแต่ แต่ไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน และแพทยสภา ยืนยันว่าหมอทหารท่านดังกล่าวทำตามมาตรฐาน ทั้งที่กระเพาะปัสสาวะที่หายไปของน้องชายยังหาไม่เจอ”
น.ส.สุพิชา ยังเรียกร้องไปยังแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ในฐานะ ส.ว. เพื่อขอให้ช่วยร่างกฎหมายเกี่ยวกับการวางรากฐานการชันสูตรพลิกศพเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกันทั้งหมด ป้องกันไม่ให้ผู้สูญเสียรายอื่นต้องประสบปัญหาเช่นเดียวกับครอบครัวของตนเอง
ส่วนในด้านคดีความวันนี้ ครอบครัวตัญกาญจน์ ยังยืนยันว่าแทบจะไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต้นสังกัด หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยได้รับคำตอบเพียงว่าอยู่ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 จนทำให้ไม่รู้ว่าหลังจากนี้ครอบครัวจะเดินต่อไปเช่นไร
“เราเป็นแค่ภาคประชาชนไม่ได้มีสิทธิที่จะสั่งให้ใครมาให้ปากคำ หรือสั่งให้ใครนำพยานหลักฐานต่างๆ มาให้ แต่คนที่มีหน้าที่คือพนักงานสอบสวนซึ่งเขาบอกว่ายังอยู่ในช่วงโควิด-19 ไม่สามารถเรียกใครมาสอบปากคำได้ สุดท้ายเราไปต่อไม่ได้อยู่ดี เช่นเดียวกับเอกสาร 2 แผ่นของแพทยสภา”
มีคนบอกว่าเพราะ “เมย” ไม่ใช่คนนามสกุลใหญ่เรื่องจึงไม่ใหญ่ตาม
น.ส.สุพิชา บอกว่า ครั้งแรกที่ได้ยินประโยคนี้จากปากของบุคคลท่านหนึ่งทำให้เกิดคำถามในใจว่าสิ่งที่ได้ยินดูเหมือนว่าสวนทางกับสิ่งที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองพูดว่าทุกอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน แต่สุดท้ายเมื่อเกิดเรื่องขึ้นประชาชนที่นามสกุลไม่ดังมักได้รับการดูแลและการใส่ใจย่อมน้อยกว่าคนที่มีนามสกุลใหญ่โต
“ทำไมผู้เกี่ยวข้องไม่ทำให้เกิดมาตรฐานเดียวกัน และทำไมต้องทำให้สังคมตั้งคำถามตลอดว่าทุกอย่างต้องมี 2 บรรทัดฐาน วันนี้สิ่งที่อยากบอกไปยังกองทัพ คืออะไรที่มองว่าเป็นเรื่องธรรมดาและเป็นวัฒนธรรมภายในองค์กรจนกลายเป็นการหยั่งรากความเลวร้ายมันควรจะได้รับการปฏิรูป และหากต้องการเป็นกองทัพสมัยใหม่ที่อยู่ร่วมกับประชาชนได้ จะต้องไม่ยึดติดกับระเบียบเก่าๆ และเราอยากให้ “น้องเมย” เป็นสิ่งสะท้อนถึงวัฒนธรรมองค์กรที่สุดท้ายแล้วกลายเป็นว่า มีคนตาย”
ขณะที่ นายพิเชษฐ์ ตัญกาญจน์ ยืนยันว่าตลอดเวลา 4 ปีไม่เคยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือแม้แต่โรงเรียนเตรียมทหาร หรือกองบัญชาการทหารสูงสุด เข้ามาสอบถามหรือพูดคุยหรือแม้แต่การยื่นมือเยียวยาจิตใจ
“วันนี้นอกจากกองทัพจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงแล้ว ครอบครัวของเราก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนและยังคงถูกทอดทิ้งโดยไม่มีใครลงมาเหลียวแล เรายังคงวิ่งเต้นอยู่ทุกปีในทุกๆ ช่องทาง และไม่เคยได้รับความสะดวกจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเช่นเดิม”
และคงเช่นเคยกับทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เพราะไม่ว่าเหตุการณ์จะร้ายแรงหรือรุนแรงเช่นใด สุดท้ายสังคมจะปล่อยให้ผ่านเลยตามกาลเวลาโดยไม่สนใจว่าหากเรื่องเลวร้ายเหล่านั้นเกิดขึ้นกับคนในครอบครัวของตนเองแล้ว จะยังยอมให้เรื่องราวเดิมๆ แบบนี้เกิดขึ้นภายใต้การบริหารของหน่วยงานสำคัญของชาติแบบเดิมๆ เช่นนี้หรือไม่