คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
“เมื่อเช้า เฮียเกือบตกบันได! ดีว่าเกาะราวไว้ทันนะ ไม่งั้นไม่ได้มาไดร์ฟแล้ววันนี้” คุณชูสง่าบอกกว่าให้หมอฟังถึงเหตุการณ์เมื่อเช้าตรู่ที่เกิดเข่าอ่อนขึ้นมาขณะก้าวลงบันได
“โอ้...ไม่ได้นะครับเฮีย คนแก่เนี่ยห้ามตกบันไดหรือหกล้มเป็นอันขาด”
คุณชูสง่าหันมองรอบด้าน “ไหนว๊ะ..คนแก่” เฮียอารมณ์ดีปล่อยมุขประจำวัน
“ใช่ครับเฮีย..ก๊วนเราไม่มีคนแก่ มีแต่ สว.” เจ้าเก่งรับมุขทันควัน
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะให้ผู้สูงอายุเคลื่อนไหวร่างกาย ทำกิจวัตรประจำวันให้มาก ฝึกการบริหารปอด และออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดีและสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
นายแพทย์ สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดรกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์การแกร่ระบาดของโรคโควิด (COVID - 19) ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวและมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำ หากติดเชื้อแล้วอาจทำให้เกิดมีอาการอย่างรุนแรง มีภาวะแทรกซ้อน จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อ ผู้สูงอายุจำเป็นต้องอยู่บ้าน และควรขยับร่างกายให้ร่างกายเคลื่อนไหวเป็นประจำ เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว
หากมีการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือมีการทำกิจกรรมต่าง ๆ น้อย หรือมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง นั่งๆ นอนๆ อาจส่งผลเสียต่อการทำงานของหัวใจ ปอด หลอดเลือด ทำให้เหนื่อยง่าย มีความดันโลหิตสูงขึ้น รวมทั้งอัตราการเผาผลาญพลังงานก็จะลดต่ำลง เสี่ยงต่อภาวะอ้วน รวมทั้งความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและข้อต่อจะลดลง ทำให้ประสิทธิภาพการเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวัน เช่น การลุกนั่งจากเก้าอี้ การเข้าห้องน้ำ การหยิบจับสิ่งของลดลงตามไปด้วย เสี่ยงต่อการหกล้มได้ง่าย นอกจากนี้ผู้สูงอายุที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย มีกิจกรรมทางร่างกายไม่พียงพอ ก็จะส่งผลให้ภาวะโรคประจำตัวนั้นรุนแรงขึ้นได้
ทั้งนี้ ผู้สูงอายุสามารถเสริมสร้างสุขภาพให้ดีและสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงขึ้นได้ด้วยการเพิ่มกิจกรรมทางกาย และออกกำลังกายง่ายๆ ได้ที่บ้าน ดังนี้
1. เคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น เช่น การทำงานบ้าน การเดินลดน้ำต้นไม้ ออกกำลังกายแบบคาร์ดิโออย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดินเร็ว การปั่นจักรยาน เต้นรำ โดยเฉลี่ยอย่างน้อยวันละ 30 นาที
2. บริหารกล้ามเนื้อส่วนต่างๆให้แข็งแรง ควบคู่กับการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ อย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ เช่น ดึงยาง ยกดัมเบล
3. มีกิจกรรมทางกายแบบผสมผสาน ระหว่างการเคลื่อนไหวรูปแบบต่างๆ และการทรงตัวอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ เช่น เต้นบาสโลบ รำวง ฟ้อนรำ รำมวยจีน กิจกรรมเหล่านี้ จะช่วยพัฒนาการเคลื่อนไหวร่างกายของผู้สูงอายุให้มีประสิทธิภาพ และเน้นการฝึกการทรงตัวเพื่อป้องกันการหกล้ม
4. การบริหารปอด โดยฝึกการหายใจเข้าและออก แต่ละครั้งนานประมาณ 5 วินาที เพื่อเป็นการฟื้นฟู สมรรถภาพปอดของผู้สูงอายุ เพิ่มการขยายตัวของปอด และกล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจให้แข็งแรง เพียงเท่านี้ ผู้สูงอายุที่อยู่บ้าน ก็จะมีสุขภาพแข็งแรง เพิ่มภูมิต้านทาน ห่างไกลจากโรคโควิด (COVID - 19) แน่นอน