ลำปาง - โครงการย้ายสายไฟลงดินลำปางปั่นป่วนถึงวินาทีสุดท้ายวันสิ้นปีงบประมาณ..นายกเล็กสั่ง จนท.ปิดงบถึงเที่ยงคืน คาดระดมเงินจ่าย กฟภ.ให้ได้ตามกำหนด ทั้งที่โควิดทำรายได้หดต้องงดเบิกจ่าย-ตั้งฎีกา ยันช่วยเหลือชาวบ้านมาแล้ว
วันนี้ (30 ก.ย.) นายกิตติภูมิ นามวงศ์ นายกเทศมนตรีนครลำปาง ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น ปลัดเทศบาลนครลำปาง ผอ.สำนักการศึกษา ผอ.กองคลัง นักวิชาการการเงินและบัญชี เจ้าพนักงานการเงิน รวม 12 คน มาปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ ตั้งแต่ 16.30 น. เป็นต้นไปจนสิ้นสุดการปิดบัญชี (e-Laas) เวลา 24.00 น.
โดยอ้างว่าวันนี้เป็นวันสิ้นปีงบประมาณ เทศบาลนครลำปางจะต้องทำการเบิกจ่ายเงินและปิดงานดังกล่าว เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพจึงให้ปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด นายชาตรี สุขารมย์ ปลัดเทศบาลนครลำปาง ได้ทำหนังสือถึงนายกเทศมนตรีนครลำปาง ปฏิเสธการทำงานนอกเวลาราชการ เนื่องจากมีภารกิจส่วนตัวที่จะต้องดำเนินการในช่วงเวลาดังกล่าว จึงขออนุญาตปฏิบัติงานในช่วงเวลา 16.30-18.00 น. และจะแจ้งให้กองคลังปิดบัญชี (e-Laas) ภายในเวลา 18.00 น.ของวันนี้
ทั้งนี้มีรายงานว่า คำสั่งดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะให้มีการระดมเงินงบประมาณของเทศบาลฯ ทุกช่องทาง เพื่อจ่ายอุดหนุนให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินโครงการก่อสร้างเคเบิลใต้ดินที่เทศบาลฯ เข้าร่วมโครงการฯ ช่วงสามแยกหน้าค่ายสุรศักดิ์มนตรี-สี่แยกดอนปาน ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร ในปีงบประมาณ 2563 โดยเฟส 1 ที่ขอใช้เงินอุดหนุนในปีงบประมาณ 2563 คือถนนพหลโยธิน ตั้งแต่บริเวณสี่แยกดอนปาน ถึงถนนดวงรัตน์ ระยะทางประมาณ 1,200 เมตร จำนวนเงินอุดหนุน กฟภ.จำนวน 53,884,600 บาท
แต่หลังเกิดวิกฤตโควิด-19 แพร่ระบาด มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและอัตราการชำระภาษี ทำให้เทศบาลนครลำปางมีรายได้ลดลงจากที่ตั้งเป้าเอาไว้ ในเบื้องต้นกว่า 120 ล้านบาท ซึ่งหากใช้จ่ายตามปกติก็ยังสามารถดำเนินการได้ แต่ด้วยที่จะต้องนำเงินรายได้ต่างๆ มาใช้อุดหนุนโครงการสายไฟลงดินดังกล่าวกว่า 53 ล้านบาท ทำให้เกิดปัญหาด้านงบประมาณทันที
ก่อนหน้านี้นายกเทศมนตรีนครลำปางมีคำสั่งให้ชะลอการจ่ายเงินต่างๆ ออกไปเกือบทุกรายการ รวมถึงให้ชะลอการตั้งฎีกาเบิกจ่ายเงินออกไปก่อน จนส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สำนักงานเป็นอย่างมาก จนกระทั่งปลัดเทศบาลนครลำปางขอให้ชะลอการอุดหนุน กฟภ.ออกไปก่อน เพราะหากไม่ดำเนินการในปีนี้ ปีต่อไปหากมีงบประมาณเพียงพอก็ยังสามารถทำได้
แต่นายกเทศมนตรีนครลำปางยังคงยืนยันให้รวบรวมเงินทุกหมวดเพื่อจ่ายให้ กฟภ.ให้ได้ กระทั่งปลัดเทศบาลนครลำปางต้องทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวเพราะจะกระทบต่อการดำเนินงานต่างๆ ของเทศบาลนครลำปางมาแล้ว
ทั้งนี้ ยังพบว่าเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาหากจะต้องมีการโยกเงินส่วนต่างๆ ที่มีอยู่ในแต่ละหมวดมาใช้ในโครงการดังกล่าว นายกเทศมนตรีนครลำปางยังได้ทำหนังสือหารือการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นค่าปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าไปยังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดลำปาง และผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เพื่อให้ชี้ขาดว่าเงินส่วนไหนที่สามารถนำมาใช้ได้บ้าง
แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ตอบกลับว่า ทางจังหวัดได้พิจารณารายงานของเทศบาลนครลำปาง และประกอบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496 และแก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดไว้ชัดเจนแล้ว ไม่ใช่การหารือเพื่อตีความในปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้แต่อย่างใด
พร้อมกำชับว่าเพื่อให้การเบิกจ่ายเงินอุดหนุนของเทศบาลนครลำปางเป็นไปด้วยความถูกต้องและเรียบร้อย จึงให้เทศบาลนครลำปางดำเนินการเบิกจ่ายเงินให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อย่างเคร่งครัด และอย่าให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการได้
ซึ่งเมื่อตรวจสอบ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มาตรา 67 เทศบาลจะมีรายจ่ายดังต่อไปนี้ (8) เงินอุดหนุน ต้องปฏิบัติตาม มาตรา 67 ทวิ การจ่ายเงินตามมาตรา 67(8) และการจ่ายเงินเพื่อการลงทุนเทศบาลจะกระทำได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากสภาเทศบาลและผู้ว่าราชการจังหวัดอนุมัติแล้ว
และจนถึงขณะนี้กระบวนการดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้น การจะจ่ายเงินอุดหนุนให้ กฟภ.จำนวนกว่า 53 ล้านบาทในวันนี้จะสามารถทำได้หรือไม่ อยู่ที่สองประการ คือ 1. มีเงินเพียงพอที่จะนำไปอุดหนุน กฟภ.โดยไม่กระทบและเกิดความเสียหายต่อเทศบาลนครลำปางหรือไม่ และ 2. ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่