ลำปาง - ฉาวได้อีก.. ทน.นครลำปาง ระงับแม้กระทั่งเงินช่วยเหลืออัคคีภัยเพื่อสายไฟลงดิน นายกเล็กปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งที่เป็นหน้าที่โดยตรง แถมโยนให้อำเภอ-จังหวัดรับผิดชอบแทน
หลังจากมีกระแสข่าวว่านายกิตติภูมิ นามวงศ์ นายกเทศมนตรีนครลำปาง สั่งให้ทุกหมวดงานควบคุมการใช้จ่าย ชะลอการจัดซื้อจัดจ้าง ตัดทอนรายการที่ยังมิได้ผูกพันหรือมีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อรวบรวมเงินทั้งหมดไว้ใช้ในโครงการสายไฟลงดินถนนพหลโยธิน ที่เทศบาลฯจะต้องอุดหนุนเงินให้กับ กฟภ.จำนวน 53 ล้านบาท
แต่ทว่าในปีงบประมาณ 2563 ซึ่งเดือนนี้เป็นเดือนสุดท้ายของการใช้งบประมาณ ปรากฏว่าด้วยสถานการณ์โควิด19 และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีใหม่ ทำให้รายได้ที่เทศบาลนครลำปางตั้งเป้ารายรับไว้ 100% เช่นปีที่ผ่านมา หายไปกว่าครึ่ง
ล่าสุด วันนี้ (21 ก.ย.) พบว่า มีเงินที่สามารถใช้ได้ 56 ล้านบาท ซึ่งถ้าใช้จ่ายประจำและรายจ่ายจำเป็นตามปกติจนถึงสิ้นสุดงบประมาณ 2563 ก็ยังสามารถดำเนินการได้ตามปกติ แต่หากนายกเทศมนตรีฯยังยืนยันจะกันเงินเพื่ออุดหนุน กฟภ.จำนวน 53 ล้านบาทเหมือนเดิม ก็จะทำให้เงินของเทศบาลนครลำปางมีปัญหาทันที เพราะแม้แต่ค่าเงินเดือนของเจ้าหน้าที่และพนักงานทั้งหมดประมาณ 18 ล้านบาท และค่าใช่จ่ายจำเป็นรวมถึงค่าจ้างที่ได้ก่อหนี้ผูกพันไปก่อนหน้านี้จะต้องสะดุดทั้งระบบ
และแม้ว่าก่อนหน้านี้ นายชาตรี สุขารมย์ ปลัดเทศบาลนครลำปาง ได้ทำหนังสือท้วงติงและขอให้นายกเทศมนตรีฯ ได้พิจารณาทบทวนคำสั่งใหม่ เกี่ยวกับการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 โดยให้ชะลอโครงการสายไฟลงดินออกไปก่อน เนื่องจากสถานการณ์ทางการเงินของเทศบาลนครลำปางยังไม่เอื้อต่อการดำเนินการในปีนี้ และขอให้อนุมัติเบิกจ่ายเงินในส่วนที่จำเป็นก่อน
แต่ดูเหมือนไม่เป็นผล เมื่อนายกเทศมนตรีฯยังคงยืนยันให้ปฎิบัติตามคำสั่ง โดยได้ตอบกลับว่าเนื่องจาก รายรับจริงจนถึงวันที่ 31 ส.ค. 63 ต่ำกว่าที่ตั้งรับไว้ประมาณ 120 ล้านบาท จึงจำเป็นที่จะต้องควบคุมรายจ่ายเพื่อมิให้รายจ่ายเกินรายรับจริง ซึ่งจะต้องตัดทอนรายการที่ยังมิได้ผูกพันหรือมีความจำเป็นเร่งด่วน
ต่อมาปลัดเทศบาลนครลำปางจึงต้องทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เพื่อพิจารณาการบริหารงบประมาณประจำปี 2563 ของนายกเทศมนตรีนครลำปาง ถึงปัญหาดังกล่าวที่กำลังส่งผลกระทบต่อการจัดซื้อจัดจ้างวัสดุอุปกรณ์จำเป็นต่อการปฏิบัติงานประจำหรือการอนุมัติการเบิกจ่ายที่ได้ทำสัญญาไว้ ส่งผลเสียหายต่อราชการ ซึ่งทางคณะกรรมการตรวจสอบการเงินจังหวัด เดิมจะเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงวันที่ 15 ก.ย. แต่ถึงวันนี้ยังไม่ได้เข้าตรวจสอบแต่อย่างใด
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้รับเอกสารรายงานการประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอเมืองลำปาง (ก.ช.ภ.อ.เมืองลำปาง) 3 ก.ย. 63 ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองลำปาง โดยมีนายอำเภอเมืองลำปาง เป็นประธานฯพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และ อปท.ในพื้นที่อำเภอเมืองลำปาง ในส่วนของนายกเทศมนตรีนครลำปาง ได้ส่งผู้แทนคือ น.ส.นัทธ์หทัย ฟูวุฒิ เข้าร่วมประชุม
ประธานที่ประชุมได้แจ้งให้ทราบถึงรายงานการประชุมครั้งที่ผ่านมา (ครั้งที่ 2/2563 วันที่ 26 พฤษภาคม 2563) ถึงสถานการณ์ภัยพิบัติในด้านต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ และการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นของแต่ละพื้นที่ให้คณะกรรมการได้รับทราบ
ขณะที่ผู้แทนนายกเทศมนตรีนครลำปาง ได้รายงานว่า เขตเทศบาลฯเกิดสาธารณภัยที่2 (อัคคีภัย) วันที่ 8 ก.ค. 63 ที่บ้านเลขที่ 15, 15/1 ,27 และ 29 ชุมชนประตูต้นผึ้ง-ท่านางลอย จำนวน 4 หลัง ซึ่งมีผลกระทบต่อสาธารณะชนและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนอันเป็นสาธารณภัยตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และสาธารณภัยได้สิ้นสุดลงแล้ว ซึ่งจังหวัดลำปางได้ประกาศกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง เรื่องเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย (อัคคีภัย) ในพื้นที่อำเภอเมืองลำปาง ประกอบกับเทศบาลแจ้งว่าไม่มีงบประมาณในการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุอัคคภัยดังกล่าวตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 จึงประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอเมืองลำปาง เพื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์
จากนั้นคณะกรรมการ (นายก อบต.บ้านเป้า) ได้ท้วงติงกรณีที่เทศบาลนครลำปางขอให้ทางอำเภอฯ ช่วยเหลือผู้ประสบอัคคีภัยว่า เทศบาลนครลำปางไม่ได้มีการแนบเอกสารแสดงสถานะทางการคลังว่างบประมาณมีไม่เพียงพอแต่อย่างใด ทำให้ปลัดอำเภอเมืองลำปางฝ่ายความมั่นคง ขอให้เทศบาลนครลำปางชี้แจงในประเด็นที่งบประมาณในการให้ความชาวยเหลือผู้ประสบภัยไม่เพียงพอ เนื่องจากยอดเงินที่จะต้องให้ความช่วยเหลือฯรวมเพียงประมาณ 47,000 บาท
ผู้แทนนายกเทศนตรีนครลำปางได้กล่าวว่า จากการประชุมหารือของเทศบาลนครลำปาง นายกเทศมนตรีนครลำปางให้ส่งเรื่องขอความช่วยเหลือไปยังอำเภอเมืองลำปางหรือจังหวัดลำปาง เนื่องจากเทศบาลนครลำปางมีงบประมาณไม่เพียงพอ คณะกรรมการ (นายก อ.บ.ต.บ้านเป้า) ได้แย้งว่า องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นสามารถใช้เงินของตนเองจากเงินสะสม เงินสำรองจ่ายได้
ผู้แทนนายกเทศมนตรีนครลำปางได้ชี้แจงในที่ประชุมดังกล่าวว่า เทศบาลนครลำปางจัดเก็บรายได้น้อย นายกเทศมนตรีนครลำปางให้ชะลอการจ่าย การใช้งบประมาณ โดยหลายๆ โครงการของเทศบาลนครลำปางต้องหยุด
สุดท้ายคณะกรรมการเห็นสมควรให้ตรวจสอบสถานะการคลังของเทศบาลนครลำปาง เพราะมีความสำคัญทั้งในการให้ความช่วยเหลือที่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และสามารถชี้แจงจังหวัดลำปาง ตลอดจนหน่วยงานตรวจสอบอย่าง สตง. หรือกระทรวงการคลังได้ด้วย
โดยเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 นายอำเภอเมืองลำปาง ก็มีหนังสือถึงนายกเทศมนตรีนครลำปาง เรื่อง แจ้งรายงานการประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอเมือง สรุปว่า จากการตรวจสอบเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของเทศบาลนครลำปาง พบว่าได้ตั้งรายจ่ายงบกลางไว้ 136,062,740 บาท แยกเป็นเงินประเภทสำรองจ่ายเพื่อจ่ายเป็นเงินสำรองจ่ายในกรณีจำเป็นตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณของ อปท. พ.ศ. 2541 หมวด 2 ข้อ 17 ซึ่งคณะผู้บริหารท้องถิ่นจะได้อนุมัติให้ใช้ตามระเบียบฯต่อไป เป็นจำนวนเงิน 2,000,000 บาท และมีการจ่ายเงินงบกลางประเภทสำรองจ่ายเป็นเงิน 227,727 บาทฯ
จากข้อมูลข้างต้น เทศบาลนครลำปางจึงมีหลักเกณฑ์ฯ และงบประมาณเพียงพอสำหรับการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบอัคคีภัยฯ
ดังนั้น อำเภอเมืองลำปางจึงขอให้เทศบาลนครลำปางเร่งรัดนำงบประมาณดังกล่าวไปให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบอัคคีภัยฯ ภายในกำหนดเวลา ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560 และรายงานผลการช่วยเหลือมายังอำเภอเมืองลำปางและคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอำเภอเมืองลำปาง เพื่อจะได้รายงานจังหวัดทราบต่อไป
อย่างไรก็ตาม วันนี้ (21 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังชาวบ้าน 1 ใน 4 หลังที่ประสบอัคคีภัย ยืนยันว่าบ้านของตนยังไม่ได้รับเงินเยียวยาจากเทศบาลนครลำปาง โดยก่อนหน้านี้มีเจ้าหน้าที่ของเทศบาลนครลำปาง โทรศัพท์มาบอกเพียงว่า เทศบาลฯ ไม่มีงบประมาณในการช่วยเหลือ แต่จะขอไปยังอำเภอและจังหวัดให้เท่านั้น ซึ่งตนเองก็ได้เพียงแต่รับทราบและไม่รู้จะทำอย่างไร