xs
xsm
sm
md
lg

ปศุสัตว์เร่งฉีดวัคซีนคุมกาฬโรคแอฟริกาในม้าหัวหิน 394 ตัว หลังม้าตายไปแล้ว 19 ตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประจวบคีรีขันธ์ - สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระดมสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยต่างๆ และหมอม้าจิตอาสา พร้อมเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์กว่า 30 นาย ลงพื้นที่ฉีดวัคซีนควบคุมกาฬโรคแอฟริกาในม้า จำนวน 394 ตัว ใน อ.หัวหิน อ.ปราณบุรี และ อ.สามร้อยยอด ซึ่งพื้นที่หัวหินมีม้าป่วยตายไปแล้ว 19 ตัว

วันนี้ (1 พ.ค.) ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายสัตวแพทย์จามร ศักดินันท์ หัวหน้ากลุ่มสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วยนายพิทยา คณะปศุสัตว์อำเภอหัวหิน ได้ประชุมทีมคณะสัตวแพทย์มหาวิทยาลัยต่างๆ พร้อมทีมหมอม้าจิตอาสา พร้อมเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ด่านกักกันสัตว์ประจวบคีรีขันธ์ กว่า 30 คน ซักซ้อมความเข้าใจในการลงพื้นที่เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันกาฬโรคแอฟริกาในม้า ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทยและมีแมลงดูดเลือดเป็นพาหะ

โดยเฉพาะริ้น ให้แก่ม้าในอำเภอหัวหิน ซึ่งเป็นจุดที่พบม้าป่วยตายจากกาฬโรคแอฟริกาในม้ารวม 19 ตัว และยังมีม้าป่วยอีก 2 ตัว ต้องแยกออกมาจากคอก และกักตัวดูอาการในมุ้งที่เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์มาติดตั้งอีก 2 ตัว พร้อมให้สัตวแพทย์ติดตามดูอาการทุกวัน เบื้องต้น พบว่ามีอาการป่วยลักษณะเหมือนม้าตัวอื่นๆ ที่ตายไป โดยพื้นที่ฉีดวัคซีนมีทั้งอำเภอหัวหิน อ.ปราณบุรี และ อ.สามร้อยยอด เนื่องจากอยู่ในรัศมีของการเกิดโรคระบาด 50 กิโลเมตร ซึ่งมีม้าที่ฉีดวัคซีนรวมทั้งหมดในวันนี้ 394 ตัว เจ้าของม้ารวม 81ราย

นายสัตวแพทย์จามร ศักดินันท์ หัวหน้ากลุ่มสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้แบ่งทีมคณะสัตวแพทย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ พร้อมทีมหมอม้าจิตอาสา เจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ประจวบคีรีขันธ์ เจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอหัวหิน ออกเป็น 5 ทีม กระจายกันออกฉีดวัคซีนตลอดทั้งวันใน 3 อำเภอ โดยแต่ละคอกก่อนทำการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันกาฬโรแอริกาในม้า เจ้าหน้าที่แต่ละทีมที่รับผิดชอบจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ทั้งการตรวจวัดอุณหภูมิม้าต้องไม่เกิน 39 องศาเซลเซียส และแสกนไมโครชิป ซึ่งก่อนหน้านี้ทางเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการฝังไมโครชิแไว้ทุกตัวเพื่อเป็นทะเบียนม้า ส่วนการเจาะเลือดม้าส่งตรวจห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันว่าม้าตัวที่จะต้องฉีดวัคซีนต้องไม่พบอาการป่วย

หลังจากฉีดวัคซีนม้าแต่ละตัวเสร็จแล้วก็จะมีการประทึกประวัติ พร้อมให้เจ้าของม้าแต่ละคอกเซ็นยอมรับในเอกสารซึ่งทางเจ้าหน้าที่จัดทำไว้ พร้อมทั้งการแจ้งให้ทราบว่านับจากวันฉีดวัคซีนเป็นต้นไปม้าจะต้องอยู่ในมุ้งเป็นระยะเวลา 30 วัน และให้สังเกตอาการของม้าว่าหลังฉีดวัคซีนมีอาการผิดปกติหรือไม่ หากพบมีอาการให้รีบแจ้งทางเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทั้ง 3 อำเภอทันที ซึ่งภายในหลังจากฉีดวัคซีน 1 สัปดาห์ ทางเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จะมีการสุ่มเก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจอีกครั้ง เพื่อดูการตอบสนองของภูมิคุ้มกันหลังจากฉีดวัคซีน หากพบมีระดับภูมิคุ้มกันไม่อยู่ในระดับที่ป้องกันโรคได้ก็จะมีการฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำ และสิ่งสำคัญห้ามมิให้มีการเคลื่อนย้ายม้านับตั้งแต่วันประกาศเขตโรคระบาดสัตว์ชั่วคราวตั้งแต่ 1 มีนาคม-30 พฤษภาคม 2563 นี้เป็นระยะเวลา 90 วัน หากพบจะถูกดำเนินการตามกฎหมาย

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์พบว่าปัญหาในการฉีดวัคซีนยังมีเป็นบางตัวที่ไม่ยอม ซึ่งเจ้าหน้าที่และเจ้าของม้าต้องช่วยกันจับไม่ให้ดิ้นเพื่อทำการฉีดวัคซีน แต่พบว่ามีเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น ซึ่งการฉีดวัคซีนในวันนี้ไม่มีการฉีดวัคซีนให้แก่ม้าตัวที่มีอาการป่วยทั้ง 2 ตัว โดยฉีดให้เฉพาะม้าที่ไม่มีอาการป่วยเท่านั้น โดยสำนักงานปศุสัตว์เขต 7 นครปฐม ยังได้ให้ข้อมูลว่า ม้าที่ป่วยตายจากกาฬโรคแอฟริกาในม้า จ.ราชบุรี 6 ตัว จ.เพชรบุรี 23 ตัว และ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ 19 ตัวรวม 48 ตัวในช่วงระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่ 1 มีนาคม-30 เมษายน 2563

สำหรับวัคซีนป้องกันกาฬโรคแอฟริกาในม้า มีการนำเข้าจากต่างประเทศ โดย Maxwin เป็นผู้บริจาควัคซีน 4 พันโดส ให้กรมปศุสัตว์เพื่อดำเนินการฉีดในพื้นที่หลายจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น จ.นครราชสีมา จ.สระแก้ว จ.ราชบุรี จ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ รวมมีม้าตายจากกาฬโรคแอฟริกาในม้าไปแล้วถึง 300 ตัว ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่กรมปศุสัตว์ต้องเร่งสกัดยับยั้งไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดไปในพื้นที่จังหวัดอื่นๆอีกซึ่งทำได้คือการฉีดวัคซีนที่นำเข้ามาและกางมุ้งให้ม้าเท่านั้น










กำลังโหลดความคิดเห็น