เอกชนบริจาควัคซีนรวม ฉีด “กาฬโรคม้า 4 พันโดส” ปศุสัตว์ระดมทีมฉีด สั่งเข้ม 7 หลักเกณฑ์ไม่ให้รั่วไหล ย้ำใช้ฉีดฟรี พร้อมกักกันพื้นที่ให้อยู่ในคอกเท่านั้น เตรียมแผนระดมฉีดวัคซีนป้องกันให้ม้าในพื้นที่เกิดโรครัศมี 50 กิโลเมตรจากจุดเกิดโรค
วันนี้ (21 เม.ย.) ที่กรมปศุสัตว์ มีการแถลงยืนยันความคืบหน้าในการป้องกันและควบคุมโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ตามที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้กรมปศุสัตว์เข้าควบคุมและป้องกันโรค AHS ในม้า อย่างรวดเร็ว
ล่าสุด นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ได้นำเข้าวัคซีนในการป้องกัน “กาฬโรคแอฟริกาในม้า” (AHS) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย Maxwin เป็นผู้บริจาควัคซีนชนิดรวม “1 3 4” จำนวน 4,000 โดส โดยมีหลักเกณฑ์การฉีดวัคซีน ตามขั้นตอน ดังนี้ 1. ตรวจเลือดม้า และป้องกันแมลงดูดเลือด โดยอยู่ในมุ้ง 2. ติดไมโครชิพประจำตัวม้า 3. จัดทำ ID หรือ Passport เพื่อเก็บข้อมูล 4. ฉีดวัคซีนฟรี พร้อมกักกันพื้นที่ให้อยู่ในคอกเท่านั้น เป็นเวลา 28 วัน 5. ตรวจเลือดอีกครั้ง เพื่อติดตามผลประเภทวัคซีน AHS มีทั้งหมด 9 ชนิด (Zero Type) ซึ่งโรคที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นชนิดที่ 1
โดยวัคซีนรวม 1 3 4 จำนวน 4,000 โดส เป็นการสั่งเข้ามาใช้ในกรณีฉุกเฉิน จะฉีดให้ม้าที่มีผลเลือดเป็นลบ คือยังไม่เป็นโรค เฉพาะในพื้นที่เสี่ยง ระยะทางจากจุดเกิดเหตุ 50 กิโลเมตร และวัคซีนเดี่ยว เฉพาะชนิดที่ 1 จะนำเข้ามาในประเทศไทย ภายในต้นเดือน พ.ค.นี้
ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วน ภาครัฐและเอกชน รวมถึงคณาจารย์ คณะสัตวแพทย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ หมอม้าผู้ชำนาญการชั้นนำของประเทศ สมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาม้าแข่งไทย สมาคมกีฬาโปโลแห่งประเทศไทย และผู้แทนผู้เลี้ยงม้าทั่วประเทศ ได้ร่วมมือกันวางแผนและดำเนินการเฝ้าระวังป้องกัน และควบคุมโรค ตั้งแต่ผลการยืนยันทางห้องปฏิบัติการว่าพบโรค AHS
ทั้งนี้ ได้ลงพื้นที่ฉีดวัคซีนที่สถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลอง สถานเสาวภา สภากาชาดไทย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ตั้งอยู่ห่างจากจุดเกิดโรค อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นระยะทาง 20 กิโลเมตร และมีม้าจำนวน 560 ตัว ม้าดังกล่าวเป็นม้าที่ใช้สำหรับผลิตเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และเซรุ่มแก้พิษงู จากการติดตามผลการฉีดวัคซีนจากสัตวแพทย์ประจำสถานเสาวภา ปรากฏว่าไม่มีม้าที่แสดงอาการแพ้วัคซีน และจากการตรวจสุขภาพไม่พบสัตว์ป่วยหรือสงสัยว่าป่วยเพิ่มขึ้น
นอกจากนั้นยังมีแผนในการฉีดวัคซีนป้องกันให้แก่ม้าในพื้นที่เกิดโรครัศมี 50 กิโลเมตรจากจุดเกิดโรค และเพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงได้มีการจัดการประชุมชี้เแจงแผนการป้องกันและควบคุมโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (AHS) และมาตรการ หลักเกณฑ์ เงื่อนไขการฉีดวัคซีน ให้แก่สำนักงานปศุสัตว์เขต และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่เป้าหมายการฉีดวัคซีน
อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวด้วยว่า ได้กำชับให้ฉีดวัคซีนให้เป็นไปตามขั้นตอน ดังนี้ 1. ทำความเข้าใจกับเจ้าของม้า เช่น เหตุผลที่ต้องฉีดวัคซีน การปฏิบัติกับม้าที่ฉีดวัคซีน และผลกระทบภายหลังฉีดวัคซีน รวมทั้ง อาจมีการสูญเสียม้าจากผลข้างเคียงของการใช้วัคซีน 2. ให้นำม้าเข้ามุ้ง เพื่อป้องกันแมลงกัด ก่อนเก็บเลือดอย่างน้อย 3 วัน และภายหลังฉีดวัคซีนอย่างน้อย 30 วัน 3. ขึ้นทะเบียนม้าทุกตัว โดยฝังไมโครชิพ และลงข้อมูลในฐานข้อมูล NID 4. ก่อนฉีดวัคซีนจะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของ และต้องตรวจสุขภาพสัตว์ เช่น วัดอุณหภูมิตัวสัตว์ หากพบมีไข้ ไม่ให้ฉีดวัคซีน และกักแยกสัตว์ในมุ้งเพื่อดูอาการ เก็บตัวอย่างเลือดม้าส่งห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจดูการติดเชื้อ ในกรณีที่สัตว์ติดเชื้อ ให้แยกสัตว์ออกจากฝูง และดำเนินการป้องกันแมลงดูดเลือด เพื่อลดการแพร่จะจายของโรค
5. ดำเนินการฉีดวัคซีนในสัตว์ที่ไม่พบการติดเชื้อ และติดตามอาการข้างเคียงภายหลังจากฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 72 ชั่วโมง (หากแสดงอาการข้างเคียง ให้ดูแลรักษาตามอาการ) ในกรณีที่ม้าตั้งท้องให้พิจารณาการให้วัคซีนตามดุลยพินิจจากสัตวแพทย์ 6. หลังจากฉีดวัคซีนภายใน 1 เดือน ให้เก็บตัวอย่างเลือด เพื่อดูการตอบสนองของภูมิคุ้มกันหลังจากฉีดวัคซีน หากพบมีระดับภูมิคุ้มกันไม่อยู่ในระดับที่ป้องกันโรคได้ให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำ 7. ควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ โดยห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ที่ฉีดวัคซีนออกจากคอกเลี้ยงที่มีมุ้ง เป็นระยะเวลา 30 วัน และห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ออกจากพื้นที่ จนกระทั่งไม่มีสัตว์ป่วยเพิ่ม เป็นระยะเวลา 90 วัน
“มีข้อสั่งการไปยังปศุสัตว์จังหวัด ให้เร่งทำความเข้าใจ สร้างการรับรู้ ให้คำแนะนำแก่ผู้เลี้ยงม้า ถึงการฉีดวัคซีน และข้อปฏิบัติภายหลังการฉีดวัคซีน ในการกำกับดูแล ทำเรื่องเบิกจ่ายวัคซีนที่ได้รับบริจาคตามแบบฟอร์ม มีผู้อนุมัติระดับ ผอ.ควบคุมให้มีการตรวจสอบย้อนหลังการใช้วัคซีน ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่สำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา”
นอกจากนี้ ได้กำชับให้ปศุสัตว์จังหวัดกำกับดูแลการใช้วัคซีน ไม่ให้เกิดการรั่วไหลไปฉีดในสัตว์นอกพื้นที่เป้าหมายตามแผนฯอย่างเคร่งครัด เพราะจะก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการขอคืนสถานภาพปลอดโรคจาก OIE หากฝ่าฝืนจะดำเนินการทางวินัยและอาญาอย่างเด็ดขาด