xs
xsm
sm
md
lg

ส่องปฏิบัติการยึดวัดบางคลาน กลเกมชิงแรงศรัทธา “หลวงพ่อเงิน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พิจิตร - แกะรอยปฏิบัติการยึด “วัดบางคลาน” กลางแรงศรัทธา “หลวงพ่อเงิน” พระอมตเถราจารย์ ร่วมยุคเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) หลังพระเครื่องหลากรุ่น-หลากปี พ.ศ.ไม่ดัง สะพัดเซียนพระรอวันเปลี่ยนขั้ว


ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ศรัทธาสาธุชนจำนวนมาก ยังคงแวะเวียนไปกราบไหว้รูปเหมือน (หุ่นขี้ผึ้ง) หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน หรือ วัดหิรัญญาราม (ยุคก่อนชื่อวัดวังตะโก) ต่อเนื่อง เพื่อแสวงหาพระเครื่องวัตถุมงคล เพราะทราบดีถึงพุทธคุณ ความขลัง และศักดิ์สิทธิ์ปาฏิหาริย์

เพราะ “หลวงพ่อเงิน” ซึ่งเกิด พ.ศ.2351 มรณภาพ ปี พ.ศ.2462 ขณะอายุประมาณ 111 ปี เป็นพระอมตเถราจารย์ ร่วมยุคเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง..“พระรูปหล่อหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน แห่งโพทะเล” ถือเป็นพระเครื่องยอดนิยมระดับประเทศ โดยเฉพาะพระรูปหล่อ ในยุคที่สร้างเองมีราคาทะลุล้านบาทไปแล้ว

ส่วนรูปหล่อหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ปี 2515 ซึ่งพระครูพิบูลธรรมเวท หรือหลวงพ่อเปรื่อง อดีตเจ้าอาวาสวัดบางคลาน และ พล.ต.สง่า กิตติขจร รมช.ต่างประเทศ ในขณะนั้น เป็นประธานสร้างเพื่อหาปัจจัยบูรณะพระอุโบสถวัดบางคลาน มีการทำพิธีพุทธาภิเษก 2 ครั้ง ที่วัดสุทัศน์ กรุงเทพฯ 5 ธ.ค.14 และที่วัดบางคลาน 30 ม.ค.15 ถือเป็นพระรุ่นหลังแต่มาแรงมาก กลายเป็นพระหลักยอดนิยมราคาหลักแสนปลายๆ


และนับจากนั้นมา ก็ไม่มีการปลุกเสกพระเครื่องหลวงพ่อเงินที่วัดบางคลาน ให้โด่งดังอีกเลย แม้แต่ “หลวงพ่อเงิน รุ่นช้างคู่” ที่กำนันวิรัตน์ หรือ เสี่ยฮะ คนดังพิจิตร นำคณะสร้างทำพิธีเชิญดวงวิญญาณหลวงพ่อเงิน มารับรู้การเทหล่อ เสมือนหลวงพ่อเงิน มาปลุกเสกเองก็ตาม แต่ก็เป็นหลวงพ่อเงิน รุ่นช้างคู่-วัดท้ายน้ำ ที่หลวงพ่อเงิน จำพรรษาเป็นประจำ ไม่ใช่วัดบางคลาน

หรือแม้แต่วัดในจังหวัดพิจิตร แทบทุกวัด ที่นิยมสร้างวัตถุมงคลรูปเหมือนหลวงพ่อเงิน อาทิ วัดสระยายชี วัดวังจิก ฯลฯ รวมถึงหลวงพ่อเงิน ที่ทำพิธีพุทธาภิเษกออกจากบางคลาน อีกหลายรุ่น ก็ไม่เป็นที่ฮือฮา เช่น หลวงพ่องเงิน รุ่นปี 2525, รุ่นสร้างสะพาน และรุ่นปี 40 ตลอดจนหลวงพ่องเงิน รุ่นแทนคุณปี 45 ที่ “กำนันซ้ง” เป็นแกนหลัก ก็ไม่โด่งดังเช่นกัน

ไม่ต่างจากพระเครื่องหลวงพ่อเงิน ที่เซียนพระจากเมืองหลวง ขออนุญาตสร้างต่อเนื่องไม่ขาดสาย เพราะเห็นว่าคนทั่วประเทศศรัทธา แต่ก็ไม่โด่งดังมากนัก เช่น หลวงเงิน รุ่นกองทุน 53 ซึ่งทำรายได้ระดับ 100 ล้านบาท แต่ว่ากันว่า เงินไม่ได้เข้าวัดบางคลาน แม้แต่ค่าปลุกเสก มีเพียงพระเครื่อง หรือวัตถุมงคลให้ขายบนศาลาเท่านั้น


อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเสียงร่ำลือกันว่า พระเครื่องที่อยู่บนศาลาวัดบางคลาน อ.โพทะเล จ.พิจิตร ส่วนใหญ่เป็นพระปลุกเสก-พระใหม่ หลายรุ่น หลากปี พ.ศ.ผลิตจาก อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ แต่ก็ทำรายได้เข้าวัดจำนวนมาก วันปกติอย่างน้อยก็มี 2-3 หมื่นบาท บางวันมียอดเงินสะพัดเกือบแสนบาท ส่วนยอดเงินหยอดตู้บริจาคหลากหลายเจ้าของนั้น ปกติ 3 เดือนเปิดตู้ ยอดเต็มๆ มีเงินร่วม 3 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านบาท


จุดเริ่มต้นความขัดแย้งวัดบางคลาน
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า เรื่องราวการสร้างหลวงพ่อเงิน รุ่นพุทธโชติ ปี 55 ที่ราคาขยับแค่เหนือจอง ถือเป็นจุดเปลี่ยนเริ่มต้นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในวัดบางคลาน ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้ เพราะแม้จะสามารถปล่อยเช่าได้ถึง 60 ล้านบาท แต่ก็มีการครหา วิพากษ์วิจารณ์ และอ้างถึงไม่โปร่งใสอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งนับจากนั้นเป็นต้นมา เม็ดเงินของวัดบางคลาน ก็ถูกจับตา มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เลือกข้าง เกิดสงครามตัวแทนคู่ขัดแย้ง ระหว่างอดีตเจ้าอาวาส กับกรรมการวัดในขณะนั้น จนนำมาสู่การฟ้องร้องตามกระบวนการยุติธรรมหลายคดี และหลายศาล

กระทั่ง พระครูหริ (พระครูวิสิฐลีลาภรณ์) อดีตเจ้าอาวาสวัดบางคลาน ถูกปลดออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางคลาน ในปี 2557 แต่ยังคงจำพรรษาอยู่ที่วัดบางคลาน นับจากนั้น เนื่องจากชาวบ้านต้องการให้จำวัดอยู่ ส่วนกิจกรรมการเช่าบูชาพระเครื่องหลวงพ่อเงิน บนศาลาวัดบางคลาน ก็ยังคงดำเนินไปตามปกติเช่นกัน แม้ว่าจะไม่มีการปลุกเสกพระเครื่องรุ่นใหม่ก็ตาม เพราะอดีตเจ้าอาวาสไม่นิยมการปลุกเสกสร้างพระมากนัก


จุดแตกหักดังเป็นพลุแตก เกิดขึ้นเมื่อเช้าวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่ง พระครูวิทย์ (พระครูพิสุทธิวรากร รักษาการเจ้าอาวาสวัดบางคลาน) พร้อมด้วยทนายความ ผู้ตรวจการสำนักพระพุทธศาสนา และคณะกรรมการวัด (ชุดใหม่) ได้เดินทางมาที่วัดหิรัญญาราม เพื่อปฏิบัติหน้าที่ โดยมีชาวบ้านประมาณ 200 คน มาชุมนุมคัดค้าน ไม่ให้พระครูพิสุทธิวรากร เข้ามาบริหารกิจการภายในวัด และเปิดตู้บริจาคตามข้อตกลงยอมความ ระหว่างคณะกรรมการวัดชุดเก่า และพระครูพิสุทธิวรากร ที่ให้พระครูพิสุทธิวรากร มีสิทธิและอำนาจในการบริหารกิจการภายในวัดหิรัญญาราม และให้กรรมการวัดชุดเดิม มอบกุญแจวิหารหลวงพ่อเงิน และกุญแจตู้บริจาคต่างๆ ภายในวัดหิรัญญาราม หากไม่ดำเนินการมามอบให้ก็จะดำเนินการตัดกุญแจ

ต่อมา พระครูพิสุทธิวรากร ให้คณะกรรมการวัดชุดใหม่ดำเนินการตัดกุญแจหน้าวิหารหลวงพ่อเงิน เพื่อเข้าไปภายในวิหาร และนำตู้บริจาคต่างๆ ภายในวิหารหลวงพ่อเงินรวมทั้งหมด 28 ตู้ มาเปิดเพื่อให้นักศึกษาวิทยาลัยชุมชนพิจิตร ร่วมร้อยคนช่วยนับเงิน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.โพทะเล ชุด นปพ. จนท.ตร.สันติบาล นายอำเภอโพทะเล พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ทหาร กอ.รมน. จนท.อส.พิจิตร ร่วมสังเกตการณ์ และรักษาความสงบเรียบร้อย

24 ก.ค.61 บก.ควบคุม กกล.รส.จว.พ.จ.ควบคุมพื้นที่สังเกตการณ์การปฏิบัติหน้าที่บริหารจัดการวัดของรักษาการเจ้าอาวาส วัดหิรัญญาราม (วัดบางคลาน) และ นายวิศิษฐ์ เบญจพิทักษ์กุล นายอำเภอโพทะเล เป็นผู้บัญชาการสถานการณ์ มีผู้ตรวจราชการสำนักพุทธศาสนา และมีมวลชนฝ่ายสนับสนุนอดีตเจ้าอาวาสในพื้นที่ประมาณ 30 คน นั่งเฝ้าหน้ากุฏิอดีตเจ้าอาวาส มีศึกษาวิทยาลัยชุมชนพิจิตร มาช่วยนับเงินในตู้รับบริจาค บนวิหารหลวงพ่อเงิน รวมยอดได้ 4,924,680 บาท ยังไม่รวมเงินเหรียญ

25 ก.ค.61 บก.ควบคุม กกล.รส.จว.พ.จ.ควบคุมพื้นที่ พร้อมด้วย สัสดีอำเภอ เข้าสังเกตการณ์ภายในวัดหิรัญญาราม สถานการณ์ ท่ามกลางชาวบ้านกลุ่มสนับสนุนอดีตเจ้าอาวาส ประมาณ 30 คน นั่งเฝ้าทางขึ้นวิหาร เพื่อกันไม่ให้รักษาการเจ้าอาวาส ขึ้นไปบนวิหาร ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรพิจิตร จะนำหมายจับศาลจังหวัดแม่สอด เข้าจับกุมตัว นายกิตติ์ธเนศ โภคินบุญญารัศมิ์ ภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 234/8 ถ.ประเวศน์เหนือ ต.บางมูลนาก อ.บางมูลนาก ในฐานะกรรม บริษัท บี.แอล.พี.คอนสตรัคชั่น ในข้อหาร่วมกันยักยอกทรัพย์ ณ บริเวณภายในวัดหิรัญญาวาส (วัดบางคลาน) ต.บางคลาน อ.โพทะเล

และล่าสุด อดีตเจ้าอาวาสรูปเดิม ยังคงพำนักและจำพรรษาอยู่ที่วัดบางคลาน แม้มีคำสั่งปลด ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 5437/2560 ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2560 ส่วนรักษาการเจ้าอาวาสวัดบางคลาน (รูปใหม่) ก็พำนักอยู่ที่วัดบางคลาน กับวัดหนองดง อ.โพทะเล จ.พิจิตร ที่ห่างออกไปกว่า 10 กิโลเมตร

ขณะที่วงการพระเครื่อง เชื่อกันว่า ถ้า พระครูวิทย์ (พระครูพิสุทธิวรากร รักษาการเจ้าอาวาสวัดบางคลาน) เข้าบริหารวัดบางคลาน และมีโอกาสได้ปลุกเสกทำพระเครื่องยอดนิยมสักครั้ง คงทำให้วัดบางคลานคึกคักไม่น้อยเป็นแน่

อย่างไรก็ตาม ศรัทธาสาธุชนหลายราย มองว่า “หลวงพ่อเงิน” ศักดิ์สิทธิ์จริง แต่ไม่ได้แผ่ความเจริญให้กับคนในพื้นที่เหมือนกับองค์หลวงพ่อชินราช หรือวัดพุทธโสธร เพราะคนในพื้นที่ขัดแย้งกันเอง หากคนบางคลาน รักสามัคคีกัน “วัดบางคลาน” คงรุ่งเรืองมากกว่านี้เป็นแน่


กำลังโหลดความคิดเห็น