เชียงราย - ไทยเป็นเจ้าภาพเปิดเวทีประชุมคณะทำงานร่วมสาขาทรัพยากรน้ำ 6 ชาติลุ่มน้ำโขง กรุยทางกดดันจีน แชร์ข้อมูล-บริหารน้ำในแม่น้ำโขง ลดผลกระทบประเทศท้ายน้ำ
วันนี้ (2 มี.ค.) นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ นำตัวแทนจากฝ่ายไทย ประชุมคณะทำงานร่วมสาขาทรัพยากรน้ำครั้งที่ 2 พร้อมเวทีวิชาการนานาชาติเรื่อง “ความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำข้ามพรมแดนและทรัพยกรที่เกี่ยวข้อง” ที่กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ จัดขึ้น ที่ห้องดอยตุง โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์ รีสอร์ท อ.เมืองเชียงราย โดยมีตัวแทน 5 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ จีน-สปป.ลาว-พม่า-กัมพูชา และเวียดนาม เข้าร่วม
ที่ประชุมได้สรุปผลการประชุมระดับผู้นำกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง-ล้านช้าง ทั้ง 6 ประเทศครั้งที่ 1 ที่เมืองซานย่า ประเทศจีน จนทำให้เกิดปฏิญญาซานย่า 2559 และเกิดกรอบความร่วมมือในการพัฒนา-ลดความเหลื่อมล้ำร่วมกัน รวมทั้งเปิดให้ตัวแทนแต่ละประเทศได้นำเสนอความร่วมมือในการพัฒนาทรัพยากรน้ำข้ามพรมแดน
นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า จากการประชุมคณะทำงานร่วมกันทั้ง 6 ประเทศที่ผ่านมา มีการวางแผนปฏิบัติการ 5 ปี เพื่อพัฒนาทรัพยากรน้ำด้านต่างๆ ตั้งแต่ปี 2561-2565 ดังนั้นการประชุมครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีที่ไทยจะได้แลกเปลี่ยนข้อมูล และเสนอความร่วมมือไปยังประเทศสมาชิก โดยเฉพาะจีน รวมทั้งยังแสวงหาความร่วมมือด้านการวิจัย การจัดการภัยแล้ง น้ำท่วม การพัฒนาที่ยั่งยืน ฯลฯ
ปัจจุบันพบว่า จีนได้สร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงหลายแห่ง ทำให้เกิดการกักเก็บน้ำส่วนใหญ่เพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าในปริมาณกว่า 22,000 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าเขื่อนภูมิพล จ.ตาก และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ของไทยรวมกันเสียอีก และการปล่อยน้ำจากเขื่อน ย่อมทำให้ประเทศท้ายน้ำได้รับผลกระทบ ดังนั้นจึงได้มีการเจรจากันเพื่อแสวงหาความร่วมมือกันทั้ง 6 ประเทศ โดยมีการนำประโยชน์ของการใช้น้ำมาหารือร่วมกัน เช่น การปล่อยน้ำด้วยปริมาณที่ไม่ให้กระทบซึ่งกันและกัน การเดินเรือ ฯลฯ กระทั่งทำให้การประชุมครั้งนี้ได้มีการกำหนดแนวทางเพื่อความร่วมมือดังกล่าวหลายเรื่อง เช่น การแบ่งปันข้อมูล เส้นทางของข้อมูล การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ฯลฯ โดยเน้นมิติกว้าง ไม่นำมิติที่มีความขัดแย้งเข้ามาหารือกัน
อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำกล่าวด้วยว่า การสร้างเขื่อนนั้นมีผลกระทบเชิงบวก แต่ก็มีผลกระทบเชิงลบด้วย เช่น การปล่อยน้ำไม่เป็นไปตามฤดูกาลเหมือนในอดีตทำให้ประชาชนที่เคยปลูกพืชผักริมฝั่งในฤดูแล้งได้รับผลกระทบ หากมีการปล่อยน้ำลงมามากจนท่วมผลผลิต เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากมีการเรียนรู้ และเข้าใจ จนทราบถึงช่วงเวลาในการปล่อยน้ำ ก็จะทำให้อยู่ร่วมกันได้
“ไทยมีจังหวัดที่ติดแม่น้ำโขง และได้รับผลกระทบอยู่ 8 จังหวัด ดังนั้นจึงได้เสนอเรื่องการบริหารจัดการน้ำจากเขื่อนต้นน้ำ เพราะเราไม่อาจห้ามการสร้างเขื่อนภายในประเทศจีนได้ แต่เราสามารถหารือ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันโดยมีผลกระทบทางลบน้อยที่สุด”
ด้าน น.ส.ผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย และนักธุรกิจเดินเรือลุ่มแม่น้ำโขง กล่าวว่า คาดหวังว่าการประชุมครั้งนี้จะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาเรื่องแม่น้ำโขงตั้งแต่จีนตอนใต้-แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว โดยเฉพาะเรื่องการรักษาระดับน้ำ และการให้ข้อมูลข่าวสารต่อประเทศท้ายน้ำ การทำให้เรือในแม่น้ำโขงสามารถแล่นเข้าเทียบท่าเรือ โดยเฉพาะที่กวนเหล่ย ซึ่งเป็นเมืองท่าหน้าด่านของจีนตอนใต้ และท่าเรือจิ่งหง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ได้ทันก่อนที่จะปิดทำการแต่ละวัน ก็จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวลุ่มน้ำโขงร่วมกันได้มาก
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ปัจจุบันเขื่อนจิ่งหง เมืองจิ่งหงหรือเชียงรุ้ง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีความสูง 118 เมตร มีกำลังผลิตไฟฟ้า 1,500 เมกะวัตต์ ถือเป็นเขื่อนที่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุด โดยมีระยะทางประมาณ 300-400 กิโลเมตรเท่านั้น และถัดจากเขื่อนจิ่งหงขึ้นไปยังมีเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงอีกหลายเขื่อน เช่น เขื่อนมันวาน เขื่อนต้าเฉาชาน เขื่อนเชี่ยววาน และเขื่อนที่อยู่เหนือสุดคือ เขื่อนกอนเกาเคียว