xs
xsm
sm
md
lg

จีนจ่อเจรจากลุ่มรักษ์เชียงของอีก เคลียร์ปมสร้าง “เขื่อนปากแบง สปป.ลาว”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แม่น้ำโขง บริเวณจุดก่อสร้างเขื่อนปากแบง แขวงอุดมไซ สปป.ลาว ที่อยู่ห่างจาก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ประมาณ 92 กม.
เชียงราย - ตัวแทนบริษัทเอกชนจีนนัดหารือ “กลุ่มรักษ์เชียงของ” เคลียร์ปมสร้างเขื่อนปากแบง สปป.ลาว 15 มกราคมนี้ หลังทำคนริมโขงผวาน้ำเพิ่มสูงกระทบถึงชายแดนเวียงแก่น

รายงานข่าวแจ้งว่า บริษัทต้าถัง โอเวอร์ซี อินเวสต์เม้นต์ จำกัด จาก สป.จีน ได้แจ้งนัดหมายขอเข้าพบปะกับกลุ่มรักษ์เชียงของ ซึ่งเป็นเครือข่ายภาคประชาชน อ.เชียงของ จ.เชียงราย ติดแม่น้ำโขงชายแดนไทย-สปป.ลาว ในวันที่ 15 ม.ค.นี้ ที่ “โฮงเฮียนแม่น้ำโขง ต.เวียง อ.เชียงของ” เพื่อหารือโครงการก่อสร้างเขื่อนปากแบงในแม่น้ำโขงพื้นที่เมืองปากแบง แขวงอุดมไซ สปป.ลาว ที่อยู่ห่างจาก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ประมาณ 92 กิโลเมตร

หลังเครือข่ายกลุ่มรักษ์เชียงของจัดกิจกรรม-คัดค้านโครงการมาตลอด รวมทั้งได้ยื่นต่อศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ไปเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการสร้างเขื่อนมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมมือด้วย และเอกชนจีนเคยขอเข้าเจรจากับกลุ่มรักษ์เชียงของมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปลายปี 60 ที่ผ่านมา แต่ทางกลุ่มได้ขอให้มีการพิจารณาใน 6 หัวข้อ ได้แก่

1. กรณีการอพยพของปลาผ่านเขื่อน หลังจากมีการฟ้องศาลปกครองเรื่องผลกระทบข้ามแดนจากเขื่อนไชยะบุรีและศาลปกครองสูงสุดรับฟ้องไว้นั้น เจ้าของโครงการได้ปรับแบบและออกแบบทางผ่านปลา และระบบระบายตะกอน แต่ยังไม่ทราบว่าจะแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ ดังนั้นกรณีของเขื่อนปากแบงจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร
2. ผลกระทบข้ามพรมแดนต่อระบบนิเวศในแม่น้ำโขง
3. ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากแบงต่อระดับน้ำแม่น้ำโขง ที่พรมแดนไทย-ลาว บริเวณ อ.เชียงแสน อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ซึ่งในปัจจุบันก็ได้รับผลกระทบจากเขื่อนจิ่งหงในประเทศจีนอยู่แล้ว
4. ผลกระทบต่อการเดินเรือท่องเที่ยวตั้งแต่ อ.เชียงของ ตรงข้ามเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว-แขวงหลวงพระบาง โดยเฉพาะในช่วงการก่อสร้างที่จะมีการปิดกั้นลำน้ำโขง
5. การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนนั้น ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจะมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอย่างไร
และ 6. บริษัทฯ จะมีแผนแก้ไขปัญหาเรื่องมาตรการบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดนอย่างไร

ทั้งนี้ โครงการสร้างเขื่อนปากแบงเพื่อจะผลิตไฟฟ้าอย่างน้อย 912 เมกะวัตต์ มีแผนจะส่งกระแสไฟฟ้ากลับมาขายให้ประเทศไทยและทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำในแม่น้ำโขงกว้างกว่า 87 ตารางกิโลเมตร ถือเป็นเขื่อนในแมน้ำโขงแห่งที่ 3 ใน สปป.ลาว ถัดจากเขื่อนไชยะบุรี แขวงไชยะบุรี และเขื่อนดอนสะโฮง แขวงจำปาสัก

ในปี 2560 ที่ผ่านมามีการศึกษาเพื่อก่อสร้างโครงการเป็นเวลากว่า 6 เดือน แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2560 และส่งรายงานโครงการให้กับคณะกรรมการแม่น้ำโขงหรือเอ็มอาร์ซี ซึ่งมีกรรมการจากหลายประเทศลุ่มแม่น้ำโขงได้รับทราบแล้ว รวมทั้งมีการจัดเวทีชี้แจงในประเทศไทยแล้ว 4 ครั้งที่ อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น แต่เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์เชียงของ และชาวบ้านกังวลว่า เขื่อนปากแบงจะทำให้ระดับน้ำโขงสูงจากเดิม 2-3 เมตร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ริมฝั่งด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น