xs
xsm
sm
md
lg

คนริมโขงผวาเขื่อนปากแบงทำน้ำท่วมชุมชนซ้ำเติมปัญหาเขื่อนจีน-บึ้มแก่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงราย - เครือข่ายปกป้องน้ำโขง ตั้งวงถกผลกระทบจากเขื่อน-การระเบิดเกาะแก่งกลางน้ำ ผวา “เขื่อนปางแบง สปป.ลาว” ทำน้ำโขงเพิ่ม ทะลักท่วมชุมชนริมน้ำชายแดนเชียงราย ซ้ำเติมปัญหาเขื่อนจีน-บึ้มแก่ง

วันนี้ (15 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครื่อข่ายเพื่อปกป้องแม่น้ำโขงจากประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งได้จัดกิจกรรม “14 มีนาคม วันหยุดเขื่อนโลก” ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย พร้อมด้วยชาวบ้าน ต.ม่วงยาย ได้พากันเข้าสำรวจพื้นที่และวิเคราะห์ผลกระทบเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างเขื่อน และระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง ที่บ้านห้วยลึก ม.4 ต.ม่วงย่าย อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เนื่องจากบริเวณบ้านห้วยลึก เป็นที่ตั้งของแก่งผาได ซึ่งมีสภาพเป็นเกาะแก่งสวยงามกลางแม่น้ำโขง และเป็นจุดสุดท้ายของชายแดนไทยทางแม่น้ำโขงทางภาคเหนือ ก่อนที่แม่น้ำจะไหลเข้าสู่ สปป.ลาว

นายทองสุข อินทวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านห้วยลึก เปิดเผยว่า หมู่บ้านห้วยลึก มีประชากร 650 คน 156 ครัวเรือน ทั้งหมดมีอาชีพหลักคือเกษตรกรรม และทำประมงพื้นบ้านซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาระดับน้ำในแม่น้ำโขงขึ้นลงไม่เป็นปกติในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเป็นต้นมา จนทำการเกษตรริมฝั่งไม่ได้ และพันธุ์ปลาท้องถิ่นก็หาได้ยากขึ้น

“ปัญหาทั้งหมดเชื่อว่ามาจากการสร้างเขื่อน และการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงทางตอนบนของแม่น้ำโขง ซึ่งส่งผลทำให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก หลายคนต้องเปลี่ยนอาชีพ หรือไปทำงานนอกพื้นที่ ทำให้ชาวประมงทีเคยมีกว่าร้อยละ 60 ของประชากรในหมู่บ้าน ลดเหลือเพียงไม่ถึงร้อยละ 5 เท่านั้น”

นายทองสุขกล่าวอีกว่า เดี๋ยวนี้ชาวบ้านยังกังวลเรื่องเขื่อนปากแบง แขวงอุดมไซในประเทศลาว ที่กำลังมีการก่อสร้างกั้นแม่น้ำโขงในลาว ห่างจากหมู่บ้านไปทางท้ายน้ำเพียงประมาณ 97 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งก็ยังไม่ทราบว่าหลังจากเขื่อนสร้างเสร็จแล้วจะมีผลกระทบมากน้อยอย่างไร เพราะที่ผ่านมาก็มีผลกระทบอยู่แล้ว แต่เมื่อมีเขื่อนอยู่ใกล้มากขึ้นอาจจะเกิดสิ่งที่เราคาดไม่ถึง เช่น น้ำท่วม การประมงกระทบมากขึ้นหรือไม่ ฯลฯ

“แต่เท่าที่ติดตามข้อมูลทราบว่าเขือนตั้งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 335 เมตร อาจจะทำให้น้ำท่วมหมู่บ้านเราที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 315 เมตรเท่านั้น ที่น่ากังวลใจอีกก็คือ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดไปทำความเข้าใจหรือจะมีมาตรการใดๆ กับชาวบ้านเลย” นายทองสุขกล่าว

สำหรับสำหรับเขื่อนปากแบง ตั้งอยู่ระหว่างแขวงอุดมไซ-แขวงไซยะบุรี ปัจจุบันได้มีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงเพื่อเชื่อมถนนระหว่าง 2 แขวง และได้เริ่มมีการสำรวจ และปรับพื้นที่เพื่อเริ่มก่อสร้างเขื่อนแล้ว โดยมีบริษัทต้าถัง จำกัด จากประเทศจีน และเอกชนไทยที่เข้าไปร่วมทุนทำการก่อสร้าง และมีรายงานว่า จะเป็นเขื่อนที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้กว่า 912 เมกะวัตต์ และทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำในแม่น้ำโขงกว้างกว่า 87 ตารางกิโลเมตร




จุดก่อสร้างเขื่อนปางแบง สปป.ลาว

กำลังโหลดความคิดเห็น