ฉายามือปราบเสือเหลือง และรางวัล “ปลัดอำเภอแหวนทองคำ” จากกรมการปกครอง ของ น.ส.นริศรา ทิพยางกูร หรือ ป.บิว ปลัดอำเภอหญิงวัย 32 ปี แห่ง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี น่าจะเป็นเครื่องการันตีผลงานด้านการปราบปราม และการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะการกวาดล้างยาเสพติดอย่างจริงจังแบบไม่หวั่นเกรงต่ออันตรายของปลัดหญิงแกร่งคนนี้ได้เป็นอย่างดี
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะความมุ่งมั่นตั้งแต่วัยเยาว์ที่จะทำงานสายปกครองตามรอยผู้เป็นบิดา ที่ทำงานบริการประชาชนตั้งแต่ยังเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้าน และกำนัน ในเขต อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี จนเป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่
ภาพการทำงานต่างๆ ทำให้ปลัดอำเภอหญิงแกร่งอนาคตไกลผู้นี้ซึมซับงานบริการประชาชน จนตัดสินใจเลือกเรียนในคณะสังคมสงเคราะห์ ม.ธรรมศาสตร์ และคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง หลังจบการศึกษาระดับมัธยม จากโรงเรียนชลกันยานุกูล จ.ชลบุรี และเลือกศึกษาต่อระดับปริญญาโท ที่คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ก่อนสอบเข้าเป็นปลัดอำเภอ ในปี 2552
โดยระหว่างเรียนปริญญาโท ปลัดอำเภอหญิงแกร่งผู้นี้เคยทำงานที่กรมคุมประพฤติ สำนักงานคุมประพฤติอาญาธนบุรี ก่อนสอบเข้าเป็นปลัดอำเภอ ในปี 2552 และได้รับการบรรจุที่ อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี จากนั้นได้ย้ายมาอยู่ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เมื่อประมาณปี 2554
“ตอนมาอยู่ที่ศรีราชาใหม่ๆ มีปฏิบัติการปิดเมืองตรวจหาผู้เสพ และผู้ค้ายาเสพติดอยู่เนืองๆ ซึ่งฝ่ายปกครองได้ผนึกกำลังกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ อส. ตั้งด่านตรวจตั้งแต่บางพระ หนองขาม แหลมฉบัง และบ่อวิน คู่กับด่านตรวจของตำรวจในเส้นทางที่เรียกว่าทางเสือผ่าน รวมทั้งปฏิบัติการเคาะประตูบ้าน
“เมื่อ 5-6 ปีก่อน เราจับผู้เสพยาบ้าคืนเดียวได้มากถึง 210 คน แต่ตอนนี้เต็มที่ก็แค่ประมาณ 70-80 คนต่อวัน ซึ่งการที่จำนวนผู้เสพยาบ้าถูกจับน้อยลงไม่ใช่จำนวนผู้เสพลดลง แต่เป็นเพราะกลุ่มวัยรุ่นได้ปรับเปลี่ยนวิธีการเสพยาเสพติดเพื่อหนีการตรวจของเจ้าหน้าที่ ด้วยการย้อนกลับไปหากัญชา และยาเค”
ถือเป็นความยากลำบากของเจ้าหน้าที่ และสถานประกอบการที่แม้จะพยายามตรวจหาผู้เสพและผู้ค้าเพื่อป้องกันไม่ให้นำยาเสพติดเข้าไปในสถานบริการ แต่ผู้เสพ และผู้ค้าก็ยังนำยาเสพติดรูปแบบใหม่ที่ยากต่อการตรวจค้นเข้าไปจนได้ และที่น่าเป็นห่วง คือ รูปแบบการเสพยาเค ของวัยรุ่นยุคใหม่ คือ การใช้วิธีสูดดม โดยบางสถานบริการที่ถูกจับกุม และตรวจค้น พบว่า เยาวชนที่เข้าไปใช้บริการมีการพกหลอดยาดมที่ภายในมีสารเคตามีนเข้าไปแทบทุกคน
ส่วนฉายา “มือปราบเสือเหลือง” ที่ได้มาจากผลการปฏิบัติงานกวาดล้างยาเสพติดในกลุ่มผู้เสพที่อาศัยผ้าเหลืองอำพรางตน ว่ากันว่า ป.บิว สามารถจับสึกผู้ที่อาศัยผ้าเหลือง และวัดใน อ.ศรีราชา เป็นที่พักพิงของคนลอบเสพและค้ายาเสพติดได้เกือบ 100 ราย ในช่วงระยะเวลา 5-6 ปีที่เข้ามาทำงานในพื้นที่
รวมทั้งภาพการทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ชายอกสามศอกในการออกกวาดล้าง และจับกุมทั้งผู้เสพ และผู้ค้ายาเสพติด รวมถึงกวาดล้างปัญหาอาชญากรรมทั้งกลางวัน และกลางคืน ได้สร้างความสงสัยให้แก่ทั้งผู้ใต้บังคับบัญชา ประชาชน และผู้ที่ได้พบเห็นว่าทำได้อย่างไร ทั้งๆ ที่การเป็นข้าราชการหญิงสามารถเลือกทำงานในสำนักงานได้มากกว่าการลงเสี่ยงหน้างานที่ไม่รู้ว่าจะต้องพบเจออะไรบ้าง
“คำถามเรื่องความกลัวได้ยิน และได้ฟังมาเยอะมาก แต่เพราะหน้าที่และความรับผิดชอบในฐานะปลัดอำเภอสายงานป้องกัน ทำให้ต้องตัดทิ้ง เพราะไม่เช่นนั้นจะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนไม่ได้ ที่สำคัญสายงานป้องกัน ฝ่ายความมั่นคงอำเภอ คือ การดูแลความมั่นคงทุกประเภท รักษาความสงบเรียบร้อยทุกอย่าง ทั้งงานการข่าวก็ต้องทำ การกระทำผิดกฎหมายทุกประเภทก็ต้องดูแล ฉะนั้น ในบทบาทของงานจึงไม่สามารถนั่งอยู่ในออฟฟิศอย่างเดียวได้ ซึ่งงานที่อันตรายที่สุด คือ งานเกี่ยวกับยาเสพติดที่ต้องมีทั้งการปะทะ และการใช้อาวุธ เพราะอัตราโทษของยาเสพติดค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะในแง่ของการจำหน่าย ฉะนั้นเราจึงต้องระวังให้มาก เพราะยิ่งผู้ค้ามีของอยู่ในตัวมากเท่าไร เขาก็ยิ่งไม่ยอมให้จับง่ายๆ”
และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการทำงาน ปลัดอำเภอหญิงผู้นี้ได้ผ่านการอบรมในหลักสูตรการยิงปืนต่างๆ รวมทั้งในระดับปลัดอำเภอ และการเรียนรู้เพิ่มเติมทั้งหลักสูตรผู้บังคับหมวดอาสารักษาดินแดน และโครงการราชสีห์พิทักษ์ราษฏร์ ที่ จ.ชลบุรี จัดขึ้นเพื่อฝึกให้พลเรือน หรือเจ้าหน้าที่มีความรู้ ความสามารถในการใช้อาวุธในการปิดล้อม การตรวจค้นและการตั้งด่าน เพื่อสร้างความเข้าถึงวิธีการเข้าจับกุม และการบุกเข้าตรวจค้นที่ต้องไม่ทำแบบผลีผลาม แต่ต้องมีบัดดี้ในการทำงานเพื่อช่วยเหลือกันและกัน
ป.บิว บอกอีกว่า ความเป็นผู้หญิง และอายุที่น้อยเกินไปกับการทำงานสายป้องกัน ทำให้เมื่อครั้งย้ายมาทำงานที่ อ.ศรีราชา ใหม่ๆ ทำให้ครั้งหนึ่งเคยถูก อส.บอกว่าเธอว่าเธอเป็นแค่เด็กที่ปากยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม ซึ่งในครั้งแรกที่ได้ยินรู้สึกผิดหวังต่อคำพูดของผู้ใต้บังคับบัญชา แต่สุดท้ายก็สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่า แม้จะเป็นผู้หญิง แต่ก็ทำทุกอย่างแบบที่ผู้ชายทำ และไม่เคยทำงานแบบที่นั่งสั่งการอยู่บนหอคอยงาช้าง แต่ยังสามารถออกวิ่ง และไล่จับคนร้ายได้เหมือนผู้ชายอกสามศอก จนเป็นที่ยอมรับในผลของงาน
เช่นเดียวกับการได้รับความร่วมมืออย่างดีในด้านต่างๆ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม และการส่งเสริมภาพลักษณ์ของอำเภอ