xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ ป.5 เก็บหน่วยกิตเทียบเท่ารุ่นพี่ปี 2! “พรีดีกรี” ทางลัดสู่ปริญญาตรี

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


เมื่อวันก่อน มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) เผยแพร่บัตรผู้เรียนโครงการสัมฤทธิบัตร ระบุชื่อ ด.ญ.สุพนิดา อภัยวงศ์ นักเรียนชั้น ป.5 สอบผ่านวิชา กฎหมายมหาชน และ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการบริหาร

อ่านไม่ผิดหรอก ... ไม่ใช่ ม.5 แต่เป็น ป.5 จริงๆ อายุอานามก็น่าจะ 10-11 ปีเท่านั้น

เห็นชื่อวิชา กับวัยของเด็กที่สอบได้ บอกตามตรงว่า “ช็อก ...”

ช็อกตรงที่อายุเท่านี้ สอบผ่านวิชาที่ผู้ใหญ่เห็นแล้วต้องขยาด

และที่น่าอึ้งยิ่งขึ้นก็คือ น้องสามารถเก็บได้ 6 ชุดวิชา ซึ่งตามหลักเกณฑ์ให้เทียบเป็น “นักศึกษาชั้นปีที่ 2”



อายุ 10-11 ปี เทียบเท่านักศึกษาชั้นปีที่ 2 ที่มีอายุอานาม 19-20 ปี ถือว่าห่างวัยกันเยอะมาก

เชื่อว่าคงมีคนส่วนมากรู้สึกทึ่งกับความสามารถของน้อง พร้อมกับนึกอายตัวเองว่า ตอน ม.5 กำลังทำอะไรกันอยู่ แต่เนื่องจากตัวเองไม่ใช่คนเกเรอะไร จำได้อยู่อย่างเดียวว่า ตอนนั้นบ้าคอมพิวเตอร์ ฟังแต่แฟต เรดิโอ (ฮา)

อาจมีคนคนสงสัยว่า อายุแค่นี้เรียนระดับปริญญาตรีได้ด้วยเหรอ?

ขอตอบว่า ไม่ใช่เรียนระดับปริญญาตรี แต่เป็นการเรียนวิชาในหลักสูตรปริญญาตรี เรียกว่า “พรีดีกรี” ซึ่งเปิดสอนที่มหาวิทยาลัยเปิดอย่าง มสธ. และมหาวิทยาลัยตลาดวิชา เฉกเช่น มหาวิทยาลัยรามคำแหง

พรีดีกรี (Pre-Degree) เป็นการเรียนแบบรายกระบวนวิชา เพื่อสะสมหน่วยกิตล่วงหน้า ก่อนจะมาเรียนในระดับปริญญาตรี โดยการเทียบโอนหน่วยกิตในวิชาที่สอบผ่านตามหลักสูตรที่กำหนด ทำให้นักศึกษาจบปริญญาตรีได้ไวขึ้น

ม.รามคำแหง จะเรียกว่า “นักศึกษาระบบพรีดีกรี” โดยการสมัครเรียนแบบไม่สังกัดคณะ แต่ให้เรียนตามหลักสูตรปริญญาตรีของแต่ละคณะ แล้วจะได้รหัสนักศึกษา 10 หลัก ขึ้นต้นด้วย XX90XXXXXX

เช่น ปีการศึกษา 2560 ใช้รหัส 6090XXXXXX

โดยจะเปิดรับสมัครนักศึกษาระบบพรีดีกรี ไปพร้อมกับรับสมัครนักศึกษาปริญญาตรี (เปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ ส่วนกลาง วันที่ 28 มิถุนายน ถึง 2 กรกฎาคม 2560 หากพ้นจากนี้ ประมาณเดือนพฤศจิกายนจะเปิดรับสมัครอีกรอบ)

ส่วน มสธ. เรียกว่า “โครงการสัมฤทธิบัตร” จะเปิดรับสมัครกันเป็นรุ่น (ปัจจุบันมาถึงรุ่นที่ 99 รหัสรุ่น 594 รับสมัครวันที่ 30 มิถุนายน 2560 สอบระหว่างวันที่ 4-5 พฤศจิกายน 2560)

ความแตกต่างของระบบพรีดีกรี ระหว่าง ม.รามคำแหง กับ มสธ. มีอยู่หลายส่วนด้วยกัน

ถ้าเป็น ม.รามคำแหง จะรับสมัครเฉพาะผู้ที่มีวุฒิการศึกษามัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3) สมัครไปแล้วถือเป็นนักศึกษาระบบพรีดีกรี มีบัตรประจำตัวนักศึกษา ลงทะเบียนและสอบเหมือนนักศึกษาระดับปริญญาตรีทุกประการ

โดยผลสอบจะถูกบันทึกไว้กับมหาวิทยาลัย เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า ก็ลาออกจากนักศึกษาระบบพรีดีกรี แล้วขอใบรับรองผลการเรียน (Transcript) แบบไม่จบการศึกษา ไปใช้เทียบโอน หน่วยกิตละ 50 บาท

กลุ่มเป้าหมายของ ม.รามคำแหง จึงเน้นนักเรียนที่กำลังเรียนในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายมากกว่า

ส่วนโครงการสัมฤทธิบัตรจะไม่จำกัดอายุและวุฒิการศึกษา สมัครเรียนด้วยการซื้อชุดวิชาของ มสธ. สูงสุดไม่เกิน 3 ชุดวิชาต่อรุ่น โดยจะมีบัตรประจำตัวผู้เรียนตามรุ่น เมื่อสอบผ่านจะได้รับใบสัมฤทธิบัตรรับรองความรู้ในชุดวิชานั้น ๆ

เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า สมัครเป็นนักศึกษาปริญญาตรีของ มสธ. สามารถนำใบสัมฤทธิบัตรมาขอโอนเข้าในหลักสูตรปริญญาตรีได้ รายวิชาละ 200 บาท แต่ต้องเป็นชุดวิชาตามโครงสร้างหลักสูตรปัจจุบัน

เมื่อโครงการสัมฤทธิบัตรไม่จำกัดอายุและวุฒิการศึกษา จึงเปิดกว้างสำหรับผู้เรียน ทั้งที่ต้องการนำไปใช้เทียบโอนปริญญาตรี หรือเรียนเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทักษะ พัฒนาคุณภาพชีวิต เพราะบางวิชาเป็นหลักสูตรเก่า ไม่สามารถโอนได้

ที่ต่างกันอีกอย่างหนึ่งก็คือ โครงการสัมฤทธิบัตร หากใช้สิทธิเทียบโอนหน่วยกิตระดับปริญญาตรี จะไม่มีสิทธิได้รับปริญญาเกียรตินิยม

แตกต่างจากนักศึกษาระบบพรีดีกรี ม.รามคำแหง หากสมัครเรียนต่อเนื่อง เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้ว และเรียนจบการศึกษาภายใน 4 ปีการศึกษา นับตั้งแต่เป็นนักศึกษาพรีดีกรี

หากเกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.25 มีสิทธิ์ได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยม ตามเงื่อนไขที่มหาวิทยาลัยกำหนด เช่น ไม่ลงทะเบียนเรียนซ้ำวิชาเดิมที่ได้เกรดแล้ว (รีเกรด) จะทำให้หมดสิทธิ์การรับเกียรตินิยม

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายจะพบว่า นักศึกษาระบบพรีดีกรี ม.รามคำแหง จะเสียค่าใช้จ่ายแรกเข้าในวันรับสมัครนักศึกษาเริ่มต้นที่ 2,150 บาท (นับจากวิชาที่มี 3 หน่วยกิต) สูงสุด 22 หน่วยกิต 3,100 บาท

ไม่นับรวมค่าตำราเรียน ที่ต้องซื้อต่างหากจากอาคารสำนักพิมพ์ หรือเอกสารประกอบการเรียนที่คณะของแต่ละวิชา แต่โดยส่วนมากรู้กันดีว่ามักจะพึ่งเอกสาร ชีทแนวข้อสอบ แต่ระยะหลังอาจารย์ผู้สอนจะออกข้อสอบเข้มงวดมากขึ้น

ภาคเรียนต่อไป จะต้องเสียค่าหน่วยกิต หน่วยกิตละ 50 บาท (แตกต่างจากปริญญาตรี หน่วยกิตละ 25 บาท) ค่าบำรุงมหาวิทยาลัย 500 บาท (ภาคฤดูร้อน 300 บาท) และค่าสมาชิกข่าวรามคำแหง 100 บาท

ส่วนโครงการสัมฤทธิบัตร เนื่องจากสมัครแบบรุ่นต่อรุ่น ค่าใช้จ่ายจะคิดเฉพาะชุดวิชา เริ่มต้นที่ 1,100 บาท ลงครบ 3 ชุดวิชาจะตกอยู่ที่ 3,300 บาทขึ้นไป โดยจะมีเอกสารประกอบการเรียนของรายวิชานั้นๆ ส่งถึงบ้านทางไปรษณีย์

หากสมัครรุ่นใดรุ่นหนึ่งไปแล้ว สามารถสมัครรุ่นต่อไปรอไว้เลยก็ได้

เช่น สมมติสมัครรุ่น 99 ไปแล้ว สามารถสมัครรุ่นที่ 100 สอบในวันที่ 27-28 มกราคม 2561 หรือรุ่นที่ 101 สอบในวันที่ 5-6 พฤษภาคม 2561 ก็ได้

บอกตามตรงว่า แม้จะจบปริญญาตรีรามคำแหงมา 2 ใบ แต่เห็นชื่อชุดวิชาบางวิชาของ มสธ. แล้วยังรู้สึกอยากเรียนเลย เปรียบได้กับเวลาตักอาหารบุฟเฟ่ต์แล้วเจอของชอบก็ไม่ปาน

แม้ระบบการเรียน กรณีที่ไม่มีเวลาเข้าเรียนจะคล้ายคลึงกัน คือ มีวีดีโอบรรยายย้อนหลังให้ชม หรืออ่านตำราอยู่กับบ้านก็ได้ แต่รูปแบบการสอบจะแตกต่างกัน

หากเป็น ม.รามคำแหง นักศึกษาระบบพรีดีกรี จะต้องสอบพร้อมกับนักศึกษาชั้นปริญญาตรี ซึ่งกำหนดวันสอบอาจจะเป็นวันธรรมดา

นักเรียนอาจต้องลาหยุดเพื่อไปสอบตามที่กำหนด คาบเช้าเวลา 09.30 น. คาบบ่ายเวลา 14.00 น.

บางวิชาที่เป็นปรนัย มีการจัดสอบ E-Testing วิชาละ 200 บาท (นักศึกษารหัส 59 ลงมา ยังคงคิดวิชาละ 70 บาท) สามารถเลือกวัน เวลาไปสอบได้ และมีวันเสาร์-อาทิตย์

ทราบผลทันทีเมื่อสอบเสร็จ หากสอบไม่ผ่านก็กลับมาสอบตามปกติได้

ส่วนโครงการสัมฤทธิบัตร มสธ. ส่วนมากจะจัดสอบในวันเสาร์-อาทิตย์ แต่ถ้าวันสอบเกิดติดธุระ ก็มีการจัดสอบตามความพร้อมของนักศึกษารายบุคคลด้วยคอมพิวเตอร์ (หรือ Walk-in Exam) ค่าธรรมเนียมชุดวิชาละ 300 บาท

ผู้เรียนสัมฤทธิบัตร ต้องดูด้วยว่า การเปิดรับสมัคร Walk-in Exam ต้องตรงกับรุ่นที่กำหนด ตามชุดวิชาที่เราลงไว้ โดยจะทราบผลสอบทันทีเมื่อทำข้อสอบเสร็จ

หากผ่านไม่ต้องเข้าสอบอีก แต่ถ้าไม่ผ่านสามารถเข้าสอบตามกำหนดได้อีก

ร่ายยาวมาพอสมควรแล้ว อาจมีคำถามที่ว่า ถ้าผู้ปกครองอยากให้บุตรหลาน หรือตัวนักเรียนเองอยากจะเรียนพรีดีกรีหรือสัมฤทธิบัตรจะดีไหม?

ถ้าตอบแบบพื้นฐานก็คือ ต้องถามผู้ที่จะเรียนว่า “สนใจอยากจะเรียนจริงจังหรือเปล่า?”

การบังคับให้ลูกเรียน ไม่ว่าอะไรก็ตาม หากฝืนความรู้สึกของลูกนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ดีและไม่สนับสนุน

แต่ถ้าเกิดความสนใจ อยากจะเรียนขึ้นมา ต้องถามต่อไปว่า มีเวลาให้กับการเรียนเช่นนี้หรือเปล่า

และที่ผ่านมาเอาตัวรอดจากการเรียนตามปกติในปัจจุบัน ไม่ต้องเก่งหรอก เอาแค่สอบผ่าน ไม่ขาดตกบกพร่องได้หรือไม่?

เพราะเมื่อจบ ม.6 สมัครเรียนปริญญาตรี เทียบโอนหน่วยกิตก็ไม่ได้เกียรตินิยมอยู่แล้ว ช่วงเวลาที่เหลือจึงมีเป้าหมายว่า ทำอย่างไรถึงจะได้จบปริญญาตรี เพื่อนำคุณวุฒิไปต่อยอดทั้งการศึกษาต่อและหน้าที่การงานโดยเร็ว

ขอปิดท้ายด้วยข้อคิดของ คุณอนุจรา ขวัญดี แม่ของ ด.ญ.สุพนิดา ให้คำแนะนำว่า “เด็กแต่ละคนมีความพร้อม มีความสามารถที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่ต้องดูเป็นลำดับแรก คือ ผู้ปกครองพร้อมหรือไม่ที่จะช่วยเรียนรู้ไปพร้อมกัน

สำหรับเด็กระดับมัธยมศึกษา ถ้าจะเรียนก็ต้องมองว่าเขาเป็นเด็กที่รักการอ่านหรือไม่ การเรียนในชั้นเรียนที่เรียนหนักอยู่แล้วหรือเปล่า ผู้ปกครองมีวิธีการที่จะกระตุ้นให้เขาอยากเรียนหรือเปล่า

เมื่อเรียนแล้วจะสอบผ่านหรือไม่ผ่าน ถ้ามีการอ่านแล้วจำ ก็จะได้ความรู้จากการอ่าน และจำมาใช้ประโยชน์แน่นอน การเรียนสัมฤทธิบัตรมีเนื้อหาสัมพันธ์กับเนื้อหาในชั้นเรียน สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงในทุกระดับชั้น”


ก็คงเป็นข้อมูลสำหรับน้องๆ นักเรียน หรือพ่อแม่ผู้ปกครองที่สนใจ อย่าไปคิดเปรียบเทียบว่าการเรียนการสอนที่ไหนดีกว่า ให้คิดว่าเป็นพื้นที่ที่ให้นักเรียนได้ทำในสิ่งที่อยากทำ เรียนในสิ่งที่เราชอบ ฝันถึงอนาคตที่เราต้องการ

ปลายทางก็คือ จบปริญญาตรี เป็นบัณฑิตออกมาอย่างภาคภูมิใจ มีคุณภาพและคุณธรรม!


กำลังโหลดความคิดเห็น