xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ เชียงราย มอบเงินอุดหนุนเกษตรกรเครือข่ายกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร แนะเกษตรอย่าขายที่ดิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงราย - ผู้ว่าฯ เชียงราย เป็นประธานในพิธีมอบเงินอุดหนุนแก่เกษตรกรเครือข่ายของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขาเชียงราย เพื่อยกระดับความเข้มแข็งขององค์กรเกษตรกรไปสู่ระดับที่สูงขึ้น พร้อมแนะเกษตรกรอย่าได้ขายที่ดินให้นายทุน เพราะปัจจุบันมีที่ดินเหลืออยู่ในมือเกษตรกรน้อยมาก เมื่อขายไปแล้วเกษตรกรก็ได้กลายเป็นคนรับจ้างทำนาและทำให้ทางกองทุนฟื้นฟูต้องเข้ามาช่วยเหลือไม่สิ้นสุด

วันนี้ (29 ก.ค.) ที่ห้องประชุมสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดเชียงราย ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย นายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีมอบเงินอุดหนุนแก่เกษตรกรเครือข่ายของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขา จ.เชียงราย โดยมีตัวแทนจากเกษตรกรเข้ามอบเงินอุดหนุนจำนวน 26 องค์กร รวมเป็นเงินจำนวน 780,000 บาท รวมทั้งมีเกษตรกรที่ได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนจนสามารถดำเนินการตามกระบวนการเจรจากับเจ้าหนี้และได้สิทธิรับคืนโฉนดที่ดินอีกจำนวน 1 ราย เนื้อที่ 20 ไร่ 2 งาน 60 ตารางวา โดยมีนายนิยม สุวรรณประภา หัวหน้าสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขา จ.เชียงราย นำผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้ารับมอบ

นายนิยมกล่าวว่า การสนับสนุนและช่วยเหลือเกษตรกรดังกล่าวเป็นไปตามโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อยกระดับความเข้มแข็งขององค์กรเกษตรกรไปสู่ระดับที่สูงขึ้นซึ่งในครั้งนี้โครงการที่ได้รับการสนับสนุนหลายโครงการ เช่น โครงการเลี้ยงหมู โครงการปลูกกล้วยและปลูกสัปปะรด โครงการเลี้ยงไก่สามสายพันธุ์ โครงการเลี้ยงกระบือ และโครงการเกษตรผสมผสาน เป็นต้น ทั้งนี้ ในปัจจุบันกองทุนได้ดำเนินการชำระหนี้แทนเกษตรกรไปแล้วจำนวน 299 ราย มูลหนี้รวม 72,769,346.77 บาท สามารถรักษาที่ดินทำกินของเกษตรกรไว้จำนวน 1,156 ไร่ 2 งาน 60 ตารางวา และมีเกษตรกรได้ชำระหนี้ปิดบัญชีและไถ่ถอนหลักประกันโฉนดที่ดินคืนไปแล้ว 6 ราย

นายบุญส่งกล่าวว่า จังหวัดเชียงรายมีทิศทางในการพัฒนาการเกษตรอยู่หลายข้อหลักๆ ได้แก่ 1. ขอให้เกษตรกรอย่าได้ขายที่ดิน โดยให้เก็บเอาไว้เป็นสมบัติของลูกหลานสืบไป เพราะปัจจุบันพบว่ามีที่ดินที่เหลืออยู่ในมือเกษตรกรน้อยมาก เมื่อขายไปแล้วเกษตรกรก็ได้กลายเป็นคนรับจ้างทำนาไปเสียและทำให้ทางกองทุนฟื้นฟูต้องเข้ามาช่วยเหลือไม่สิ้นสุด

2. ลดต้นทุนด้วยการลดการใช้สารเคมี เพราะปัจจุบันสินค้าเกษตรไทยมีราคาแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้านมากเพราะใช้ต้นทุนสูงทั้งสารเคมี การจ้างคนงาน ฯลฯ โดยเราเป็นประเทศที่มีพื้นที่ทางการเกษตรมากเป็นอันดับที่ 18 ของโลกแต่กลับเป็นชาติที่ใช้สารเคมีมากเป็นอันดับ 4 ของโลก ซึ่งสารเคมีเหล่านี้ก็จะตกอยู่ในดิน น้ำและสุขภาพร่างกายของคนไทยทำให้คนไทยสุขภาพไม่ดีและเงินทองที่หาได้ต้องถูกใช้ไปกับการดูแลรักษาโรคอันเกิดจากสารเคมีนั้นไปเสีย

3. ปลูกพืชที่ตลาดต้องการโดยเฉพาะข้าวไทยซึ่งมีคุณภาพดีโดยหากเป็นข้าวเหนียวต้องพันธุ์ กข 6 และข้าวจ้าวคือพันธุ์หอมมะลิ 105 ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลกและที่ผ่านมาเมื่อไปสำรวจตลาดในประเทศจีนพบมีการแอบอ้างชื่อข้าวไทยในตลาดจีนกันมากแต่เมื่อเข้าไปดูกลับไม่ใช่ ดังนั้นชาวนาไทยต้องปลูกข้าวเหล่านี้ให้มีคุณภาพโดยอาศัยดิน น้ำ สายพันธุ์ที่ดีของเราไม่ใช่โหมปลูกคราวละมากๆ อย่างเดียว

4. ยึดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวงได้พระราชทาน ปัจจุบันมีผู้นำไปพัฒนาเป็นโครงการ 1 ไร่ 1 แสนบาท ซึ่งเกษตรกรสามารถติดต่อไปยังทางจังหวัดได้ซึ่งสามารถให้องค์ความรู้นำไปทดลองเองได้ โดยมีการปลูกพืชที่หลากหลายทำให้มีรายได้ตลอดทั้งปีโดยไม่ต้องหวังพึ่งพืชชนิดเดียว

“การลดสารเคมีนั้นสามารถทำได้หลากหลายวิธี ไม่ใช่ว่าเราไม่ใช้แล้วจะอยู่ไม่ได้ซึ่งจังหวัดพร้อมสนับสนุนด้านองค์ความรู้นี้ และอยากให้เกษตรกรปลูกพืชผลหลากหลายไม่ใช่ว่าปลูกข้าวตั้งแต่เดือน พ.ค.จนถึงปลายปีแล้วก็ปล่อยที่ดินว่างเปล่าทำให้เสียเวลาจึงเห็นว่าเราต้องปรับเปลี่ยนความคิดกันใหม่ เพราะปัจจุบันพบว่าจะต้องเข้าสู่กระบวนการของกองทุนฟื้นฟูนี้แล้วยังพบเกษตรกรเป็นหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพิ่มขึ้นทุกปี หากไม่ปรับเปลี่ยนก็จะต้องวนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูของกองทุนฟื้นฟูอย่างนี้อย่างไม่จบสิ้นอีก” นายบุญส่งกล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น